ล้งทุเรียน-มังคุดตะวันออก-ใต้ป่วน ค้านรัฐโยนเอกชนรับรอง GMP 1 ต.ค.ทำต้นทุนพุ่ง

โอนภารกิจ - การส่งออกผลไม้ไทยไปตลาดหลักประเทศจีนได้มีการวางหลักเกณฑ์บังคับให้โรงคัดบรรจุ(ล้ง)ต้องได้รับมาตรฐาน GMP ขณะเดียวกันต้องรับซื้อผลไม้จากสวนที่ได้รับมาตรฐาน GAP ซึ่งที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ตรวจรับรอง แต่ตั้งแต่วันที่ 1ต.ค.63 การตรวจ GMP จะโอนภารกิจให้บริษัทเอกชนเข้ามาตรวจสอบ

สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด ภาคตะวันออก-ใต้ ค้านกรมวิชาการเกษตรโอนถ่ายงานตรวจรับรองมาตรฐาน GMP ให้บริษัทเอกชน ดีเดย์ 1 ต.ค.นี้ หวั่นไม่โปร่งใส ค่าใช้จ่ายสูงจากเดิมรัฐอุดหนุนงบฯ 2,500 บาท/ราย/ปี เปลี่ยนมาตรวจเอกชนจ่ายเองเต็ม ๆ 3-8 หมื่นบาท/ราย/2-3 ปี กระทบผู้ส่งออกรายย่อยไม่โต เสนอรูปแบบทางเลือกคู่ขนานจะตรวจกับรัฐหรือเอกชนก็ได้

นายภานุวัชร์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ (ล้ง) รายเล็กกำลังจะประสบปัญหาเรื่องต้นทุนการส่งออก เนื่องจากตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 มีแผนให้ถ่ายโอนภารกิจการตรวจมาตรฐานโรงคัดบรรจุ (good manufacturing practice : GMP) จากที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตรในแต่ละพื้นที่เป็นผู้ตรวจรับรอง GMP ไปให้บริษัทเอกชนดำเนินการมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง 30,000-80,000 บาทต่ออายุใบรับรอง 2-3 ปี เทียบกับกรมวิชาการเกษตรตรวจเสียค่าใช้จ่ายเพียงครั้งละ 2,500 บาทต่ออายุใบรับรอง 1 ปี

เอกชนตรวจเพิ่มต้นทุนรายย่อย

ดังนั้น ทางสมาคมและกลุ่มเกษตรกรเห็นว่าควรให้ล้งมีทางเลือกในการดำเนินการ คือ 1) ทำแบบคู่ขนาน โดยให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการคู่กับภาคเอกชน โดยล้งสามารถเลือกตรวจกับราชการหรือเอกชนก็ได้ และ 2) ชะลอหรือเลื่อนการโอนภารกิจทั้งหมดให้บริษัทเอกชนและให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่สามารถตรวจรับรองมาตรฐานได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการส่งออกและเกษตรกรได้ปรับตัวและออกค่าใช้จ่ายด้วยความเป็นธรรม

“การเปิดให้บริษัทเอกชนขึ้นทะเบียนตรวจและประเมินมาตรฐานโรงคัดบรรจุ GMP ถ้าไม่มีการกำหนดราคากลางค่าใช้จ่ายจะสูง เป็นการเพิ่มต้นทุนให้ผู้ประกอบการ ทำให้ต้องซื้อสินค้าจากเกษตรกรราคาถูกลง หรือบางครั้งกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่รวมตัวกันส่งออกเองจะไม่สามารถส่งออกด้วยตัวเองเพราะมีต้นทุนสูง สมาคมคัดค้านทุกครั้งที่มีประชุม แต่ล่าสุดเห็นว่าจะมีการโอนถ่ายวันที่ 1 ตุลาคม 2563 เหตุที่คัดค้านเพราะเห็นว่าบริษัทเอกชนดำเนินการเพื่อธุรกิจอาจจะไม่โปร่งใส ไม่ยุติธรรม”

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้ไทยเป็นมหานครผลไม้ของโลก ทำให้การส่งออกผลไม้ขยายตัวสูง จากข้อมูลกรมศุลกากร กระทรวงพาณิชย์ ทุเรียน ลำไย มังคุด มีพื้นที่ปลูกมากในภาคตะวันออกและภาคใต้ มีปริมาณส่งออกปี 2562 จำนวน 1,849,000 ตัน มูลค่า 98,046 ตัน โดยมีสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นคู่ค้าหลัก จึงไม่อยากให้ต้นทุนการตรวจ GMP เป็นผลกระทบต่อการส่งออกของล้งรายย่อย

เปิดทางเลือกตรวจรัฐ-เอกชน

นายภานุวัชร์กล่าวต่อไปว่า ขณะที่การตรวจรับรองมาตรฐานหลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (good agricultural practices : GAP) ของเกษตรกรยังไม่มีแผนกำหนดการถ่ายโอนภารกิจให้ภาคเอกชนทั้งหมดอย่างชัดเจน มีบริษัทเอกชน 4 แห่งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนออกใบรับรองได้ และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี (สวพ.6) สังกัดกรมวิชาการเกษตรตรวจอยู่แบบคู่ขนาน ทั้ง ๆ ที่มีสวนทุเรียนหลายหมื่นแปลงที่เจ้าหน้าที่ สวพ.6 ไม่สามารถตรวจได้ทัน

หากเทียบกับโรงคัดบรรจุในภาคตะวันออกมีเพียง 700 แห่งรวมกับภาคใต้สูงสุดไม่เกิน 1,000 แห่ง สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรแต่ละพื้นที่น่าจะตรวจได้ทัน ดังนั้น การตรวจ GMP ควรทำในลักษณะคู่ขนานให้ล้งได้เลือกว่าจะตรวจกับราชการหรือเอกชน

จี้กำหนดราคากลางค่าตรวจ

นายมณฑล ปริวัฒน์ รองนายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่คัดค้านเรื่องการถ่ายโอน แต่ขอเป็นทางเลือกแบบคู่ขนานเพราะไม่มั่นใจว่าบริษัทจะดำเนินธุรกิจแบบโปร่งใสเป็นธรรม เมื่อใบรับรองมีอายุเพียง 2-3 ปี ค่าตรวจไม่มีการกำหนดราคากลางตามขนาดล้ง ต้องตรวจทุกปี อาจจะมีค่าที่ปรึกษาเพิ่มเติม เป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงเทียบกับงบประมาณกรมวิชาการเกษตร 2,500 บาท/หน่วย มีอายุใบรับรอง 1 ปี ควรมีทางเลือกให้ สวพ.6 ทำต่อไปเหมือนเดิม

ถ้าประมาณการงบประมาณที่ใช้ 1,000 ล้ง ปีละ 2.5 ล้านบาท เล็กน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับการส่งออกผลไม้กว่าแสนล้านบาท หรือให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่ เช่น มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ตรวจรับรองและให้ผู้ประกอบการเสียค่าใช้จ่าย เพื่อความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ และทำให้กลุ่มเกษตรกรรายใหม่ ๆ ได้มีโอกาสสร้างโรงคัดบรรจุและพัฒนาเพื่อการส่งออก ถ้าให้บริษัทเอกชนตรวจรับรองจากล้งเกือบ 1,000 ล้ง ค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 40-50 ล้านบาท ขอให้เป็นความสมัครใจของผู้ประกอบการที่มีความพร้อมต้องการความสะดวกรวดเร็ว

หวั่นเอกชนตรวจหลายมาตรฐาน

“ตอนนี้ผู้ประกอบการยังไม่พร้อมควรมีเวลาปรับตัวเพราะเอกชนเข้ามาตรวจอาจจะไม่ใช่มาตรฐานเดียวกัน และมีหลายบริษัทอาจจะไม่ต่อเนื่องเหมือนภาครัฐที่ช่วยแนะนำแก้ไข ถ้าโรงคัดบรรจุที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานหลุดออกไป ทางจีนมาสุ่มตรวจจะเกิดความเสียหาย หรือถ้าตรวจเข้มเกินล้งผ่านมาตรฐานไม่มาก ตัวเลขการส่งออกจะลดลง เชื่อว่าบริษัทที่ตรวจมีหลายบริษัท แม้จะมีมาตรฐานบังคับแต่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติอาจจะไม่ใช่มาตรฐานเดียวกัน สมาคมจึงเสนอรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอให้พิจารณาทบทวนมติ ครม. หากต้องทำจริง ๆ โรงคัดบรรจุยินดีเสียค่าใช้จ่าย ขอให้คงหน่วยงานภาครัฐสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรแต่ละพื้นที่เป็นทางเลือกคู่ขนาน” นายมณฑลกล่าว

ล้งเกษตรกรรายย่อยเกิดยาก

แหล่งข่าวกลุ่มสมาร์ทฟาร์มเมอร์ จันทบุรี เห็นว่า อนาคตกลุ่มเกษตรกรหรือชุมชนอาจจะทำโรงคัดบรรจุเองเพื่อคัดแยกผลไม้คุณภาพส่งล้งหรือห้างโมเดิร์นเทรด จำเป็นต้องขอรับการตรวจรับรองมาตรฐาน GMP เช่นกัน หากโอนให้ภาคเอกชนจะจัดการอย่างเบ็ดเสร็จและไม่กำหนดราคากลาง ถ้าหากค่าใช้จ่ายสูง 30,000-50,000 บาท โรงคัดบรรจุเกษตรกรรายย่อยจะมีโอกาสเกิดยาก เพราะการทำโรงคัดบรรจุมาตรฐานต้องเป็นภาระที่ยุ่งยากอยู่แล้ว หากเปลี่ยนมาให้ภาคเอกชนตรวจอาจเกิดความไม่เชื่อมั่นว่าจะโปร่งใส อาจจะใช้เทคนิคบางอย่าง เช่น การตรวจสารเคมีอาจต้องทำ 2-3 ครั้งกว่าจะผ่านแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่าย

ทางที่ดีน่าจะทำ 2 รูปแบบ คือ 1) ภาครัฐทำแต่ให้โรงคัดบรรจุเสียค่าใช้จ่าย แทนที่จะทำฟรีเหมือนปัจจุบัน 2) ให้ภาคเอกชนทำตามความสมัครใจของผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุที่มีความพร้อม ต้องการความสะดวกรวดเร็วเช่นเดียวกับโรงพยาบาลรัฐกับโรงพยาบาลเอกชน

ด้านแหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุทุเรียนแช่แข็งรายหนึ่งในจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ปี 2562 เคยใช้บริการของบริษัทเอกชนตรวจใบรับรองมาตรฐานโรงผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็งอายุ 3 ปี ค่าใช้จ่าย 100,000 บาท และต้องเสียค่าใช้จ่ายให้เจ้าหน้าที่มาตรวจเป็นค่าใช้จ่ายแต่ละปี หรือตามที่มีปัญหาครั้งละ 10,000 บาท จึงเห็นว่าการให้บริการภาครัฐทำได้ดีกว่า มีความโปร่งใสและยินดีจะเสียค่าใช้จ่ายให้หน่วยงานภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะน้อยกว่าค่าใช้จ่ายให้ภาคเอกชนมาก และมีความโปร่งใสเป็นธรรมกับผู้ประกอบการมากกว่า

 

รัฐยัน 4 Third Party ยึดมาตรฐานเดียวกัน

การถ่ายโอนการตรวจรับรองโรงงานผลิตสินค้าพืชของกรมวิชาการเกษตรให้หน่วยรับรองเอกชนเป็นไปตามมติ ครม.วันที่ 11 พฤษภาคม 2553 ต้องมีภารกิจการถ่ายโอนทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 โดยมี 4 บริษัทที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว

แหล่งข่าวจากกรมวิชาการเกษตร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางกรมวิชาการเกษตรได้มีการถ่ายโอนโรงงานบางประเภทไปแล้วตั้งแต่ปี 2559 เช่น โรงงานแปรรูป โรงคัดบรรจุ โรงอบรมควัน ส่วนโรงคัดบรรจุผักผลไม้ทั้งเปลือกที่จะโอนในวันที่ 1 ตุลาคม 2563

โดยหลักการได้ประชุมชี้แจงสร้างการรับรู้ให้ผู้ประกอบการมาโดยตลอด ทั้งจังหวัดจันทบุรี ชุมพร เชียงใหม่ ซึ่งภาคเอกชนที่เข้ามาดำเนินการต้องตรวจตามมาตรฐาน ตามหลักการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงรวบรวมผักและผลไม้สด (มกษ.9047-2560) โดยพื้นฐานประสิทธิภาพการทำงานต้องเทียบเท่ากรมวิชาการเกษตรหรือเหนือกว่า และต้องได้การรับรองขึ้นทะเบียนสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) มีใบอนุญาตตรวจสอบสินค้าตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2561)

หากเป็นสถาบันการศึกษาต้องดูว่ามหาวิทยาลัยได้ระบุอำนาจหน้าที่ไว้ให้สามารถตรวจสอบและรับรองสินค้าเกษตรด้วยหรือไม่ แต่ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรยังมีโครงการพิเศษที่ยังต้องตรวจ เช่น โครงการพระราชดำริ

ส่วนการกำหนดราคากลางไม่สามารถทำได้ เนื่องจากพื้นที่ของโรงคัดบรรจุมีระยะทางต่างกัน อย่างไรก็ตาม การดำเนินการโอนถ่ายยังคงเป็นไปตามมติ ครม. วันที่ 11 พฤษภาคม 2553 การเปลี่ยนแปลงต้องเป็นไปโดยมติ ครม.

นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี (สวพ.6) กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การถ่ายโอนตรวจรับรองมาตรฐาน GMP ให้ภาคเอกชนเป็นไปตามมติ ครม. วันที่ 11 พฤษภาคม 2553 มีแผนของกรมวิชาการเกษตรมาตามลำดับ ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงอบระบบปิด และโรงอบซัลเฟอร์ได้โอนไปเรียบร้อยแล้ว

ส่วนโรงคัดบรรจุผลไม้ทั้งเปลือกจะโอนในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 การตรวจ GMP จากปกติตรวจปีต่อปี ผู้ประกอบการไม่มีค่าใช้จ่าย แต่กรมวิชาการเกษตรสนับสนุนงบประมาณในการตรวจรายละ 2,500 บาท ข้อมูล สวพ.6 วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 มีโรงคัดบรรจุที่ขอการรับรองกับ สวพ.6 จำนวน 549 แห่ง ผ่านการตรวจรับรอง 442 แห่ง อยู่ระหว่างการตรวจ 107 แห่ง