‘ทีเส็บ’ ดึง UIA หนุนเชียงใหม่ศูนย์กลางไมซ์ ดันสนามบินแห่งที่ 2-ขนส่งระบบรางรับตลาดโต

“ทีเส็บ” หนุนเชียงใหม่ “ไมซ์ ซิตี้” เต็มสูบ เร่งเครื่องการประชุมระดับนานาชาติเข้าสู่พื้นที่ ล่าสุดดึง UIA สมาคมระหว่างประเทศ 85 องค์กรจากยุโรปจัดประชุม Round Table Asia Pacific 2017 เป็นครั้งแรก พร้อมนำทัพอีเวนท์การประชุมนานาชาติระดับ 1-3 พันคนเข้าสู่เชียงใหม่ตั้งแต่ปลายปีนี้ เผยธุรกิจไมซ์เชียงใหม่เติบโตต่อเนื่อง ขึ้นแท่นอันดับ 6 ของอาเซียน คาดรายได้กลุ่มธุรกิจไมซ์ทั้งประเทศปี’60 แตะ 1.5 แสนล้านบาท ด้านจังหวัดเชียงใหม่ดันโครงการสร้างสนามบินแห่งที่ 2 และขนส่งมวลชนระบบรางรับตลาดโต

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นเมืองศูนย์กลางการประชุมหรือ “ไมซ์ ซิตี้” (MICE City) ที่มีขีดความสามารถและความพร้อมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการจัดอันดับของ International Congress and Convention Association (ICCA) พบว่า ในปี 2559 จังหวัดเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมนาชาติที่เข้าเกณฑ์ของ ICCA จำนวน 20 งาน ซึ่งถือเป็นจำนวนสูงสุดในรอบ 5 ปี ติดอันดับ 6 จาก 21 เมืองทั่วภูมิภาคของอาเซียน ที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม

ล่าสุดทีเส็บได้ดึงการประชุม UIA Round Table Asia Pacific 2017 มาจัดที่เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 21-22 กันยายน ณ โรงแรม เลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มการประชุมระดับคุณภาพ มีผู้เข้าร่วมประชุมราว 100 คน จาก 22 ประเทศ รวม 85 องค์กร โดยผู้เข้าร่วมประชุม UIA ครั้งนี้ถือเป็นลูกค้ากลุ่ม High Quality นับเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่ที่พร้อมรองรับการจัดประชุมนานาชาติ

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทย ทีเส็บคาดการณ์ว่าในปีงบประมาณ 2560 จะมีนักเดินทางกลุ่มไมซ์เข้าสู่ประเทศไทยรวม 27.1 ล้านคน สร้างรายได้ 155,000 ล้านบาท แบ่งเป็นนักเดินทางกลุ่มไมซ์ต่างประเทศ 1,109,000 คน สามารถสร้างรายได้ราว 101,000 ล้านบาท และนักเดินทางกลุ่มโดเมสติกไมซ์ 26 ล้านคน สร้างรายได้ราว 54,000 ล้านบาท โดยตั้งแต่ปลายปีนี้จนถึงต้นปี 2561 ทีเส็บยังได้ดึงงาน E19 ประชุมนานาชาติหลายงานที่จะมาจัดที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ งาน The Federation of Asian Oceania Pest Managers’ Association (FAOPMA) Conference&Pest Summit 2017 ระหว่างวันที่ 22-24 พฤศจิกายน 2560 และงาน 13th International Conference of the Asian Clinical Society 2018 ระหว่างวันที่ 23-25 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้น โดยเป็นการประชุมระดับ 1,000-3,000 คน

นายกฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในรอบ 5 ปี จังหวัดเชียงใหม่เป็นสถานที่รองรับการจัดประชุมนานาชาติเพิ่มมากขึ้น ด้วยศักยภาพที่มีความพร้อมในการรองรับการเป็นเมืองศูนย์กลางการประชุม หรือไมซ์ ซิตี้ ในระดับภูมิภาค และ CLMV ซึ่งด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งสายการบินภายในประเทศและบินตรงเชื่อมกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย ปัจจุบันมีเที่ยวบินให้บริการราว 246 เที่ยวต่อวัน มีสถานที่จัดประชุมและแสดงสินค้าได้ทุกขนาด มีจำนวนห้องพักมากกว่า 30,000 ห้อง

อย่างไรก็ตาม การจะเป็นไมซ์ ซิตี้ ได้อย่างสมบูรณ์แบบนั้น จำเป็นต้องมีระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ซึ่งการเดินทางผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่เพิ่มขึ้นถึง 10 ล้านคนต่อปีแล้ว ล่าสุดท่าอากาศยานเชียงใหม่เตรียมลงทุนก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร (Terminal 2) ในบริเวณท่าอากาศยานนานาชาติเดิม ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม EIA คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้รางปี 2562 และเปิดให้บริการบางส่วนได้ในปี 2565 และจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2568 โดยจะสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้ 24 ล้านคนต่อปี

ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการสร้างสนามบินนานชาติเชียงใหม่แห่งที่ 2 โดยจังหวัดพร้อมผลักดันโครงการนี้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้พร้อมผลักดันระบบขนส่งมวลชนระบบราง โดยเฉพาะระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail) ขณะนี้ผลการการศึกษาการจัดทำแผนแม่บทขนส่งมวลชนในเขตเมืองอยู่ในขั้น Final Report ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาเห็นขอบจาก สนข. รวมถึงโครงการของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างการศึกษาเส้นทางพิเศษเชื่อมพื้นที่ทางตอนเหนือกับตอนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ คาดว่าภายใน 5-10 ปี ระบบโครงสร้างพื้นฐานการเดินทางจะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจเชียงใหม่ในอนาคต

ด้านนายซีริล ริทชี ประธานสมาคม Union of International Associations (UIA) กล่าวว่า การประชุมของ UIA ครั้งนี้ เป็นเวทีสำหรับสมาคมหรือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อให้ได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาการบริหารจัดการองค์กรให้เข้มแข็ง ผ่านการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่าย ซึ่ง UIA มีฐานข้อมูลของสมาคมและองค์การระหว่างประเทศที่มีการจัดประชุมนานาชาติมากถึง 69,000 รายจากทั่วโลก