Hot Spot “ขอนแก่น-เลย-โคราช” พุ่ง

รายงาน

ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ถึงปัจจุบันดูเหมือนว่าปัญหาหมอกควันพิษจากการเผาป่า การเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมีความรุนแรงมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา เห็นได้จากพื้นที่การถูกเผาขยายวงกว้างจากพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไปสู่ภาคตะวันออก หลายจังหวัดมีคุณภาพอากาศที่ยjำแย่ถึงขั้นมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน สะท้อนผ่านรายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศประเทศไทยของกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ

กรมจี้ ผวจ.อีสานคุม PM 2.5

โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ล่าสุดผู้สื่อข่าว รายงานว่า นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้ทำหนังสือไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรื่องขอแจ้งเตือนการเพิ่มสูงขึ้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก และขอให้ควบคุมการเผาในพื้นที่อย่างเร่งด่วน หลังจากกรมควบคุมมลพิษได้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์หมอกควัน และพบแนวโน้มการเพิ่มสูงขึ้นของฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกินเกณฑ์มาตรฐาน (ค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

สอดคล้องกับการเพิ่มสูงขึ้นของจำนวนจุดความร้อน (hot spot) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมไปถึงจุดความร้อนบริเวณชายแดนไทย-ลาว และจุดความร้อนใน สปป.ลาว ซึ่งกรมควบคุมมลพิษได้ประสานไปยังสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ตามข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน เน้นย้ำสถานการณ์ปัญหาการเพิ่มขึ้นของจุดความร้อน ฝุ่นละออง PM 2.5 และเรียกร้องให้ทุกประเทศในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงแก้ไขปัญหาจุดความร้อนและหมอกควันข้ามแดนอย่างจริงจังและเร่งด่วน พร้อมขอความอนุเคราะห์ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดำเนินการควบคุมการเผาในที่โล่งและลดจุดความร้อนอย่างเร่งด่วน เพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” พร้อมทั้งเตรียมการในการบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพของประชาชน

ขอนแก่น-เลย “เผาอ้อย” หนัก

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ในจังหวัดขอนแก่นส่วนใหญ่มาจากการเผาไร่อ้อย แต่ปีนี้สภาพอากาศไม่เหมาะสมทำให้ผลผลิตอ้อยลดลงกว่า 40% จึงมีการปิดหีบอ้อยเร็วกว่าปกติตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันการเผาลดน้อยลงกว่าช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เหลือเพียงการเผาไหม้พืชสวนไร่นา และเกิดจากสภาพความแห้งแล้ง แต่ได้สั่งการให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 รายงานจุดความร้อนในจังหวัดและอีก 9 จังหวัดโดยรอบ ได้แก่ ขอนแก่น หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา อุดรธานี เลย และชัยภูมิ อยู่เป็นระยะ รวมถึงทิศทางลมเพื่อส่งสัญญาณบอกจังหวัดข้างเคียงให้รับรู้ถึงสถานการณ์ในระดับภาค และสามารถประสานงานได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ มาตรการแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่นถาวรมีอยู่ 2 มาตรการ ได้แก่ 1) ปลูกต้นไม้ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านต้นกระจายทุกอำเภอภายใน 3 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 ปัจจุบันปลูกไปแล้ว 209,000 ต้น 2) ลดต้นตอการเผาไหม้ด้วยการทำเสวียน หรือการนำไม้ไผ่มาล้อมรอบโคนต้นไม้ แล้วนำเศษใบไม้ใบหญ้ามาใส่ไว้ ซึ่งทำไปแล้ว 16,700 เสวียน คิดเป็นใบไม้ที่อยู่ในเสวียนกว่า 3,888 ตัน ใบไม้เหล่านี้หากเผาจะทำให้เกิดฝุ่นละอองลอยไปในอากาศ 5,300 กว่ากิโลกรัม นอกจากนี้ มีการทำแนวกันไฟ ช่วงฤดูแล้งเฝ้าดูค่าดัชนีวัดคุณภาพอากาศ (AQI ) หากเกิน 100 ติดต่อกัน 2 วัน จะระดมพ่นน้ำทุกอำเภอ

นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เปิดเผยว่า ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 จังหวัดเลยปัจจุบันลดลงจากเดือนที่แล้วเป็นอย่างมาก เพราะโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ได้ปิดการหีบอ้อยไปแล้ว ทั้งนี้ ทางจังหวัดได้รณรงค์ให้ลดการเผาให้น้อยลง และเมื่อเกิดไฟป่าได้วางกำลังผู้ใหญ่บ้านพร้อมชุดเคลื่อนที่เร็วเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้ทันท่วงที พร้อมทั้งทำแนวกันไฟอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้ หากมีปัญหาฝุ่นควันเกิดขึ้นมาอีกครั้งทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้ากากอนามัยแจกให้ประชาชนทุกคนในจังหวัด โดยตั้งเป้าไว้ 1 คน ต้องมีหน้ากากอนามัย 2 ชิ้น

โคราชคุม 47 รง.เสี่ยงมลพิษ

ขณะที่จังหวัดนครราชสีมามีค่า PM 2.5 พุ่งสูงเช่นกัน โดย นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาปริมาณค่าฝุ่นละอองในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาสูงเกินค่ามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง โดยมีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สาเหตุหลักมีอยู่ 3 ประการ คือ การเผาพื้นที่การเกษตรหรือการเผาป่า การก่อสร้างและสภาพการจราจรบนท้องถนน ขณะนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ขนส่ง และฝ่ายปกครองในพื้นที่ทั้ง 32 อำเภอดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ทั้งการตรวจจับกุมรถยนต์ที่มีควันดำเกินค่าที่กฎหมายกำหนด และการจับกุมเกษตรกรที่ลักลอบเผาพื้นที่เกษตร นอกจากนี้ ได้ตั้งรางวัลนำจับ 5,000 บาทให้กับผู้ที่แจ้งเบาะแสจับกุมคนที่ลักลอบเผาพื้นที่การเกษตร พร้อมสั่งการให้จัดชุดเจ้าหน้าที่เฉพาะกิจออกตรวจโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่ได้ขึ้นบัญชีไว้ 47 โรงงาน ซึ่งเป็นโรงงานที่เสี่ยงต่อการปล่อยฝุ่นละอองพิษในอากาศ เพื่อควบคุมปริมาณค่าฝุ่นละอองเกินกว่ามาตรฐาน

ขณะที่บริเวณป้อมเมืองย่าตรงข้ามห้างสรรพสินค้าไอทีพลาซ่า เขตเทศบาลนครนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้นำเครื่องกำจัดฝุ่น PM 2.5 ด้วยระบบไอออนประจุไฟฟ้าไปติดตั้งไว้ เครื่องดังกล่าวทำงานคล้ายเครื่องฟอกอากาศเพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ สามารถกำจัดฝุ่นละอองได้ 100,000 ไมโครกรัมต่อชั่วโมง เทียบเท่าประสิทธิภาพของต้นไม้ขนาดกลางจำนวน 510 ต้น มีประสิทธิภาพในการกำจัดฝุ่นในพื้นที่ประมาณ 1,000 ตารางเมตรโดยรอบ

เชียงรายฮอตสปอตต่ำฝุ่นพิษพุ่ง

ด้านจังหวัดเชียงรายประสบปัญหาหมอกควันหนักในทุกปี โดยเฉพาะปีนี้มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจอย่างเห็นได้ชัด ล่าสุด นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้มีการเรียกประชุมด่วน และได้สรุปสถานการณ์ว่า ปัจจุบันอัตราการเกิดจุดความร้อนของเชียงรายลดต่ำลงมากที่สุดในภาคเหนือ โดยเฉพาะ อ.แม่ลาว ไม่พบจุดฮอตสปอตเลยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 แต่ปรากฏว่าค่าฝุ่นละอองเกินกว่าค่ามาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพ อ.เมืองเชียงราย มีมากถึง 20 วัน และ อ.แม่สาย มีกว่า 37 วัน และช่วงนี้ถือว่ามีค่า PM 2.5 สูงมาก ทางจังหวัดเชียงรายยังใช้มาตรการปิดป่า การห้ามเผาตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.-21 เม.ย.นี้ต่อไปอย่างเข้มข้น

ว่าที่ ร.ต.ณรงค์ โรจนโสทร รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย กล่าวว่า ช่วง 2 วันที่ผ่านมาพบว่าค่าฝุ่นละอองสูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ และตัวเลขความปลอดภัยต่อสุขภาพเป็นสีแดงทั่วทั้งจังหวัด ทั้ง ๆ ที่ดาวเทียมทั้งระบบโมดิสและระบบเวียร์ตรวจพบฮอตสปอตในพื้นที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค. อธิบายได้ว่าสาเหตุของค่าฝุ่นละอองที่สูงขึ้นเกิดจากสิ่งใด

ดังนั้น ต้องเร่งฟื้นฟูโครงการที่เคยประกาศไว้ เช่น การจัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัยหรือเซฟโซนในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล 215 แห่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 144 แห่ง และอื่น ๆ เพื่อรองรับสถานการณ์ รวมทั้งให้ทุกหน่วยงานยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้ให้ทุกท้องที่ฉีดพ่นน้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้นในอากาศอย่างต่อเนื่องแล้ว