“ตั้งงี่สุน” ถูกลูกค้าโวยงดแจกถุงพลาสติก-จี้รัฐต้องชัดเจน

ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งและอุตสาหกรรมพลาสติกไทย จี้รัฐขอความชัดเจนนโยบาย “งดแจกถุงพลาสติก” เหตุถูกลูกค้าว่า “ลดต้นทุนเอาเปรียบผู้บริโภค” พร้อมทวงถามข้อเรียกร้อง “ผลิตถุงหนาเพื่อใช้ซ้ำ” ขณะเดียวกัน “กระทรวงทรัพย์” เดินหน้าจัดประชุม 4 ภาคถึงแนวทางการทำกฎหมายจัดการขยะพลาสติก

นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ผู้บริหาร จังหวัดอุดรธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากมาตรการของภาครัฐเรื่องงดแจกถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้าซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2563 เริ่มมีปัญหาจนผู้ประกอบการต้องให้ภาครัฐเร่งหาทางออก เนื่องจากเกิดปัญหาการร้องเรียนจากผู้บริโภคร้องเรียนจนทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้เชิญผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมหารือกรณีดังกล่าว

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับหนังสือจากสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย (ซึ่งมีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคม) แจ้งมาว่า สมาคมได้รับการร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมากว่าได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ร่วมมือกับเครือข่ายภาคธุรกิจเอกชนทั้งห้างสรรพสินค้าและร้านค้าสะดวกซื้อออกมาตรการรณรงค์และนำร่องงดการแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว โดยห้างสรรพสินค้าและร้านค้าสะดวกซื้อจำนวนมากได้งดแจกถุงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ซึ่งเห็นได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจห้างสรรพสินค้าและร้านค้าสะดวกซื้อ ที่จะได้ลดต้นทุนในการจัดเตรียมถุงพลาสติกไว้ให้บริการลูกค้า และเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จึงขอให้ทาง สคบ.ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว จึงได้เชิญผู้ประกอบการเข้าร่วมประชุมในเร็ว ๆ นี้

“จากที่ภาครัฐได้ขอความร่วมมือจากห้างบิ๊กซี โลตัส และร้านค้าอย่างผมงดแจกถุง ทำให้เกิดกระแสแบ่งเป็น 2 ฝั่งคือ 1.ฝั่งที่เห็นการรณรงค์ลดโลกร้อนก็ทำเต็มที่ ผู้ประกอบการทำตามนโยบายรัฐ 2.ฝั่งลูกค้าที่ยังคงต้องการรับการบริการอยู่และมองว่าการงดแจกถุงเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ทาง สคบ.จึงมีจดหมายมาถึงผุู้ประกอบการให้ไปปรึกษาหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือเราทำตามการขอความร่วมมือของรัฐบาล แต่ถูกร้องเรียนจากลูกค้า ทางผู้ประกอบการเองทำตัวไม่ถูก พอลูกค้าซื้อของเสร็จก็ให้ลูกค้าด่าฟรี สคบ.ควรคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ เพื่อหาทางออกร่วมกัน”

ด้านนายสมชัย เตชะพานิชกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย เปิดเผยว่า หลังจากวันที่ 7 มกราคม 2563 ที่ทางสมาคมได้เข้าเจรจากับภาครัฐเพื่อเสนอการทำถุงพลาสติกให้หนาขึ้น และสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีก ทั้งนี้ข้อเสนอดังกล่าวได้รับความเห็นชอบ แต่ยังไม่มีการประกาศมาตรการออกมาอย่างชัดเจนผู้ผลิตจึงไม่รู้ว่าจุดยืนคืออะไร และจะต้องทำอย่างไรต่อไป ยังคงรอประกาศรัฐบาลอยู่จนถึงปัจจุบัน

“การที่ห้างสรรพสินค้าหันไปสั่งซื้อถุงสปันบอนด์ ซึ่งเป็นถุงที่ผลิตจากพลาสติกเช่นเดียวกัน แต่มีอายุการใช้งานอยู่ได้เพียง 1 ปีจะย่อยสลายกลายเป็นผง ยิ่งเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น และการนำเข้ามาเป็นการเสียรายได้ออกนอกประเทศและกระทบกับผู้ผลิตพลาสติกภายในประเทศ แม้จะเข้าใจว่าห้างสรรพสินค้ากลัวผลกระทบที่ไม่มีถุงใช้เหมือนกัน ส่งผลให้ปัจจุบันผู้ผลิตถุงพลาสติกได้รับผลกระทบจากการงดแจกถุงประมาณ 30% โดยเฉพาะบางรายที่ผลิตถุงให้กับห้างสรรพสินค้าต้องหยุดทำการผลิตเพราะไม่มีออร์เดอร์ ขณะเดียวกันห้างสรรพสินค้าหลายแห่งกลับหันไปใช้ถุงสปันบอนด์แทน มีการสั่งซื้อจากประเทศจีนล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน และนำมาบริการผู้บริโภคในลักษณะเป็นการขายในราคาต่างกัน”

ขณะเดียวกันกระทรวงทรัพย์ยังคงเดินหน้ารณรงค์การใช้ถุงพลาสติก โดยจะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการแนวทางการงดใช้พลาสติกในตลาดสดและร้านขายของชำ และแนวทางการจัดทำกฎหมายจัดการขยะพลาสติก 4 ภาค ครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 ครั้งที่ 2 ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 3 ในวันที่ 3 มีนาคม 2563 ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และครั้งที่ 4 ในวันที่ 23 เมษายน 2563 ณ จังหวัดขอนแก่น


“อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ว่างดใช้ถุงพลาสติกเพียงอย่างเดียว เพราะการใช้ถุงผ้าที่รณรงค์กันอยู่นั้นสามารถกลายมาเป็นขยะถุงผ้าแทนขยะถุงพลาสติกได้ แต่คือการบริหารจัดการที่ปลายทาง สิ่งที่ถูกต้องคือการใช้ซ้ำ และสามารถนำกลับมารีไซเคิลใช้ใหม่ได้”