
สงขลาหนุนโอท็อปสร้างพื้นที่ขายสินค้า 2 แห่ง รับอานิสงส์งานแฟร์-โรดโชว์ดันยอดขาย ด้านเครือข่ายโอท็อปชี้รายได้จากการขายสินค้า OTOP ของไทยปี’62 วูบ 5-10% จากมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาทในปี’61 คาดปี’63 ยังคงที่และพร้อมขยายตัวในอนาคต ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์อาหารครองตลาดกว่า 50% กลุ่มลูกค้าหลักยังเป็นคนไทย
นายพงศ์สวัสดิ์ ยอดสุรางค์ ประธานเครือข่ายโอท็อปไทย ประธานเครือข่ายโอท็อปภาคใต้ และประธานคณะกรรมการเครือข่ายโอท็อป (OTOP) จังหวัดสงขลา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยอดขายสินค้าโอท็อปในประเทศไทยปี 2563 คาดว่าจะใกล้เคียงกับปี 2562 ซึ่งมีมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันมูลค่าดังกล่าวกลับลดลงประมาณ 5-10% เมื่อเทียบกับปี 2561 โดยรายได้จากการขายสินค้าโอท็อปเครือข่าย จ.สงขลา ในปีที่ผ่านมามีมูลค่าประมาณ 800 ล้านบาท ส่วนใหญ่ได้รับอานิสงส์มาจากการจัดงานโรดโชว์ งานแฟร์ ประมาณ 10 ครั้ง ในพื้นที่ภาคใต้ ตลอดทั้งปี โดยการจัดงานในแต่ละครั้งจะนานกว่า 10 วัน และในปี 2563 คาดว่าจะมียอดขายใกล้เคียงกันกับปีที่ผ่านมา
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เข้าบัญชีวันนี้ 5 จังหวัด
- วิธีเช็กเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท chongkho.inbaac.com
- EV จีนทุบราคาเลือดสาด ฉางอานท้ารบ-BYD เกทับลดอีกแสน
“สำหรับไตรมาสแรกของปีในปี 2563 ได้มีการจัดงานแฟร์ครั้งแรกที่ อ.เมือง จ.สงขลา ในช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา และในครั้งต่อไปจะจัดอยู่ที่ จ.ชุมพร ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์-8 มีนาคม ถัดมาคือที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ระหว่างวันที่ 20-29 มีนาคม และจะมีการดำเนินการตามแผนงานต่อไปอีกในไตรมาสที่ 2 เช่นเดียวกันกับการจัดโรดโชว์ โอท็อป 2 แผ่นดิน ที่เคยจัดไปแล้วในประเทศมาเลเซีย โดยกรมการพัฒนาชุมชน แต่จะมีการออกแบบการจัดงานในครั้งต่อไป และจะถูกดันเข้าไปอยู่ในแผนงานของกระทรวงพาณิชย์ โดยกระทรวงพาณิชย์ที่มีความชำนาญในการจัดงานมากกว่า”
ส่วนทิศทางการขยายตัวของตลาดสินค้าโอท็อปในปี 2563 ยังมีโอกาสเติบโตได้ดี จ.สงขลาวางแผนเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า 2 แห่งที่รองรับการขายสินค้าโอท็อปโดยเฉพาะ คือ 1.สนามบินนานาชาติหาดใหญ่ มีพื้นที่ 13 ตารางเมตร จะเปิดให้บริการต้นเดือนมีนาคม 2.คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) คาดว่าเริ่มจำหน่ายสินค้าได้เดือนเมษายนนี้
ทั้งนี้ ผู้บริโภคสินค้าโอท็อปที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นคนไทย 80% ชาวต่างชาติ 20% สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ขายดีที่สุดจากธุรกิจขนาดเล็กและขนาดใหญ่กว่า 50% คือ อาหาร ถัดมาจะเป็นผ้าไทยประมาณ 20% ของใช้ 10-15% สมุนไพร 10% และอัญมณีประมาณ 10% ซึ่งจะมีราคาสูงกว่าสินค้าประเภทอื่นตามท้องตลาดทั่วไป มีราคาตั้งแต่ 3,000-100,000 บาท และสูงถึง 1-2 ล้านบาท เช่น ทับทิมสยาม 100% นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทะเลที่ถือว่าเป็นสินค้าใหม่และทยอยออกมาสู่ตลาดมากขึ้น
หากจับกลุ่มลูกค้าตามประเภทสินค้า จะเห็นได้ว่าอาหารและของใช้จะขายดีในภาคใต้ ผ้าจะขายดีในภาคเหนือและภาคอีสาน ส่วนสินค้าโอท็อปที่น่าสนใจไม่แพ้สินค้าประเภทอื่น เช่น หมอนยางพารา ค่อนข้างมีการแข่งขันสูง ผู้ประกอบการดัมพ์ราคากันเองตั้งแต่ 650-350 บาท/ใบ และคาดว่าในอนาคตราคาจะต่ำลงอีก เพราะจีนเริ่มผลิตหมอนยางพาราเข้ามาขายในไทยมากขึ้น ที่สำคัญจะเป็นสินค้าแมสโปรดักต์ที่สามารถแข่งกับผู้ประกอบการรายเล็กของไทยได้
อย่างไรก็ตาม นายพงศ์สวัสดิ์เปิดเผยว่า ปัจจุบันทุกจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยกำลังเร่งพัฒนาสินค้าโอท็อปของตัวเอง และเริ่มขยายช่องทางการตลาดขายในระบบออนไลน์มากขึ้นประมาณ 10% แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ยังคงนิยมไปเลือกซื้อสินค้าด้วยตัวเองตามงานโรดโชว์และงานแฟร์มากกว่า