แถลงข่าวยืนยัน พบผู้ป่วยโควิด19 รายแรก อาการหนัก รับเข้ารักษาตัว รพ.สุราษฎร์ธานี

ที่ห้องประชุมตาปี ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยนายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี และนายแพทย์มนู ศุกลสกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดโรค โควิด19 หลังพบผู้ป่วยรายแรก อาการหนัก เข้ารับการรักษา ที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี 1 ราย พร้อมแถลงมาตรการควบคุมโรค มาตรการรองรับการระบาดของโรค และสถานการณ์ล่าสุดของโรคในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

โดยก่อนหน้านี้ ทางจังหวัดได้มีมาตรการคุมเข้ม ในท่าอากาศยาน 2 แห่ง และท่าเรือ 4 แห่งทั้งท่าเรือไปยังเกาะต่างๆ และ ท่าเรือในเขื่อนรัชชประภา พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า ล้างมือ และลดการเข้าที่ชุมชน อย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์มนู ศุกลสกุล นายแพทย์สาธารณสุข กล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้ เป็นชายไทยอายุ 49 ปี อาชีพรับเหมา ไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ แต่มีหุ้นส่วนธุรกิจเป็นชาวมาเลเซีย เริ่มมีอาการป่วย วันที่ 8 มีนาคม ในพื้นที่ จังหวัดชายแดนใต้ และวันที่ 9 มีนาคม ได้เดินทางจากจังหวัดชายแดนใต้มายังจังหวัดสุราษฎร์ธานีคนเดียว ด้วยรถยนต์ส่วนตัวมาถึงสุราษฎร์ธานีช่วงค่ำ วันที่ 10 มีนาคม พักอยู่บ้าน และวันที่ 11 มีนาคม เข้ารับการรักษาที่ รพ.เอกชน อาการไม่ดีขึ้น ส่งต่อมายัง รพ.สุราษฎร์ธานี มีประวัติ สงสัยติดเชื้อไวรัส โควิด 19 จึงส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งผลตรวจครั้งที่ 1 ออกเมื่อ วันที่ 15 มีนาคม เวลา 21.44 น.หลังจากนั้นได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี

16 มีนาคม ทีมสอบสวนโรคเริ่มประชุมวางแผน ลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูล ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยรายนี้ ซึ่งแบ่งเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งสิ้น 37 คน อาทิคนในครอบครัว แพทย์ พยาบาลโรงพยาบาลเอกชน ที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาช่วงแรก ซึ่งกลุ่มนี้จะถูกกักตัวที่บ้าน 5 วันนับจากวันที่สัมผัสผู้ป่วย หลังจากนั้น จะส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ 54 คน ให้สังเกตอาการตัวเอง ถ้ามีความผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรค มาตรการต่างๆที่ดำเนินไปแล้ว ถือว่าครอบคลุมตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

ด้านนายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี อาการของผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ที่จะต้องตรวจวินิฉัย โควิด 19 เนื่องจาก พบปอดอักเสบโดยไม่มีสาเหตุ โดยต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ 2 แห่ง จึงจะยืนยันว่าเป็น โควิด 19 กรณีนี้ เมื่อรับเข้ารักษา พบว่าไข้สูง หายใจเหนื่อย จำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และเครื่องช่วยหายใจ เข้ารักษาในห้องความดันลบตั้งแต่เริ่มต้น ผู้ป่วยได้รับยาฆ่าเชื้อไวรัส และเชื่อแบคทีเลีย จนถึงวันนี้ อาการไข้ลดลง แต่ยังต้องใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ โดยผู้ป่วยมีโรคประจำตัว คือโรคเบาหวาน และ ภาวะไตทำงานไม่สมบูรณ์ เริ่มมีภาวะไตวาย และวันนี้ได้ทำการล้างไต ถือว่าอาการหนักพอสมควร

สำหรับโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี มีความพร้อมในการรองรับผู้ป่วยโควิด 19 โดยทรัพยากรทางการแพทย์ ทั้งสถานที และ เจ้าหน้าที่ยังเพียงพออยู่ โดยจัดแยกชั้นผู้ป่วยตามลำดับความรุนแรง ถ้าอาการไม่รุนแรงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชนได้ ถ้าอาการรุนแรงส่งเข้ารักษา ที่ รพ.สุราษฎร์ธานี โดยที่ รพ.สุราษฎร์ธานี ได้เตรียมห้องความดันลบไว้ จำนวน 6 ห้อง ห้องพักผู้ป่วย 18 ห้อง และ หอผู้ป่วย จำนวน 30 เตียง สำหรับรองรับการระบาดของโรค และยังได้สั่งการให้ รพ.ชุมชนแต่ละแห่ง เตรียมห้องพิเศษ 3-5 ห้อง

นายแพทย์มนู ศุกลสกุล นายแพทย์สาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีเกิดการระบาดของโรคมากกว่าที่ ทุกโรงพยาบาลเตรียมการเอาไว้ และจำเป็นต้องมี โรงพยาบาลสนาม ได้ประชุมเพื่อเตรียมสถานที่ไว้แล้ว ทั้งนี้ข้อมูลของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ณ. 18 มี.ค.63 สถิติผู้มีความเสี่ยงต่อโควิด-19 หรือ PUI จำนวน 84 ราย ผลตรวจเป็นลบ จำนวน 75 ราย รอฟังผล 8 ราย ผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 1 ราย