กรมปศุสัตว์ติวเข้มผู้ตรวจรับรองมาตรฐานตามหลักการฮาลาล รุ่น 2

เมื่อเร็วๆนี้ นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอบรมผู้ตรวจรับรองมาตรฐานตามหลักการฮาลาล  ประจำปี 2563 รุ่นที่ 2 โดยมี  นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวางกูล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ พร้อมด้วย รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ ณ โรงแรมเบย์บีท รีสอร์ท พัทยา จ. ชลบุรี

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์  กล่าวว่า ตลอดเวลาที่กรมปศุสัตว์ได้ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลห่วงโซ่การผลิตผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ตั้งแต่อาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูป และสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ เพื่อมุ่งหวังให้ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค จนทำให้ประสบความสำเร็จสามารถส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไปต่างประเทศ สร้างรายได้ทะลุ 2 แสนล้านบาทได้สำเร็จในปี 2558 โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ 3 อันดับ ได้แก่ ไก่เนื้อ ร้อยละ 52 อาหารสัตว์เลี้ยง ร้อยละ 18 และโคนม ร้อยละ 8 ส่วนปัจจัยความสำเร็จครั้งนี้เป็นผลพวงความร่วมมือกันทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงองค์กรศาสนาอย่างสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เนื่องจากมูลค่าการส่งออกไก่เนื้อกว่า 1 แสนล้านบาท เป็นผลผลิตจากโรงเชือดสัตว์ปีกเพื่อการส่งออก ซึ่งเป็นโรงเชือดสัตว์ที่ได้รับรองมาตรฐานฮาลาลทั้งสิ้น

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ ได้ริเริ่มดำเนินโครงการพัฒนา และส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลด้านปศุสัตว์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2556 โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อยอย่างโรงฆ่าสัตว์ และสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ให้มีโอกาสได้ยกระดับในการรับรองมาตรฐานฮาลาล ปีละ 250 แห่ง ผนวกกับในปี 2563 ที่รัฐบาลมีนโยบายต้องการให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก กรมปศุสัตว์จึงได้ขยายขอบข่ายการตรวจรับรองภายใต้โครงการดังกล่าว เพื่อครอบคลุมถึงศูนย์รวบรวมน้ำนม ไข่ไก่ และน้ำผึ้ง รวมทั้งได้เพิ่มเป้าหมายเป็น 300 แห่ง ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพผู้ตรวจรับรองมาตรฐานตามหลักการฮาลาลให้มีความรู้ ความเข้าใจในหลักการปฏิบัติที่ถูกสุขอนามัยและถูกสุขลักษณะ ในการผลิตสินค้าปศุสัตว์ควบคู่ไปกับหลักการฮาลาลนั้น จะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถยกระดับมาตรฐานได้อย่างแท้จริงตามเจตนารมณ์ของหลักการฮาลาลที่ถูกต้องตามหลักศาสนา และปลอดภัยต่อผู้บริโภค นายสัตวแพทย์สมชวน กล่าว

ด้าน นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวางกูล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กล่าวว่า ตามที่กรมปศุสัตว์ได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์จัดทำโครงการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลด้านปศุสัตว์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2556 นั้น ต่อมา กรมปศุสัตว์ได้มีคำสั่งตั้งกลุ่มพัฒนาสินค้าปศุสัตว์ฮาลาล เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักพัฒนาระบบและรองรับมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ เพื่อให้กลุ่มพัฒนาสินค้าปศุสัตว์ฮาลาลมีหน้าที่หลักในการพัฒนา สนับสนุน และส่งเสริมด้านสินค้าปศุสัตว์ฮาลาลของประเทศไทย นอกจากนี้ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามโครงการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลด้านปศุสัตว์ได้อย่างทั่วถึงอีกด้วย  โดยผลการดำเนินการที่ผ่านมา มีการตรวจประเมินให้คำแนะนำโรงฆ่าสัตว์ และสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์กว่า 330 แห่ง และมีการสุ่มเก็บตัวอย่างตรวจการปนเปื้อนดีเอ็นเอสุกรจากสินค้าปศุสัตว์ที่ผ่านการรับรองฮาลาล จำนวน 800 ตัวอย่างทั่วประเทศ ซึ่งหลังจากดำเนินการพบว่า มีผู้ประกอบการด้านปศุสัตว์อื่นๆ เช่น ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ โรงคัดไข่ และโรงผลิตน้ำผึ้ง มีความประสงค์ที่จะขอเข้าร่วมโครงการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลด้านกรมปศุสัตว์เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการนี้จะได้รับบริการตรวจประเมินตามมาตรฐานฮาลาลขั้นต้น (Pre-Audit) จากเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถประเมินศักยภาพและพัฒนาให้ถูกต้องตามเกณฑ์สุขอนามัยควบคู่กับมาตรฐานฮาลาล ก่อนการตรวจรับรองมาตรฐานฮาลาลจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย อีกทั้งผู้ประกอบการยังได้ลดหย่อนค่าธรรมเนียมในการตรวจรับรองฮาลาลร่วมด้วย ซึ่งเป็นผลจากการที่กรมปศุสัตว์ได้จัดสรรงบอุดหนุนค่าธรรมเนียมการตรวจประเมินรับรองมาตรฐานฮาลาลให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบการรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว

นายสัตวแพทย์โสภัชย์  กล่าวเพิ่มเติมว่า ดังนั้น เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานฮาลาลให้ครอบคลุมประเภทสินค้า ปศุสัตว์ตามความต้องการของผู้ประกอบการ จึงต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของผู้ตรวจรับรองฮาลาลให้พร้อมในการทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการได้ ทั้งนี้ เนื่องจากการรับรองมาตรฐานฮาลาล เป็นมาตรฐานที่มีส่วนสำคัญในการผลิตสินค้าของภาคเอกชนให้เป็นสินค้าที่สามารถรองรับกับกลุ่มตลาดที่หลากหลาย นอกจาก ภาคการส่งออกแล้ว กรมปศุสัตว์ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เนื่องจากผลความสำเร็จของการเสริมความเข้มแข็งให้กับตลาดภายในประเทศจะส่งผลโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย