“มาฆบูชา” เมืองคอนสืบตำนาน 790 ปี คาดเงินสะพัด 200 ล้าน

พุทธศาสนิกชนเรือนแสน ร่วมแห่ผ้าขึ้นธาตุ สักการะองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช เนื่องในวันมาฆบูชา ที่สืบทอดกันมา 790 ปี ททท.ระบุเงินสะพัดถึง 200 ล้านบาท

เมื่อวันที่ (8 ก.พ.63) ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนสามวันมาฆบูชา ตั้งแต่เวลาประมาณ 04.00 น.เป็นต้นมา พุทธศาสนิกชนทุกเพศทุกวัย ซึ่งส่วนใหญ่แต่งกายด้วยชุดสีชาว รวมทั้งนักท่องเที่ยวจำนวนมากได้หลั่งไหลไปยังวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารนครศรีธรรมราช เพื่อร่วมแห่ผ้าและสักการะองค์พระบรมธาตุเจดีย์เนื่องในวันมาฆบูชา โดยชาวบ้านส่วนใหญ่เดินทางกันเป็นครอบครัว ซึ่งมีการซื้อหรือทอนผ้าสีเหลืองจีวรพระที่วัดจัดเตรียมไว้ให้และที่พ่อค้าแม่ค้านำมาขายหลาละ 13-15 บาท เมื่อได้ผ้ามาแล้วต่างก็นำผ้าคลี่ออกจากม้วน บางคนเขียนชื่อนามสกุลของตัวเองญาติพี่น้องลงบนผ้า แล้วอธิษฐานเดินเข้าแถวตอนต่อกันแห่รอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ห่มองค์เจดีย์รายรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ทั้ง 149 องค์ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาถึง 790 ปี และตลอดทั้งวันของวันมาฆบูชาคาดว่าพุทธศาสนิกชนนับแสนคนจากทุกจังหวัดภาคใต้ และจังหวัดต่างๆ ได้เดินทางไปสักการะพระบรมธาตุเจดีย์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารนครศรีธรรมราช บางคณะมานอนพักค้างคืน 1-2 วัน ซึ่ง ททท.ได้ระบุว่าอัตราเข้าพักของโรงแรมและที่พักกว่า 70% เป็นเงินสะพัดถึง 200 ล้านบาท

สำหรับประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ เป็นประเพณีสำคัญของชาวนครศรีธรรมราช เกิดขึ้นและสืบเนื่องกันมา 790 ปี จากตำนานที่เล่ากันว่าในปี พ.ศ.1773 ขณะที่พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช กษัตริย์ของเมืองนครศรีธรรมราช กำลังสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์อยู่นั้น ชาวเมืองอินทปัตย์ ซึ่งกำลังเดินทางไปนมัสการพระธาตุที่ศรีลังกา ได้ถูกพายุพัดจนเรือแตก มีผู้รอดชีวิตราว 10 คน มาขึ้นฝั่งที่เมืองปากพนัง พร้อมด้วยผ้าขาวผืนยาวมีภาพพุทธประวัติเขียนไว้ที่ผ้า เรียกกันว่า “ผ้าพระบฏ”ชาวเมืองปากพนังจึงนำไปถวายพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชในกาลนั้น พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้โปรดให้นำผ้าดังกล่าวขึ้นห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 และตั้งแต่นั้นมาจึงปฏิบัติต่อเนื่องจนกลายเป็นประเพณีสืบมาจนถึงปัจจุบัน