แล้งสาหัสแม่น้ำโขงแห้งรอบ 60 ปี ปิดประตูระบายน้ำตุนทำประปา

แม่น้ำโขงวิกฤต ลดต่ำสุดในรอบ60 ปี ฝั่งไทย-ลาวเก็บกักน้ำปิดประตูลำน้ำสาขา หวั่นเขื่อนยักษ์จีนลดระบายน้ำอีก กระทบสถานีสูบน้ำทำประปา หนองคาย-นครพนม-มุกดาหาร เร่งหาน้ำดิบรับมืออีก 4 เดือนข้างหน้า รอฝนตกส่งสินค้าข้ามโขงเริ่มกระทบ ตลิ่งสูงลิ่วขนขึ้นฝั่งลาวไม่ได้ พืชผักผลผลิตลดฮวบ ขาดตลาดราคาพุ่ง

น้ำในแม่น้ำโขงได้ลดระดับลงต่ำกว่าปกติมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ต่อต้นปี 2563 โดยมีสาเหตุหลักมาจาก 1) เขื่อนจิ่งหง มณฑลยูนนาน เหนือ อ.เชียงแสน ขึ้นไปได้ลดระดับการปล่อยน้ำลงมา 2) สภาพอากาศแห้งแล้ง ปริมาณฝนน้อย ทั้งฝั่งประเทศไทยและ สปป.ลาว ทำให้ลำน้ำสาขาแม่น้ำโขง มีปริมาตรน้ำลดลง และ 3) มีการปิดกั้นลำน้ำสาขาทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาว เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และการผลิตกระแสไฟฟ้า จนแทบจะไม่มีน้ำไหลลงตกแม่น้ำโขงอีก สภาพการณ์เช่นนี้ส่งผลกระทบให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงลดต่ำลงมาก บางช่วงเหลือเพียงร่องน้ำหลักที่กั้นระหว่าง 2 ประเทศเท่านั้น

ล่าสุดจากการรายงานสถานการณ์ล่าสุด (วันที่ 24 มกราคม 2563) จากสถานีตรวจวัดระดับน้ำ 5 แห่งของกรมชลประทาน พบว่า อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ระดับตลิ่ง 12.80 เมตร ระดับน้ำ 2.02 เมตร หรือต่ำกว่าตลิ่ง -10.75 เมตร, อ.เชียงคาน จ.เลย ระดับตลิ่ง 16 เมตร ระดับน้ำ 3.50 เมตร หรือต่ำกว่าตลิ่ง -12.50 เมตร, อ.เมือง จ.หนองคาย ระดับตลิ่ง 12.20 เมตร ระดับน้ำ 0.81 เมตร หรือต่ำกว่าตลิ่ง -11.39 เมตร, อ.เมือง จ.นครพนม ระดับตลิ่ง 12 เมตร ระดับน้ำ 0.89 เมตร หรือต่ำกว่าตลิ่ง -11.11 เมตร, อ.เมือง จ.มุกดาหาร ระดับตลิ่ง 12.50 เมตร ระดับน้ำ 1.48 เมตร หรือต่ำกว่าตลิ่ง -11.02 เมตร และ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ระดับตลิ่ง 14.50 เมตร ระดับน้ำ 1.90 เมตร หรือต่ำกว่าตลิ่ง -12.60 เมตร

เขื่อนจิ่งหงเริ่มปล่อยน้ำ

นายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงราย กล่าวว่า ได้มีการสำรวจและจัดเก็บน้ำตามแหล่งน้ำไว้จำนวนมากตามแผนระยะ 5 ปี ทั้งจังหวัดมีปริมาณน้ำต้นทุนรวมน้ำใต้ดินมากถึง 1,399 ล้าน ลบ.ม./ปี แต่ขณะนี้มีการขุดบ่อบาดาลไปเพียง 1,127 บ่อ หรือคิดเป็นปริมาตรน้ำ 70,000 ลบ.ม./วัน จากศักยภาพที่สามารถใช้น้ำบาดาลได้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้าน ลบ.ม./วัน ขณะที่ น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า ตอนนี้เขื่อนจิ่งหงเริ่มปล่อยน้ำลงมาในระดับสามารถเดินเรือสินค้าและเรือท่องเที่ยวได้แล้ว และพยายามรักษาระดับนี้ไว้ ณ วันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา มีอัตราการปล่อยน้ำ 1,093 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำเหนือเขื่อน 599.62 เมตร แต่ยังต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำต่อไป

หนองคายปิดประตูระบายน้ำ

ที่จังหวัดหนองคาย นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ได้ให้แต่ละอำเภอสำรวจหมู่บ้านที่คาดการณ์ว่าจะประสบปัญหาน้ำดื่มน้ำใช้ มีประมาณ 10 หมู่บ้านที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งได้ประสานกับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ไปแล้ว สำหรับมาตรการระยะสั้น มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ตามลำห้วยต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูก การเจาะบ่อน้ำบาดาล

นายเฉลิมชัย ม่วงไหมแพร ผู้อำนวยการโครงการชลประทานหนองคาย กล่าวว่า ลำน้ำสาขาแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านในพื้นที่จังหวัดหนองคาย มีทั้งหมด 6 แห่ง “ขณะนี้ได้ปิดประตูระบายน้ำทุกบานแล้ว” ทำให้มีน้ำในลำห้วยพอใช้เฉพาะที่ลำห้วยหลวง ปีนี้กักเก็บน้ำไว้ได้ 157.5 ม.รทก. หรือคิดเป็นปริมาณน้ำประมาณ 35 ล้านลูกบาศก์เมตร ตอนนี้เหลือน้ำประมาณ 24.38 ล้าน

ลูกบาศก์เมตร พอใช้ในพื้นที่ “ที่ต้องระวังตอนนี้ก็คือ น้ำโขงมีปริมาณลดต่ำลงกว่าปกติ จะส่งผลต่อการสูบน้ำกลับเข้าลำห้วยต่าง ๆ ทำได้ยากขึ้น โดยรวมเชื่อว่าตลอดฤดูแล้งนี้ จังหวัดหนองคายจะมีปริมาณน้ำเพียงพอ” นายเฉลิมชัยกล่าว

หวั่นขนสินค้าข้ามไปลาวไม่ได้

ทางด้านการประปาส่วนภูมิภาค สาขาหนองคาย ได้เตรียมความพร้อมในการรับมือแม่น้ำโขงลดต่ำ จากกำลังการผลิต 9.198 ล้าน ลบ.ม./ปี ความต้องการใช้น้ำประปา 480,000 ลบ.ม./เดือน มีแหล่งน้ำดิบ คือ แม่น้ำโขง จากสถานีสูบน้ำดิบ 2 แห่ง สถานีสูบน้ำดิบมีชัย ในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย สูบน้ำดิบส่งให้กับโรงกรองที่สถานีผลิตน้ำสำนักงานหนองคาย ปริมาณการผลิต 500 ลบ.ม./ชั่วโมง และส่งให้กับสถานีผลิตน้ำหนองบัว ปริมาณการผลิต 500 ลบ.ม./ชั่วโมง กับสถานีสูบน้ำดิบวัดราษฎร์จำนง สูบน้ำจากแม่น้ำโขงส่งให้กับสถานีผลิตน้ำปะโค ปริมาณการผลิต 1,000 ลบ.ม.ต่อชั่วโมง ล่าสุดได้มีการตั้งสถานีสูบน้ำดิบเสริมอีก 1 แห่ง คือ ที่บ้านหนองบัว ต.กวนวัน อ.เมือง เพื่อส่งให้กับสถานีผลิตน้หนองบัว ปริมาณการผลิต 500 ลบ.ม./ชั่วโมง และจัดเตรียมแหล่งน้ำสำรองไว้ที่หนองกอมเกาะ ปริมาณน้ำ 8 ล้าน ลบ.ม.

นายอนุชิต สกุลคู กรรมการบริหาร บริษัท เจียงอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และกรรมการหอการค้าจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า พืชผลทางการเกษตรที่ปลูกและส่งขายตลาดทั่วไป ส่งขายโรงงาน และส่งขายไปยัง สปป.ลาว ถือว่าเป็นตลาดใหญ่ จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทันที ทำให้ไม่มีผลผลิตส่งไปขายตามที่ต่าง ๆ

โดยเฉพาะที่ส่งขายไปยัง สปป.ลาว ปีละกว่า 500 ล้านบาท นอกจากนี้ ราคาพืชผลการเกษตรจะสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วไป

ขณะที่นายเฉลียว วงศ์ชานนท์ ผู้ประกอบการเรือขนส่งสินค้าระหว่างไทย-ลาว ที่ด่านท่าเรือหายโศกบอกว่า ระดับน้ำโขงขณะนี้ถือว่า “มีระดับต่ำมาก ผมประกอบอาชีพเรือขนส่งสินค้ามาเกือบ 60 ปี ยังไม่เคยเห็นน้ำโขงลดต่ำขนาดนี้มาก่อน” ส่งผลทำให้เรือขนส่งสินค้าเข้าเทียบท่าเรือทางฝั่ง สปป.ลาวไม่ได้ ต้องใช้เรืออื่นมาเทียบฝั่งแทนโป๊ะแพ เพื่อให้เรือสินค้าเทียบจอดได้ หากน้ำโขงลดต่ำมากกว่านี้ เรืออาจจะเกยตื้นและจะต้องหยุดการขนส่งสินค้าทางเรือเป็นการชั่วคราว ก็จะกระทบกับแรงงานขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ

มุกดาหาร-นครพนมเฝ้าระวัง

นายนิโรจน์ เที่ยงจิตต์ ผจก.กปภ.สาขามุกดาหาร จ.มุกดาหาร กล่าวว่า ตอนนี้ต้องเฝ้าระวังระบบสูบน้ำดิบจากน้ำโขงที่ใช้อยู่ เพราะระดับน้ำโขงลดลงมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต โดยพื้นที่ลำน้ำโขงของ จ.มุกดาหาร กว้างพอสมควร ทาง กปภ.ได้รับนโยบายมาว่า ให้เตรียมพร้อมการแก้ปัญหาเบื้องต้นกรณีน้ำโขงแห้ง ด้วยการเตรียมแพเปิดร่องน้ำในการสูบน้ำเข้ามา รวมถึงขุดบ่อบาดาล 20 บ่อที่จังหวัดนครพนม นายอริญชย์ จังตระกูล ผจก.กปภ.สาขาศรีสงคราม (อ.ศรีสงคราม-นาหว้า-อากาศอำนวย) จ.นครพนม กล่าวว่า แม่น้ำสงครามยังอยู่ในระดับปกติ แต่ได้สำรองแหล่งน้ำไว้ที่หนองจอก-ห้วยกอก-ลำน้ำยาม

“ตอนนี้น้ำในพื้นที่เรายังพอเพียงอยู่ แต่ในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้าไม่แน่ เพราะเราใช้น้ำที่มีอยู่ แต่ไม่มีน้ำเข้ามาเติม คนในพื้นที่บอกว่าประมาณเดือนมีนาคมน้ำจะลดลงแน่นอน เพราะแม่น้ำสงครามไหลลงแม่น้ำโขง แต่หากจีนปล่อยน้ำลงมาก็จะดันให้ระดับน้ำในแม่น้ำสงครามสูงขึ้นด้วย ปัญหาก็คือเราไม่รู้ว่าจีนจะปล่อยน้ำลงมาเมื่อไหร่ และปริมาณเท่าใด”