ลุยแก้วิกฤต “น้ำท่วม-แล้ง” สุโขทัย เร่งผันน้ำจากแม่น้ำยมลงแม่น้ำน่าน

ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง จ.สุโขทัย ซ้ำซาก เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำยมมีมากเกินกว่าที่ จ.สุโขทัย สามารถระบายได้ทัน ทำให้น้ำทะลักเข้าตัวเมือง รวมถึงยังไม่สามารถกักเก็บน้ำได้อย่างเพียงพอ ล่าสุดทางกรมชลประทานจึงได้เร่ง “โครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน” เพื่อเพิ่มการระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากและกักเก็บน้ำในฤดูน้ำแล้ง

2,875 ล้าน แก้ไขน้ำท่วม-แล้ง

นายวชิระ เอี่ยมละออ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 4 เปิดเผยว่า โครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน จ.สุโขทัย วงเงินงบประมาณ 2,875 ล้านบาท (รวมค่าก่อสร้าง ค่าที่ดิน ค่าแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม) ระยะเวลาดำเนินโครงการปี 2564-2567 กรมชลประทานมีเป้าหมายเพิ่มการผันน้ำจากแม่น้ำยมลงแม่น้ำน่าน จากขนาด 250 ลบ.ม./วินาที เป็น 500 ลบ.ม./วินาที สำหรับพื้นที่ได้รับประโยชน์บริเวณ 2 ฝั่งคลอง จำนวน 7,300 ไร่ ประชากรรวม 5,000 กว่าครัวเรือน และมีปริมาณน้ำที่สามารถเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ประมาณ 10 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปริมาณเท่ากับอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กจะช่วยป้องกันปัญหาน้ำแล้งในภาคเกษตรได้ ทั้งนี้ ตามขั้นตอนการดำเนินงาน ทางกรมชลประทานอยู่ระหว่างนำเสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณา เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งตามแผนจะตั้งเรื่องขอใช้งบประมาณก้อนแรกปี 2563 ในการจัดหาที่ดิน ส่วนรายละเอียดโครงการสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของประชาชนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การเพิ่มพื้นที่ชลประทานส่งน้ำเพิ่มเติม เป็นต้น

น้ำท่วมกระทบ ศก. 100 ล้าน

นายไชยงค์ จงอาสาชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 4 กรมชลประทาน กล่าวว่า แม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายหลักที่ยังไม่มีการบริหารจัดการภายในกลุ่มลุ่มน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ จนเกิดปัญหาน้ำไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรไปถึงเทศบาลเมืองสุโขทัย กระทบต่อเศรษฐกิจและสร้างความเสียหายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท/ปี

ดังนั้น กรมชลประทานจึงพิจารณาศึกษาทบทวนโครงการการปรับปรุงคลองยม-น่าน จ.สุโขทัย ให้ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จ.สุโขทัย ใน 2 อําเภอ คือ อ.สวรรคโลก อ.ศรีนคร และ จ.อุตรดิตถ์ ที่ อ.พิชัย ซึ่งต้องบริหารจัดการโดยตัดยอดน้ำบางส่วนในฤดูน้ำหลาก และปรับปรุงคลองหกบาท ให้สามารถรองรับน้ำ ลดปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่ตัวเมืองสุโขทัย บรรเทาปัญหาน้ำยมเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ และสามารถเก็บกักน้ำใช้อุปโภคบริโภคในฤดูแล้งได้

ภาคประชาชนมีส่วนร่วม

นอกจากนี้ กรมชลประทานได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวร สร้างกระบวนการศึกษาทบทวนโครงการในพื้นที่ จ.สุโขทัย และ จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการดำเนินการศึกษาทบทวนและสร้างการรับรู้ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชน ต่อโครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน จังหวัดสุโขทัย จำนวน 3 จุด ได้แก่ 1.ประตูระบายน้ำคลองหกบาท 2.ประตูระบายน้ำคลองตะคร้อ 3.แนวคลองชักน้ำลงแม่น้ำน่าน

โดยลักษณะโครงการ องค์ประกอบการปรับปรุงคลองยม-น่าน จ.สุโขทัย จะมีการปรับปรุงคลองหกบาท ช่วง กม.2+600 ถึง กม.5+700 ให้มีความยาวประมาณ 3.10 กม. จะขุดขยายให้กว้าง 65 เมตร ลึก 5.90 เมตร สามารถรับน้ำได้ 500 ลบ.ม./วินาที ทำคันคลองตลอด 2 ฝั่ง กว้าง 6 เมตร, กม.0+000 ถึง กม.26+000 มีความยาวประมาณ 26 กม. จะขุดขยายให้ท้องคลองกว้าง 33 เมตร ลึก 5.85 เมตร สามารถรับน้ำได้ 300 ลบ.ม./วินาที คันคลองตลอด 2 ฝั่งกว้าง 6 เมตร, กม.26+000 ถึง กม.37+600 มีความยาวประมาณ 11.60 กม. จะขุดขยายให้กว้าง 40 เมตร ลึก 6.70 เมตร สามารถรับน้ำได้ 350 ลบ.ม./วินาที คันคลองตลอด 2 ฝั่งกว้าง 6 เมตร

อีกทั้งยังมีการขุดลอกคลองชักน้ำขนาด 250 ลบ.ม./วินาที อีก 2 แห่ง 1.บริเวณ กม.2+60 ขุดลอกแนวใหม่ประมาณ 400 เมตร ก่อสร้างประตูระบายน้ำแห่งใหม่ เพื่อชักน้ำจากแม่น้ำยมลงคลองหกบาท 2.ขุดลอกจากคลองยม-น่าน ความยาวประมาณ 300 เมตร ก่อสร้างประตูระบายน้ำแห่งใหม่ เพื่อควบคุมน้ำและป้องกันตลิ่งทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำน่าน

นอกจากนี้จะปรับปรุงประตูระบายน้ำ 3 แห่ง ได้แก่ 1.ปตร.ปากคลองตะคร้อ 2.ปตร.วังทอง 3.ปตร.หนองปักประทุ่ม รวมถึงสร้างสะพานรถยนต์กรมทางหลวง 4 แห่ง สะพานรถไฟ 1 แห่ง และปรับปรุงท่อส่งน้ำ 1 แห่ง