หัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ชง ครม.สัญจรตั้ง “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” โคราช

สัมภาษณ์

ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม โดยจังหวัดใหญ่อย่าง “นครราชสีมา” หรือ “โคราช” มีปัญหาเช่นเดียวกับจังหวัดอื่น “หัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ” ประธานสภาอุตสาหกรรมโคราช ได้มาสะท้อนถึงภาพรวมปัญหาปีนี้ และเปิดแผนพัฒนาโคราช ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงการเร่งผลักดันโครงการต่าง ๆ กับ “ประชาชาติธุรกิจ”

ชี้โครงสร้าง ศก.ไทยบิดเบี้ยว

เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมีตัวเลข GDP เติบโตขึ้นประมาณ 2% ถือว่าเป็นการเติบโตที่ผิดเป้าหมายมาก ภาคการส่งออกติดลบ ส่วนภาคการท่องเที่ยวจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจากเป้าหมายค่อนข้างมาก การใช้จ่ายต่อหัวลดลงมาก ทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักค่อนข้างมีปัญหา ส่วนพืชผลทางการเกษตรราคาไม่ดี และยังประสบกับปัญหาไวรัสโควิด-19 ที่กำลังลุกลามในขณะนี้ อีกทั้งปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้น รัฐบาลพยายามมุ่งเน้นการพัฒนาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ในขณะที่เม็ดเงินที่ลงไปรากหญ้าค่อนข้างมีปัญหา แม้มีโครงการประกันรายได้ช่วยได้เพียงส่วนหนึ่ง ปัญหาภัยแล้งทำให้พืชผลทางการเกษตรลดลง แสดงว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยมีความบิดเบี้ยว ซึ่งรัฐบาลต้องมาดูแลอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

ส่วนปี 2563 คาดว่าสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ แม้ว่าจะมีการเจรจาในระดับหนึ่ง แต่เชื่อว่ายังมีปัญหาอยู่ นอกจากนี้ยังมีปัญหาของอิหร่านและไวรัสโควิด-19 มาซ้ำเติมอีก ฉะนั้น ปัญหาของเศรษฐกิจโลกจะมากขึ้น

ด้านภาคแรงงาน แม้ค่าแรงขั้นต่ำที่โคราชเพิ่มขึ้น จาก 320 บาท เป็น 325 บาท แต่ไม่สามารถชดเชยกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลต้องเข้ามาดูเรื่องราคาสินค้า ไม่ให้ขยับสูงขึ้นตามค่าแรงขั้นต่ำด้วย ส่วนภาคการส่งออกคาดว่าจะไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร ภาคการเกษตรไม่มีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือ ทำให้ราคาพืชผลทางการเกษตรสูงขึ้นได้

ศก.ซบ-โควิดกระทบ รง.ปิด

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมปีที่ผ่านมา ที่มีข่าวปิดโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ถือเป็นเรื่องปกติที่มีการเปิด-ปิดโรงงาน เพื่อให้ตรงตามความต้องการของตลาดอุตสาหกรรม ปัจจุบันโคราชมีโรงงานอุตสาหกรรม 1,700 กว่าราย และมีโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปจีนมีปัญหา เมื่อตลาดการค้าของจีนมีปัญหากับสหรัฐ และเรื่องไวรัสโควิด-19 ทำให้โรงงานที่ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปจำหน่ายในตลาดโลกมีจำนวนลดลง จำนวนการสั่งซื้อชิ้นส่วนจากประเทศไทยลดลงด้วย แต่มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนเพื่อส่งไปขายยังประเทศสหรัฐ มีผลประกอบการที่ดีขึ้น นอกจากนี้ อุตสาหกรรมที่ล้าสมัยต้องปรับเปลี่ยนผลิตสินค้าที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อป้อนสู่ตลาด แต่บางโรงงานมีปัญหาขาดทุนสะสม มีความจำเป็นต้องปิดโรงงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ

“เราเห็นอัตราการเร่งปิดโรงงานมากขึ้น ขณะเดียวกันเห็นโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้น โดยโรงงานใหม่จะรับแรงงานคนรุ่นใหม่ ส่วนแรงงานคนรุ่นเก่าอาจประสบปัญหาทั้งในเรื่องการย้ายถิ่นฐาน แรงงานที่มีอายุการทำงานมาก ถ้าย้ายไปอยู่โรงงานใหม่อาจถูกลดค่าจ้างลง และพนักงานที่มีอายุมากอาจจะมีปัญหาเรื่องการสมัครงานด้วย เพราะบางโรงงานอาจต้องการพนักงานจบใหม่ และมีความสามารถมากขึ้น อาจจะส่งไปอบรม เพราะต้นทุนสูงขึ้น เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ, วัตถุดิบที่สูงขึ้น ในขณะที่ราคาขายสินค้าไม่ได้สูงขึ้นตาม จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน ต้องเปลี่ยนเทคโนโลยีหรือเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ บางโรงงานย้ายไปอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น”

ชงตั้งเขต ศก.หนุน 15 อุตฯเป้าหมาย

สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาจึงเตรียมเสนอโครงการไปยังรัฐบาล เพื่อเสนอให้นครราชสีมาเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs) วัตถุประสงค์ คือ เพื่อให้โรงงานที่อยากย้ายฐานการผลิตให้อยู่ในโคราชต่อไป และเป็นทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนให้มาลงทุนที่จังหวัดนครราชสีมาเพิ่มมากขึ้น

ขณะนี้ได้เสนอโครงการผ่านไปยังคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจระดับจังหวัด (กรอ.จังหวัด) แล้ว ซึ่งในปี 2563 นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะลงมาที่พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จะนำโครงการเสนอ ครม.สัญจรอีกครั้งหนึ่ง

โดยมีการกำหนด 15 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะให้การส่งเสริมในพื้นที่ ประกอบด้วย 1.กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรและกิจการที่เกี่ยวข้อง 2.กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและกิจการที่เกี่ยวข้อง 3.กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักร และชิ้นส่วน 4.กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 5.กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน 6.กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกและไบโอพลาสติก 7.กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องหนัง 8.กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องเรือน 9.กลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ 10.กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิกและดินเผา 11.กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตยาและเครื่องมือแพทย์ 12.อุตสาหกรรมตัดต่อยีนและขยายพันธุ์พืชและสัตว์ 13.กลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ 14.กลุ่มนิคมหรือเขตอุตสาหกรรม 15.กลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนการท่องเที่ยวและบริการ

อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมาจะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเครื่องกล ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เราอยากให้เพิ่มอุตสาหกรรมอาหารมากขึ้น เพราะอุตสาหกรรมอาหารต้องใช้วัตถุดิบในจังหวัด เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ถ้าอุตสาหกรรมอาหารเติบโต ภาคการเกษตรจะเติบโตด้วย ส่งผลดีต่อเกษตรกรชาวจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียงมากยิ่งขึ้น

ดึงเอกชนทุ่ม PPP ท่าเรือบก

สำหรับการผลักดันโครงการท่าเรือบกโคราช ตอนนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และกระทรวงคมนาคม อนุมัติแล้วให้จังหวัดนครราชสีมาจัดตั้งท่าเรือบกได้ เงื่อนไขต้องเป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) ผ่านพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 ซึ่งต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจัดทำรายละเอียดเสนอรัฐบาลอีกครั้งว่าจะให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนอย่างไร ภาครัฐลงทุนอย่างไร ซึ่งอนุมัติมาทั้งหมด 1,800 ไร่ เป็นโครงการที่ใหญ่มาก จังหวัดได้เสนอไปว่า PPP ไม่จำเป็นต้องทำทั้ง 1,800 ไร่ อาจจะทำ 1 ใน 3 ก่อนในเฟสแรก คือ 600 ไร่ แล้วขยายโครงการเป็นเฟสต่อ ๆ ไป เพื่อให้การลงทุนมีความเป็นไปได้ง่ายขึ้น เพราะถ้าลงทุนขนาดใหญ่มีเงินลงทุนมาก นักลงทุนเกิดความลังเล ขณะนี้กำลังดำเนินการของบประมาณในการทำการศึกษา ถ้าได้งบฯมาจะเริ่มทำการศึกษา ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน

ขณะนี้มีภาคเอกชนสนใจที่จะร่วมลงทุนท่าเรือบก 2 กลุ่มแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ต้องรอ PPP รายละเอียดว่าจะเป็นอย่างไร ถ้ามีความชัดเจน คาดว่าทั้ง 2 กลุ่มจะมีการเปิดตัว หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการอนุมัติงบประมาณของรัฐบาล ถ้าอนุมัติงบประมาณมาแล้ว คาดว่าหลังจากนั้น 6 เดือน จะเห็นเป็นรูปร่างมากขึ้น

สำหรับโคราชมีตัวเลขการส่งตู้คอนเทนเนอร์ 1 ปี กว่า 200,000 ตู้เป็นอย่างต่ำ เป็นปริมาณเพียงพอที่นักลงทุนยินดีที่จะร่วมลงทุน ไม่รวมถึงอัตราการเจริญเติบโตในอนาคตด้วย หากสำเร็จจะสอดรับกับการขนส่งระบบรางที่จะเกิดขึ้น คือ รถไฟทางคู่ จะเปลี่ยนโฉมระบบขนส่งทางรางของประเทศ เพราะเอกชนสามารถมาลงทุนในด้านการขนส่งทางรางได้ จะไม่ถูกผูกขาดโดยการรถไฟฯอีกต่อไป

อนาคตไม่กี่ปีข้างหน้า หากโครงสร้างพื้นฐานเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาลทั้งมอเตอร์เวย์, รถไฟทางคู่, รถไฟความเร็วสูงแล้วเสร็จ จะเปลี่ยนโฉมโคราชไปอย่างสิ้นเชิง จะเกิดการเติบโตทั้งในด้านการท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ บันเทิง และด้านอื่น ๆ อีกมากมาย โครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเหล่านี้ที่รัฐบาลจัดให้จังหวัดนครราชสีมาเองต้องเตรียมความพร้อมในการต่อยอด ต้องมีโครงการที่จะรองรับให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาจังหวัดให้เติบโตมั่นคงต่อไป