โควิด-19 ดันธุรกิจฟันปลอมพันล.พุ่ง “เอ็กซาซีแลม” ลุยเพิ่มกำลังผลิต 100% ส่งยุโรป

สมาคมทันตกรรมประดิษฐ์ไทยเผยธุรกิจทำฟันปลอมไทยได้อานิสงส์ไวรัสโควิด-19 ระบาดในจีน ทันตแพทย์ในต่างประเทศแห่ย้ายฐานผลิตหลายพันล้านบาทมาไทย “เอ็กซาซีแลม” ผู้ผลิตรายใหญ่ใน จ.เชียงใหม่ ออร์เดอร์ผลิตจากยุโรป-เยอรมนี-เดนมาร์ก-นอร์เวย์ และอีกกว่า 10 ประเทศพุ่งวันละ 1,800 คน เผยปี 2563 เตรียมลงทุนอีก 55 ล้าน ขยายสถานที่และเครื่องจักร ตั้งเป้าเติบโตปีนี้ 15% พร้อมวาดแผนขยายฐานการผลิตครอบคลุมอาเซียนภายใน 2-3 ปี

ผศ.ทพ.ชัชชัย คุณาวิศรุต อาจารย์ประจำภาควิชาทันตกรรมทั่วไปขั้นสูง มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะนายกสมาคมทันตกรรมประดิษฐ์ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีแล็บทำฟันปลอมหลายแห่งกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ และแล็บขนาดใหญ่พยายามขยายงานไปต่างประเทศ เพราะภาพรวมตลาดประเทศไทยยังเล็ก ที่สำคัญ ค่าใช้จ่ายแล็บทำฟันปลอมในเอเชียมีราคาถูกกว่าแล็บในอเมริกา และยุโรป 4-5 เท่า ทำให้ทันตแพทย์ที่อยู่ในต่างประเทศเริ่มหันมาใช้งานแล็บในฝั่งเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศจีน แต่เมื่อจีนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทันตแพทย์จึงหันมาใช้บริการของประเทศไทย ทั้งนี้ คาดว่าภาพรวมธุรกิจทำฟันปลอมมีมูลค่าหลายพันล้านบาท

“ทันตกรรมประดิษฐ์มี 2 อย่าง คือ ฟันปลอมแบบถอดได้ และแบบครอบฟันเป็นซี่ ๆ การทำฟันปลอมถือเป็นงานศิลปะ เรียกว่าเป็นการผลิตตามคำสั่งเฉพาะของลูกค้า (custom made) ค่าแล็บทันตกรรมคิดจากทันตแพทย์ในการว่าจ้างผลิตครอบฟันมีหลายประเภท ถ้าช่างระดับโลกที่อยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เฉพาะค่าแล็บต่อซี่ บางคนออกมา 30,000 กว่าบาทต่อซี่ ถ้าช่างมือระดับรอง ๆ ลงมาราคา 15,000 บาท เทียบกับราคาเมืองไทยประมาณ 4,000-5,000 ต่อซี่ แต่ราคานี้ยังไม่ได้รวมค่าวัสดุต่าง ๆ แต่ถ้าเมืองจีนราคาจะถูกลงไปอีก” ผศ.ทพ.ชัชชัยกล่าว

เอ็กซาซีแลมเพิ่มผลิต 100%

นายอนุชา มีเกียรติชัยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กซาซีแลม จำกัด ผู้ผลิตฟันปลอมและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในทางทันตกรรมรายใหญ่ ท็อป 5 ของอาเซียน มีฐานการผลิตใหญ่อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีน ทำให้หลายเมืองของจีนต้องถูกปิด และกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ต้องหยุดชะงัก ไม่ว่าจะเป็นการผลิตและการซื้อขาย ทั้งนี้ ประเทศจีนนับเป็นฐานการผลิตในกลุ่มธุรกิจแล็บทันตกรรมที่ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการผลิตฟันปลอมในจีน ต้องหยุดการผลิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ลูกค้าจากหลายประเทศโดยเฉพาะในแถบยุโรปที่เป็นลูกค้าหลักของจีน ได้หันมาสั่งซื้อสินค้าจากทางบริษัทแทน ทั้งเยอรมนี เดนมาร์ก และนอร์เวย์

“ขณะนี้แล็บทันตกรรมของเรามีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัวในช่วงเกือบ 2 เดือนที่เกิดการระบาดของโควิด-19 มีกำลังการผลิตเต็ม 100% เราผลิตฟันปลอมให้กับลูกค้าตามออร์เดอร์อยู่ที่ราว 1,800 คนต่อวัน ซึ่งยังมีอีกกว่า 10 ประเทศที่ติดต่อมาเพื่อให้ทางบริษัทผลิตฟันปลอมให้ แต่ไม่สามารถรับออร์เดอร์ได้ เนื่องจากเต็มกำลังการผลิตแล้ว”

ลดความเสี่ยงไม่พึ่งพาตลาดจีน

นายอนุชากล่าวว่า ลูกค้ากลุ่มยุโรปถือเป็นลูกค้ากลุ่มหลักและเป็นตลาดใหญ่ของจีน ซึ่งแล็บทันตกรรมรายใหญ่ที่สุดของจีนเพียงแล็บเดียวมีพนักงานมากถึง 8,000 คน และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลาย ๆ ประเทศในยุโรปที่เคยส่งงานให้จีนผลิต ต้องมองหาแล็บทันตกรรมรายใหม่ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาจีนเพียงตลาดเดียวมาโดยตลอด ซึ่งทำให้ทางบริษัทมีลูกค้ากลุ่มใหม่เพิ่มขึ้น แม้ราคาสินค้าของทางบริษัทจะสูงกว่าผู้ผลิตในจีน แต่ในด้านการผลิตของเอ็กซาซีแลมถือว่ามีมาตรฐานในระดับสากลที่ลูกค้ายอมรับและเชื่อมั่น

ปัจจุบันเอ็กซาซีแลมถือเป็นแล็บทัตกรรมรายใหญ่ 1 ใน 5 ของอาเซียน (top 5) มีพนักงานทุกสาขารวมทั้งสิ้น 870 คน มีสัดส่วนตลาดในประเทศ 65% และส่งออกต่างประเทศ 35% ซึ่งที่ผ่านมาฐานลูกค้าในประเทศเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากผู้บริโภคสามารถเข้าถึงการรักษาทางทันตกรรมได้ง่ายและสะดวกขึ้น ทั้งจากการสนับสนุนด้านประกันสังคมของภาครัฐ รายได้ประชากรและกำลังซื้อที่สูงขึ้น ขณะที่ตลาดส่งออกก็เติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน มีฐานลูกค้าในต่างประเทศราว 17 ประเทศ ทั้งยุโรป อาเซียน เอเชีย และอเมริกา โดยกำลังการผลิตของแล็บทันตกรรมที่เชียงใหม่เพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 100% ขณะที่สาขาอื่น ๆ ได้แก่ สาขาเชียงราย พิษณุโลก กรุงเทพฯ นครสวรรค์ อุดรธานี อุบลราชธานี และชลบุรี มีกำลังการผลิตราว 85% ส่วนสาขากรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ที่ได้ขยายสาขาไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีกำลังการผลิตราว 80%

“ตลาดฟันปลอมในประเทศและตลาดส่งออกของเอ็กซาซีแลมเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งนอกจากเราจะผลิตฟันปลอมทุกประเภทแล้ว เรายังผลิตวัสดุทางทันตกรรมให้กับคลินิกทันตกรรม เช่น mask หลอดดูดน้ำลาย ฯลฯ โดยในปี 2562 มีอัตราการเติบโตในภาพรวม 18% และปี 2563 บริษัทตั้งเป้าการเติบโตเบื้องต้นไว้ที่ 15% แต่คาดว่าจะเติบโตเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากออร์เดอร์ของลูกค้ายุโรปที่เคยส่งงานให้จีน ได้ส่งงานมาให้เราจำนวนมากในช่วงนี้ ซึ่งทำให้ธุรกิจแล็บทันตกรรมของเอ็กซาซีแลมมีโอกาสทางการตลาดมากขึ้น”

นายอนุชากล่าวต่อว่า ในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้พัฒนาการผลิตมาโดยตลอด โดยมุ่งนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิตงานทันตกรรมทุกรูปแบบในทุกขั้นตอน ซึ่งในปี 2562 ได้ลงทุนในระบบเทคโนโลยีดิจิทัลราว 30 ล้านบาท เป็นเทคโนโลยีระบบ digital workflow 3D printer การออกแบบ การดีไซน์ด้วยระบบดิจิทัล เครื่องจักรอัตโนมัติ (automation) ที่สามารถทดแทนคนได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิตให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว แม่นยำ ตรวจสอบได้ สามารถรองรับงานจากลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2563 บริษัทเตรียมลงทุนขยายอาคารสถานที่สำหรับแล็บทันตกรรมที่เชียงใหม่ 40 ล้านบาท และซื้อเครื่องจักรเพิ่ม 15 ล้านบาท รวมเงินลงทุนที่จะขยายการลงทุนในปีนี้ 55 ล้านบาท

ปัจจุบันเอ็กซาซีแลมมีสาขาแล็บทันตกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อรองรับให้บริการคลินิกทันตกรรม โรงพยาบาลในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น เช่น สาขาเชียงใหม่ จะรองรับบริการในพื้นที่จังหวัดลำปาง แม่ฮ่องสอน ลำพูน อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน สาขาเชียงราย รองรับบริการลูกค้าจากประเทศเมียนมา และในพื้นที่เชียงรายและใกล้เคียง สาขาพิษณุโลกและสาขานครสวรรค์ ให้บริการในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง สาขาอุดรธานี จะให้บริการจังหวัดอีสานเหนือ รวมถึงประเทศลาว ขณะที่สาขาอุบลราชธานี รองรับบริการพื้นที่อีสานใต้และประเทศลาว สาขาชลบุรี ให้บริการพื้นที่ภาคตะวันออก สาขากรุงเทพฯ รองรับบริการในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล


อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีแผนขยายสาขาแล็บทันตกรรมเอ็กซาซีแลมไปยังประเทศกลุ่มอาเซียนให้ครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งนอกจากสาขากัมพูชาที่มีอยู่แล้ว ประเทศต่อไปที่คาดว่าจะลงทุนในอีกราว 2-3 ปีข้างหน้า คือ มาเลเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง และยังสามารถรองรับลูกค้าจากประเทศสิงคโปร์ได้พร้อม ๆ กันด้วย