“ขอนแก่น” เร่ง LRT ลุ้นชัดเจนปลายปี’63

เร่งโครงการ - บริษัท KKTS เร่งร่างเจรจาโครงการนำร่องรถไฟฟ้า LRT สายแรกของจังหวัดขอนแก่น และรออนุมัติผลการศึกษาใหม่ เพราะมีการขยายสนามบินขอนแก่น โรงพยาบาล มีโครงการรถไฟรางคู่และท่าเรือบก มีสถานกงสุลจากต่างประเทศที่จะเข้ามาตั้งอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก คาดว่าจะสามารถลงเสาเข็มได้กลางปี 2563

บริษัท KKTS เร่งร่างสัญญาเจรจาโครงการนำร่องรถไฟฟ้า LRT สายแรกของจังหวัดขอนแก่น นำโดย CKKM Joint Venture และ KLRTT Consortium ชี้ CDB (China Development Bank) สนใจลงทุน 22,000 ล้านบาท พร้อมทบทวนผลการศึกษา สนข.รออนุมัติ 21 สถานี คาดเห็นความชัดเจนปลายปี”63 แต่ยังไม่คอนเฟิร์ม

นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น เปิดเผยว่า สำหรับโครงการสร้างรถไฟฟ้า LRT สายสีแดงสายแรกของขอนแก่น เร็วที่สุดคาดว่าจะสามารถลงเสาเข็มได้กลางปี 2563 แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องรอให้ KKTS ดำเนินการให้เสร็จก่อน ไม่ว่าจะเป็นมติเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก หรือ คจร. เกี่ยวกับการศึกษาสถานีเพิ่มเติมจาก 16 สถานี เป็น 21 สถานี ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ และต้องรออนุมัติที่ดินจากกรมการข้าวที่จะนำมาพัฒนา แต่ยังไม่มีความคืบหน้า รวมไปถึงสัญญาจากผู้ประมูลรับจ้างโครงการที่ยังไม่แล้วเสร็จ และรายละเอียดของโครงการต้องศึกษาเพิ่มเติมเข้าไปด้วย

“ตอนนี้เปิดประมูลรับจ้างดำเนินการแล้วและยังไม่เซ็นสัญญาจนกว่าที่ดินที่เราจะมาพัฒนาได้รับอนุมัติ เราขอความอนุเคราะห์สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีความคืบหน้า หลังจากที่ศึกษาเพิ่มเติมและได้เพิ่มสถานี ได้เปิดรับฟังความเห็นของประชาชนแล้วเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ เราจึงจะเอาผลการศึกษาเพิ่มเติมนี้เสนอกลับไปยัง คจร. ตอนนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอขอความเห็นชอบ”

สำหรับการทบทวนโครงการ พลตรีชาติชาย ประดิษพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ขอนแก่นทรานซิทซิสเต็ม จำกัด หรือ KKTS เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่ได้รับแผนแม่บทโครงการ LRT ขอนแก่นทั้ง 5 สายจาก สนข. และให้ KKTS นำร่องดำเนินโครงการสายสีแดงเป็นสายแรก พบว่าเป็นผลการศึกษาตั้งแต่ปี 2560 ก่อนได้รับอนุมัติปี 2561 กระทั่งปี 2562 มีการเปลี่ยนแปลงไปหลายด้าน จึงจำเป็นต้องทบทวนผลการศึกษาใหม่ในส่วนรายละเอียดประกอบ เช่น มีการขยายสนามบินขอนแก่น ขยายโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มีโครงการรถไฟรางคู่และท่าเรือบก มีสถานกงสุลจากต่างประเทศที่จะเข้ามาตั้งอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา เปรู ฝรั่งเศส เป็นต้น รวมไปถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต

ประเด็นที่ได้ทบทวนเพิ่มคือ 1) ด้วยเหตุผลข้างต้นจำนวนประชากรผู้ใช้บริการจาก 2 หมื่นกว่าคน จะเพิ่มขึ้นเป็น 5-6 หมื่นคน 2) ศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์ควบคุมการเดินรถ เดิมอยู่ทางทิศเหนือตำบลสำราญ หากสายแรกดำเนินการสำเร็จและเริ่มก่อสร้างอีก 4 สาย จะต้องหาศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์ควบคุมการเดินรถใหม่ จึงเป็นเหตุให้เลือกพื้นที่บริเวณกรมการข้าวแทน และยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ได้ 3) การเพิ่มสถานีจากเดิม 16 สถานี เป็น 21 สถานี เพราะต้องรองรับผู้คนที่เข้าไปใช้บริการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ รวมทั้งบุคลากรนิสิตนักศึกษาของ มข.ที่มีร่วมอยู่ 4-5 หมื่นคน

ฉะนั้น หลังจากทบทวนเรียบร้อยแล้วและได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ขั้นตอนต่อไป คือ นำประเด็นที่ทบทวนแล้วส่งถึง สนข. เพื่อให้ คจร.อนุมัติอีกครั้ง ขณะเดียวกันต้องเตรียมการร่างสัญญาผู้รับเหมาก่อสร้างไปด้วย แม้ยังไม่มีการเซ็นหรือผูกพันใด ๆ ทั้งสิ้น นำโดยทุนไทยคือ 1.สัญญาการก่อสร้างและจัดซื้ออุปกรณ์งานระบบ โดย CKKM Joint Venture 2.สัญญาการเดินรถ ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจา กลุ่มที่ได้ไป คือ KLRTT Con-sortium รวมทั้ง 2 สัญญา มูลค่าประมาณ 22,000 ล้านบาท ซึ่งมีข้อเสนอทางการเงินมาด้วยการหาแหล่งเงินให้ โดยเจ้าแรกที่กำลังคุยกันอยู่ตอนนี้คือ (CDB) China Development Bank เป็นแบงก์จากประเทศจีน และยังเปิดรับข้อเสนอจากแบงก์อื่นเพิ่มเติมอีกในอนาคต

“หากสัญญาร่างเสร็จยังไม่เกิดการผูกพันเกิดขึ้น เพราะผลการศึกษาใหม่ที่ส่งทบทวนต้องได้รับอนุมัติก่อน รวมไปถึงเรื่องการส่งมอบที่ดินจากกรมการข้าว การส่งมอบเขตทางกรมทางหลวง เป็นต้น ตอนนี้ต้องดูร่างสัญญาและตกลงกันให้ได้เพื่ออนุมัติจากทางรัฐบาล และต้องรอบคอบทำงานอย่างรัดกุม คาดการณ์ว่าการเจรจาและสัญญาต่าง ๆ รวมถึงการกู้เงินน่าจะใช้เวลาถึงปลายปีจึงจะเห็นเป็นรูปร่าง และสิ่งที่รอการอนุมัติจากภาครัฐน่าจะชัดเจนปลายปี หากเป็นไปตามนี้จะสามารถเซ็นสัญญาและก่อสร้างได้ในปี 2564 แต่ก็ยังไม่รับปากเพราะมีองค์ประกอบหลายอย่าง หากเซ็นสัญญาแล้ว แต่ส่งมอบที่ดินเพื่อก่อสร้างไม่ได้ก็จะเป็นปัญหา”

ด้านนายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) จ.ขอนแก่น ช่วงสำราญ-ท่าพระ ระยะทาง 22.8 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 26,000 ล้านบาท ว่าอยู่ระหว่างเจรจาขอใช้พื้นที่เขตทางของกรมทางหลวง (ทล.) คาดว่าจะเปิดประมูลและได้ผู้รับเหมาก่อสร้างประมาณกลางปี หรือเดือน มิ.ย. 2563 จากนั้นจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี ให้แล้วเสร็จพร้อมเปิดบริการประชาชนประมาณต้นปี 2565 ทั้งนี้ บริษัท ขอนแก่นทรานซิทซิสเต็ม (KKTS) มีแผนจะนำโครงการเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อระดมทุนด้วย