แล้งทำปาล์มน้ำมันสูญ 50% จี้รัฐสกัดลักลอบนำเข้า

ผลผลิตหาย - ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อผลผลิตปาล์มน้ำมันในภาคใต้ที่กำลังจะออกสู่ตลาดเดือนกุมภาพันธ์ 2563 หายไปจากตลาด

ภัยแล้งทำปาล์มน้ำมันขาดคอ คาดผลผลิตหายไปกว่า 50% หวั่นโรงงานผลักดันขอนำเข้า พร้อมเสนอรัฐบาลวางมาตรการกันลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มเถื่อน

นายทศพล ขวัญรอด เจ้าของสวนปาล์มน้ำมันและประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย (คยปท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปาล์มน้ำมันจะถึงฤดูกาลผลผลิตออกในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 แต่ปีนี้คาดการณ์ว่าผลผลิตจะหดหายไปจากตลาดต่อเนื่องจากปี 2562 ที่หดหายไปประมาณ 30% และรวมกับปี 2563 ต้นปาล์มไม่มีผลผลิต (ปาล์มขาดคอ) อีกระลอก ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนพฤษภาคม รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 50% สาเหตุจากประสบกับภัยแล้ง โดยฝนทิ้งช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2562 ซึ่งปกติทุกปีฤดูฝนจะตกหนัก

“ปัจจัยสำคัญของปาล์มน้ำมัน คือหากน้ำมากผลผลิตจะออกมาก หากน้ำน้อยผลผลิตจะออกน้อย นอกจากฝนทิ้งช่วงในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2562 แล้ว ประกอบกับในระยะหลายปีที่ผ่านมา ปาล์มน้ำมันราคาตกต่ำจึงขาดการบำรุงรักษา เพราะไม่คุ้มกับการลงทุน ราคาปุ๋ยกระสอบละกว่า 1,000 บาท -1,100 บาท/ไร่ ซึ่งต้องใส่ประมาณ 2-3 ครั้ง/ปี เพื่อให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันสมบูรณ์ จึงส่งผลต่อการออกผลผลิตในที่สุด”

นายทศพลกล่าวต่อไปว่า โดยสรุปแล้วในปี 2563 ผลผลิตปาล์มน้ำมันจะหดหายไปปริมาณมาก จึงเป็นผลให้ปาล์มน้ำมันขาดสต๊อก จะทำให้ผู้ประกอบการมีการผลักดันของภาครัฐนำเข้าจากต่างประเทศ และจะส่งผลต่อปาล์มน้ำมันไทยในที่สุด เหมือนกับที่ผ่านมา และจะตามมาด้วยปัญหาการลักลอบนำเข้าปาล์มน้ำมันจากต่างประเทศเข้ามาสวมปาล์มน้ำมันไทยอีกเช่นกัน

“ที่ผ่านมาเมื่อปาล์มน้ำมันเกิดภาวะวิกฤต จะมีการเสนอนำเข้ามาจากต่างประเทศ และมีการลักลอบนำเข้ามาสวมน้ำมันปาล์มไทย มีเรือบรรทุกน้ำมันปาล์มเถื่อนสต๊อกลอยอยู่กลางทะเล คอยนำขนขึ้นฝั่งมาสวมปาล์มน้ำมันไทย ดังนั้น จึงนำเสนอต่อรัฐบาลควรเตรียมมาตรการการป้องกันแก้ไขไว้ก่อน”

สำหรับสถานการณ์กลุ่ม คยปท.ที่มีสมาชิกประมาณ 10 จังหวัด จากปัญหายางพาราและปาล์มน้ำมันที่ตกต่ำและไม่มีเสถียรภาพ ทาง คยปท.จึงได้ดำเนินงานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำสวนยางพาราผสมผสาน โดยส่วนหนึ่งทำนา พร้อมกับแปรรูปเพิ่มมูลค่า ปัจจุบันประสบความสำเร็จในกลุ่มถึง 80% สมาชิกส่วนใหญ่มีรายได้ที่ดีขึ้น

“ในสวนยางพารา ปลูกผลไม้ พืชผัก เลี้ยงโค แพะ ปลา สวนยางพาราจะได้ทั้งมูลโค แพะ เป็นปุ๋ยอินทรีย์ลดต้นทุนการใส่ปุ๋ย และมูลโคขายได้ 40 บาท/กระสอบ แพะ 50 บาท/กระสอบ ส่วนปลาดุก ปลานิล แปรรูปเป็นปลาร้า ปลาส้ม ปลาแดดเดียว จากราคา 40 บาท/กก. เพิ่มมูลค่าได้ถึง 200 บาท/กก.”

ส่วนกลุ่มชาวนา คยปท.ที่มีสมาชิกประมาณ 10-15% ปลูกข้าว มีโรงสีข้าวขนาดเล็ก ราคา 13,000-15,000 บาท ของกลุ่มสีข้าวไว้บริโภคเอง ที่เหลือไว้ขาย ได้ราคา 20 บาท/กก. นอกจากนั้นยังมีผลพลอยได้ เช่น แกลบ ราคา 10 บาท รำข้าว 15 บาท/กระสอบ และปลายข้าว ราคา 18-20 บาท/กก. ผลประโยชน์จะตกเป็นของกลุ่มเกษตรกรเอง

นอกจากนี้ยังได้โค่นสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน หันมาทำนาสวนผสม บางรายหันมาทำนาหญ้าขาย ประมาณ 20 ไร่ จะมีรายได้ประมาณ 2 ล้านบาท/ปี หรือประมาณกว่า 160,000 บาท/เดือน และเท่ากับปลูกหญ้าขายได้ประมาณ 100,000 บาท/ไร่/ปี

“สภาพเกษตรกรในกลุ่ม คยปท.ประสบความสำเร็จประมาณ 80% และที่ทำสวนผสมผสาน ก็การขยายตัวเติบโตไปหลายพื้นที่ ทุกพื้นที่ โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐให้การสนับสนุน จะมีทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ”

นายนัด ดวงใส รองประธานกรรมการ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.) เปิดเผยว่า น่าวิตกเรื่องปาล์มน้ำมัน เนื่องจากปาล์มน้ำมันไทยเกิดภาวะภัยแล้งขาดแคลน ทำให้น้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) ราคาขยับสูงกว่า 30 บาท/กก. ในขณะที่ประเทศมาเลเซีย ประมาณ 20 บาท/กก.