สุรพล สุทธจินดา ชี้วิกฤตขาดแคลนน้ำEECอีก 2 เดือนหนักแน่ 3 พัน รง.ระยองเร่งหาน้ำสำรอง-โรงไฟฟ้าปรับแผนซ่อมบำรุง

สัมภาษณ์

“ระยอง” หนึ่งในจังหวัดที่หวั่นจะเกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำอย่างหนัก เนื่องจาก 3 อ่างเก็บน้ำหลัก (หนองปลาไหล-ประแสร์-ดอกกราย) ปริมาณน้ำเหลือน้อยเต็มที่

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “สุรพล สุทธจินดา” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ถึงปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดกำลังเผชิญอยู่ทั้งวิกฤตขาดแคลนน้ำที่จะเกิดขึ้น และความเคลื่อนไหวการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขณะเดียวกันถือเป็นโอกาสครบวาระการทำงาน 4 ปี ในตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมและจะมีการเลือกตั้งประธานคนใหม่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จึงถือโอกาสส่งไม้ต่อถึงประธานคนใหม่มาช่วยสานต่อให้สำเร็จ

Q : ความกังวลใจเรื่องน้ำขาดแคลน

ตอนนี้ปริมาณน้ำใช้การได้ใน 3 อ่างเก็บน้ำหลักเหลือน้อยเต็มที โดยคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระยองได้มีโอกาสหารือกับชลประทานที่ 9 ซึ่งรับผิดชอบจังหวัดระยอง เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เสนอแนะกรมชลประทานควรรายงานเรื่องน้ำให้ภาคอุตสาหกรรมทราบทุกวัน เพราะปัจจุบันไม่มีน้ำมาเติมแล้ว แม้ช่วงที่ผ่านมาได้เคยพยายามทำฝนเทียม แต่เนื่องจากในพื้นที่ไม่มีความชื้นทำให้ฝนไม่ตกลงในอ่าง ส่วนการที่กรมชลประทานแจ้งว่า จะสามารถดึงน้ำจากลุ่มน้ำวังโตนด จังหวัดจันทบุรี มาได้อีกส่วนหนึ่ง แต่เราคิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้

ภาคอุตสาหกรรมได้เสนอให้กรมชลประทานจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำได้อย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดภาวะภัยแล้ง หรือขาดแคลนน้ำ สามารถบอกกล่าวถึงปริมาณน้ำที่แท้จริงอย่างต่อเนื่อง และชัดเจน โดยเฉพาะการแจ้งเตือนหรือส่งสัญญาณให้โรงงานได้เตรียมตัวล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน ทางโรงงานจะได้เตรียมจัดหาน้ำมาสำรอง เดี๋ยวจะเตรียมตัวกันไม่ทัน

โดยเฉพาะมีโรงงานปิโตรเคมี และโรงผลิตไฟฟ้าที่ใช้น้ำปริมาณมาก ในการหล่อเย็นตัวคูลลิ่ง ตอนนี้มีบางโรงงานปรับแผนการซ่อมบำรุงประจำปี โดยเลื่อนมาปิดซ่อมช่วงที่จะขาดแคลนน้ำ ส่วนโรงงานปิโตรเคมีบางแห่งมีการนำน้ำทะเลมาผลิตเป็นน้ำจืด ต้นทุนตกประมาณ 35-40 บาทต่อลูกบาศก์เมตรค่อนข้างสูง

ขณะเดียวกันทราบมาว่า ทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้เชิญโรงงานภายในนิคมมาหารือ 2-3 ครั้งแล้ว เพื่อให้เตรียมพร้อมรับมือปัญหาการขาดแคลนน้ำ ลดการใช้น้ำในการผลิต เพื่อประหยัดน้ำต่าง ๆ

ตอนนี้ความเคลื่อนไหวที่ได้รับแจ้งจากสมาชิกว่า ทางราชการขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดน้ำ 10% ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคครัวเรือน และภาคเกษตร โดยโรงงานแจ้งว่าการประปาภูมิภาคเริ่มลดแรงดันน้ำ ส่งผลให้น้ำไหลอ่อนลง เพื่อประหยัดน้ำ

Q : ชลประทานยืนยันมีน้ำใช้ถึง มิ.ย.

จากการลงพื้นที่ไปสำรวจอ่างเก็บน้ำหลักพบว่า น้ำลดระดับลงมาก เช่น อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล มองเห็นสะดืออ่าง ซึ่งเคยเป็นหมู่บ้านเก่าที่ย้ายออกไป ในอดีตเคยเห็นจุดสะดืออ่างช่วงวิกฤตน้ำขาดแคลนเดือนกรกฎาคม 2548 แต่ปัจจุบันเดือนมกราคม 2563 เห็นสะดืออ่างแล้ว ซึ่งเป็นการตอบคำถามได้ดีว่า ปี 2563 วิกฤตน้ำจะหนักกว่าปี 2548 หรือไม่

เท่าที่สอบถามองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ บอกน่าจะวิกฤตกว่า น่าจะเกิดภาวะที่ขาดแคลนน้ำได้ในเวลาอันใกล้ประมาณเดือนมีนาคม หรือเมษายน 2563 ต่างกับที่กรมชลประทานยังยืนยันว่า จะมีน้ำใช้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563

เพราะทุกวันนี้จังหวัดระยองมีการดึงน้ำออกจากอ่างไปใช้วันละ 1,100,000 ลูกบาศก์เมตร สามารถคูณเฉลี่ยคร่าว ๆ ได้ว่าจะเหลือน้ำใช้อีกเพียง 2 เดือนกว่า ๆ หากไปถึงจุดน้ำ dead stock แล้วต้องหยุดสูบออก เพราะก้นอ่างต้องเหลือน้ำไว้หล่อฐานเขื่อนไม่ให้พังลง

Q : ทางจังหวัดเคลื่อนไหวอย่างไร

ทางจังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจ หากเกิดปัญหาขึ้นจริงจะเกิดความเสียหาย เพราะในระยองตอนนี้มีโรงงานเกือบ 3,000 โรงงาน น้ำยังไม่พอ หากในอนาคตมีคนเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะมีโรงงานเพิ่มขึ้น และประชากรจะเพิ่มอีก 5 แสนคน จะเกิดผลกระทบอย่างไร หากเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำขึ้นมา พวกโรงงานขนาดใหญ่ที่เคยได้รับผลกระทบปี 2548 ได้หาบ่อน้ำสำรองไว้นอกพื้นที่ เพื่อเป็นการสต๊อกน้ำไว้ส่วนหนึ่ง แต่จะใช้ได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำของแต่ละโรงงาน

Q : อีสท์วอเตอร์ยังดูดน้ำขายมาก

เท่าที่ทราบ ทางกรมชลประทานแจ้งว่า อีสท์วอเตอร์ ยังคงสูบน้ำอยู่ 5.5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากอ่างเก็บน้ำในระยอง เพื่อไปขายให้ภาคอุตสาหกรรมในระยอง และชลบุรี ซึ่งถ้าในสถานการณ์วิกฤตน้ำ ทางอีสท์วอเตอร์น่าจะมีมาตรการมารองรับ เพื่อช่วยเหลือหลายภาคส่วนในพื้นที่

Q : แผนหาแหล่งน้ำสำรอง

ได้แจ้งให้ทางจังหวัดดำเนินการให้แต่ละอำเภอไปสำรวจ และรวบรวมว่ามีแหล่งน้ำผิวดิน และน้ำบาดาลอยู่ตรงไหน ปริมาณเท่าไหร่ที่จะนำมาใช้ได้

Q : กระทบต่างชาติที่ลงทุนใน EEC

น่าจะเป็นปัญหาได้ เพราะวิกฤตน้ำที่เป็นข่าวออกไปต่างชาติเห็น จะบอกว่าต่างชาติกังวลหรือไม่ ผมคงไม่ต้องพูดแทน ยกตัวอย่าง ผมจะไปลงทุนในเมียนมา แล้วเห็นข่าวในทีวีบอกน้ำไม่มี ผมคงชะลอแผนการลงทุนออกไป

Q : รูปธรรมการลงทุนในพื้นที่ EEC

ที่ผ่านมาหลายปีผมได้เห็นแผน ได้มีการบอกกล่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เห็นโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา คนระยองได้รับทราบเรื่องอีอีซีมา 2 ปีแล้ว แต่เรายังไม่เห็นภาพการลงทุนที่แท้จริง ผมเห็นเร็วมากที่สุดและเป็นรูปธรรมชัดเจน คือ โครงการก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ที่เชื่อมต่อจากพัทยามาบ้านฉางเชื่อมมาระยอง

Q : ปรับตัวรับโบอิ้งตั้งศูนย์ซ่อม

หน่วยงานของไทยยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญากับบริษัท โบอิ้ง การจะให้ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เตรียมปรับตัวเพื่อไปผลิตชิ้นส่วนอากาศยานเป็นการมาพูดปลายทาง ยังไม่มีแผนอะไรชัดเจน

Q : ฝากอะไรไปถึงประธานคนใหม่

ผมได้มีการจัดหลักสูตรฝึกอบรมต่าง ๆ มาเกือบ 2 ปีแล้ว โดยร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ส่งคนที่มีประสบการณ์ตรงในโรงงานมาเป็นวิทยากร โดยปี 2562 จัดอบรมทั้งหมด 25 หลักสูตร เพื่อให้บริษัทสมาชิก และบริษัทที่ไม่ได้เป็นสมาชิกส่งคนมาเข้าอบรมฟรีกว่า 500 คน ปี 2563 จะพัฒนาทักษะ 12 หลักสูตร และหากมีเรื่องอะไรเร่งด่วนเข้ามาน่าสนใจจะจัดอบรมใหญ่ขึ้นมาเพิ่ม นอกจากนี้ เรามองว่านักศึกษาอาชีวะสนใจทำงานในโรงงาน แต่โรงงานเห็นว่าเด็กที่จบมายังไม่ถึงเวลาเข้าโรงงาน ความรับผิดชอบยังน้อย เกิดความไม่ปลอดภัย ผมจึงได้หารือโดยเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งฝ่ายโรงงาน สถาบันอาชีวะมาหารือกัน โดยจะเริ่มจัด “หลักสูตรโรงงานในโรงเรียน” ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

Q : ทางรอดสมาชิก SMEs ยุค 5G

ปัจจุบันหลายธุรกิจถูกดิสรัปชั่น ดังนั้นผู้ประกอบการต้องเข้าใจ เรียนรู้ให้เท่าทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยี การพัฒนาเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ต้องสร้างแนวคิดใหม่ที่จะตอบสนองต่อยุคสมัย และเทคโนโลยี ฉะนั้น SMEs ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ล่าสุดผู้ผลิตรถยนต์โตโยต้า ประกาศเลิกผลิตรถตามภาวะ จะเน้นผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตชิ้นส่วนสำหรับพลังงานเชื้อเพลิงได้รับผลกระทบแน่นอน ทุกคนต้องปรับตัว นอกจากนี้ ในด้านความสามารถในการแข่งขันยังต้องสู้กับจีน ซึ่งผลิตสินค้ามาแข่งขันกับทั่วโลกในราคาต้นทุนที่ถูกมาให้ได้