“โมเดอร์นฯ-ไทยนิปปอน” รับมือภัยแล้ง ตั้งเป้าลดใช้น้ำเขต EEC ลง 30-50%

ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันหลายภาคของประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปีนี้มีปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงจนต้องดึงน้ำจากจังหวัดจันทบุรีมาใช้ ทำให้หลายองค์กรเริ่มมีการทบทวนการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพอย่างจริงจัง โดยเฉพาะบรรดาโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลาย

ล่าสุดทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนทุนในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เป้าหมาย (spearhead) ด้านสังคม แผนงานบริหารจัดการน้ำ นำร่องในเขตพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร และ EEC พร้อมกับนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้า

ตั้งเป้าลดใช้น้ำ 20% ใน EEC

รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (spearhead) ด้านสังคม การบริหารจัดการน้ำ กล่าวว่า แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (spearhead) ด้านสังคม การบริหารจัดการน้ำ เป็นรูปแบบทุนวิจัยแบบใหม่ที่มีการออกแบบบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำในทุกระดับ เพื่อให้เกิดการสร้างองค์ความรู้การใช้น้ำ และปรับพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างประหยัด โดยมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ คือ ลดค่าเฉลี่ยการใช้น้ำในทุกภาคส่วน ทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือนลง 15% และปริมาณน้ำที่นำไปใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำต้นทุนต่าง ๆ

รวมถึงเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนเป็น 85% จากเดิมอยู่ที่ 65% ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยจะเริ่มนำร่องในพื้นที่โครงการท่อส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง (คบ.ท่อทองแดง) สำนักชลประทานที่ 4 จังหวัดกำแพงเพชร และโครงการในพื้นที่ EEC ทั้ง 3 จังหวัด

คาดว่าภายหลังการดำเนินงานแผนการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC แล้วเสร็จ จะสร้างสมดุลน้ำ สามารถลดการใช้น้ำได้ 20% รวมถึงการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและคู่มือลดความขัดแย้งใน EEC

ท่องเที่ยวซบแต่ยอดใช้น้ำไม่ลด

รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ในฐานะหัวหน้าโครงการ และหัวหน้ากลุ่มวิจัยแผนงานการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC กล่าวว่า อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในพื้นที่ EEC จะมีการบำบัดน้ำเสียนำกลับมาใช้ใหม่ บางแห่งสามารถลดการใช้น้ำลงได้มากกว่า 15% แต่จากนี้ไปในการบำบัดน้ำเสียจะเพิ่มให้เป็นระบบการจัดการน้ำอัจฉริยะมากขึ้นกับทุกภาคส่วน ทั้งน้ำเสียในภาคบริการ ชุมชน เกษตร และอุตสาหกรรม โดยการจัดการน้ำด้วยหลัก 3R คือ reduce reuse recycle เพื่อลดการใช้น้ำและนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้น้ำต่อหัวสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน การใช้น้ำต่อหัวสูงกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย

รศ.ดร.บัญชา กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน จ.ชลบุรีมีการใช้น้ำแบ่งเป็นเพื่ออุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยว 31% ภาคเกษตร 25% และภาคอุตสาหกรรม 43% ในจำนวนนี้แบ่งเป็น บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ นำน้ำไปใช้ 8%

ทั้งนี้ โรงงานอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี ใช้น้ำจากอีสท์ วอเตอร์ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2561 อยู่ที่ 35 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ปี 2558 อยู่ที่ 83 ล้าน ลบ.ม. ทำให้เห็นว่าโรงงานอุตสาหกรรมใน จ.ชลบุรีมีการพัฒนาบ่อสำรองน้ำของตนเองและมีระบบ 3R

แต่การใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคยังอยู่ในระดับสูง ถึงแม้การท่องเที่ยวจะซบเซาแต่การใช้น้ำส่วนนี้กลับลดลงเพียงเล็กน้อย ดังนั้น จึงต้องมีมาตรการลดการใช้น้ำในภาคการอุปโภคบริโภคและบริการอย่างเร่งด่วน

“โมเดอร์นฯ” รง.ไม่ปล่อยน้ำเสีย

การลงพื้นที่ครั้งนี้มีเป้าหมายติดตามความก้าวหน้าในการทำงานของ 2 บริษัท เริ่มจากบริษัท โมเดอร์น ไดสตัฟส์ แอนด์ พิคเมนท์ส จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตสีย้อม เปิดบริการมากว่า 25 ปี ปัจจุบันมีพนักงาน 180 คน มีกำลังการผลิตกว่า 20,000 ตันต่อปี ที่ตั้งอยู่ในเขตชุมชน ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี

นายบุญเหลือ อักษรเลิศสวัสดิ์ รองประธานกรรมการ บริษัท โมเดอร์น ไดสตัฟส์ แอนด์ พิคเมนท์ส จำกัด กล่าวว่า สัดส่วนการใช้น้ำของบริษัทแบ่งเป็นการผลิต 70% และอุปโภคบริโภค 30% โดยน้ำที่ผ่านการผลิตจะเข้าระบบการบำบัดน้ำเสียแบบระเหยแห้ง 60% และเข้าระบบบำบัดแบบแยกสารเคมี 40% หลังผ่านระบบบำบัดน้ำเสียจะถูกนำมาใช้ใหม่ในการผลิต โดยมีความมุ่งมั่น

จะเป็นโรงงานที่ไม่ปล่อยน้ำเสียออกจากโรงงาน ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2558-2562 บริษัทมีการใช้น้ำลดลง 32% โดยปี 2562 อยู่ที่ 70,000 ลบ.ม.ปริมาณน้ำต่อผลิตภัณฑ์ลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันใช้น้ำอยู่ที่ 23 ลบ.ม.ต่อผลิตภัณฑ์ 1 ตัน

ทั้งนี้ ได้แบ่งการใช้งานน้ำเป็น 3 ประเภท 1.น้ำดิบใช้ในการล้างเครื่องจักร 2.น้ำที่มีแร่ธาตุต่ำถูกนำไปผลิตและอุปโภคบริโภค 3.น้ำที่ผ่านระบบรีเวิร์สออสโมซิส (RON) จะใช้ในการผลิต

นายบุญเหลือ กล่าวต่อไปว่า บริษัทได้กำหนดเป้าหมายลดการใช้น้ำให้เหลือ 10% กำหนดโครงการเพิ่มเติมอีก 4 โครงการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ 1.การใช้เครื่องแรงดันน้ำในการล้างเครื่องจักรทำให้ใช้น้ำน้อยลง 2.การปรับปรุงคุณภาพน้ำดิบ 3.การปรับเปลี่ยนเครื่องระบบบำบัดน้ำ RO ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้สัดส่วนของน้ำดีเป็น 60% จากเดิมเพียง 40% 4.นำน้ำเสียจากระบบบำบัดน้ำ RO ที่มีเกลือแร่สูงนำกลับมาใช้ล้างเครื่องจักร ทั้งนี้ งบประมาณสร้างระบบบำบัดน้ำเสียแบบระเหยแห้งอยู่ที่ 60 ล้านบาท เริ่มใช้งานมาตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งน้ำเสียที่เข้าระบบนี้ได้สัดส่วนน้ำดิบ 75% และของแข็ง 25% ได้แก่ เกลือ และเม็ดสี เป็นวัตถุดิบที่สามารถนำกลับไปใช้ในขั้นตอนการผลิตได้

โดยค่าบำบัดน้ำเสียในระบบนี้อยู่ที่ 280 บาทต่อน้ำ 1 ลบ.ม. มีกำลังการผลิต 250-300 ลบ.ม.ต่อวัน โดยขั้นตอนการผลิตของบริษัททำให้มีน้ำเสียต่อวันอยู่ที่ 205 ลบ.ม.ต่อวัน เป็นความเข้มข้นต่ำ 130 ลบ.ม.ต่อวัน และความเข้มข้นสูงอยู่ที่ 75 ลบ.ม.ต่อวัน

“ไทยนิปปอน” ชูลดใช้น้ำ 55%

บริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตถุงยางอนามัย ยี่ห้อ One touch, Play boy ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง จ.ชลบุรี เป็นอีกบริษัทที่ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตถุงยางอนามัยอยู่ที่ 1,959 ล้านชิ้นต่อปี

นายจักรพงค์ ชูพยัคฆ์ ตัวแทนฝ่ายบริหารด้านการจัดการพลังงาน บริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้วางเป้าหมายลดปริมาณการใช้น้ำลง 55% ภายในปี 2563 โดยมี 5 ขั้นตอน คือ 1.ปรับกระบวนการไหลของน้ำจาก 480 มล.ต่อนาที เหลือ 240 มล.ต่อนาที ช่วยลดน้ำในส่วนการผลิตตรงขั้นตอน ทำให้ผลิตภัณฑ์แข็งตัว (diping) 50% 2.ลดการใช้น้ำจาก 4 หัวจ่ายให้เหลือ 2 หัวจ่าย ช่วยลดปริมาณน้ำได้ 40 ลบ.ม.ต่อวัน 3.นำน้ำกลับมาใช้ใหม่ 1 หัวจ่าย ช่วยลดปริมาณน้ำได้ 50 ลบ.ม.ต่อวัน 4.นำน้ำจากระบบบำบัดน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ 5.เก็บน้ำฝนและนำน้ำมาใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งได้ดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562

สัดส่วนการใช้น้ำปี”61 และปี”62 อยู่ที่ 113,000 ลบ.ม. เป็นการใช้น้ำในขั้นตอนการผลิต 47% และอุปโภคบริโภค 48% อื่น ๆ 5% ทั้งนี้ ได้ติดตั้งมิเตอร์น้ำเพิ่มอีก 11 เครื่องจากเดิม มีอยู่ 10 เครื่อง เพื่อสามารถควบคุมน้ำในแต่ละส่วนได้ดีขึ้น ปัจจุบันใช้น้ำอยู่ที่ 0.097 ลิตรต่อยอดการผลิตถุงยางอนามัย 1 ปอนด์ จากเดิมที่ 0.2 ลิตร