สมศักดิ์ อรุณสุรัตน์ ปธ.สภาเทศบาลฯ ชูกฎบัตรแห่งชาติ ฟื้นเมืองนครสวรรค์ ผนึกเอกชนนำธงอนาคตสู่ “สมาร์ทซิตี้”

สัมภาษณ์

จังหวัดนครสวรรค์ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อเมืองเก่า “ปากน้ำโพ” ในอดีต ขึ้นชื่อว่าเป็นชุมชนทางการค้าสำคัญ แต่ปัจจุบันเมืองที่ถือเป็นประตูสู่ภาคเหนือ กลายเป็นเพียงเมืองผ่าน ดังนั้นเพื่อเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของเมืองให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองเหมือนในอดีต จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาเมืองให้มีความสมาร์ทมากยิ่งขึ้น “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “สมศักดิ์ อรุณสุรัตน์” ประธานสภาเทศบาลนครนครสวรรค์ ถึงนโยบายและทิศทางการพัฒนา ภายใต้กฎบัตรแห่งชาติ (national charter) เพื่อเข้าสู่เมือง สมาร์ทซิตี้ในอนาคต

เมืองเก่าที่ถูกลืม

สมศักดิ์บอกว่า ปัจจุบันนครสวรรค์เป็นเหมือนเมืองที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง เพราะไม่มีการฟื้นฟูเมือง คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ ทั้งที่นครสรรค์เป็นจังหวัดที่ 2 ของภาคเหนือที่มีเงินฝากมากที่สุด รองจากจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีศักยภาพสูงทางด้านการเงินทั้งเปอร์เซ็นต์การกู้เงินทั้งหมด 17 จังหวัดของภาคเหนือ นครสวรรค์มีน้อยกว่าจังหวัดอื่น นครสวรรค์ถือเป็นเมืองที่น่าสงสาร เพราะไม่มียุทธศาสตร์ชาติกำหนดให้เป็นเมืองหลักหรือเมืองรอง ทั้งภูมิศาสตร์ที่ตั้งจังหวัดอยู่ระหว่างภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน เวลารัฐบาลมีการจัดสรรสนับสนุนงบประมาณถูกจับอยู่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ประกอบด้วยนครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี กำแพงเพชร ทั้งที่นครสวรรค์ถือเป็นจังหวัดที่เป็นประตูสู่ภาคเหนือ

ในอดีตการวางระบบการคมนาคมขนส่งทั้งระบบราง ขบวนรถไฟทุกสาย การโดยสารทางน้ำ และการขนส่งทางถนนที่เดินทางขึ้นภาคเหนือทั้งหมดต้องผ่านนครสวรรค์ ย้อนกลับไป 50 ปีก่อนการเดินทางสัญจรยังไม่สะดวกนัก การเดินทางเข้ากรุงเทพฯต้องใช้เวลา 6-7 ชม. เพราะฉะนั้นจังหวัดนครสวรรค์จึงเจริญเติบโตในรูปของเมืองผ่าน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือเทศกาลปีใหม่ รถจะมาติดมากที่จังหวัดนครสวรรค์ เพราะได้รับงบประมาณในการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองช้ามากที่สุด ทำให้ประชาชนที่เดินทางด้วยรถยนต์ทนไม่ได้ ทางราชการจึงได้มาเปิดทางเลี่ยงให้เรา

ชู 3 ด้านฟื้นปากน้ำโพ

เพื่อเป็นการฟื้นฟูเมือง เราได้เข้าไปเรียนรู้งานของกฎบัตรแห่งชาติ ที่เป็นแนวทางการมีส่วนร่วมของสังคม โดยกระบวนการพัฒนาเมือง ซึ่งนำไปสู่โกลด์ซิตี้และสมาร์ทซิตี้ ต้องสมาร์ททั้งสองฝ่ายคือข้าราชการกับประชาชน จึงได้มีการรวมตัวกันและวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งพบว่า ตรงกับกลุ่มกฎบัตรโดยมีทั้งหมด 10 ด้าน ทางกฎบัตรแห่งชาติจึงได้ตั้ง flagship ขึ้นมา 3 ภารกิจหลักก่อน ได้แก่ 1.เกษตรและอาหารปลอดภัย หรือ green agriculture and safety food 2.พลังงานสีเขียว หรือ green energy 3.โครงสร้างพื้นฐานเขียว green infrastructure หรือ smart block

ซึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ ได้มีการเริ่มทำ smart block โดยการฟื้นเศรษฐกิจของถนนกลุ่มที่คัดเลือกมาประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจะเป็นถนนทดลองกายภาพแห่งการเดิน โดยกลุ่มนี้จะสมาร์ททุกเรื่อง โดยใช้เกณฑ์ของ LEED ND หรือเกณฑ์ในการพัฒนาเมือง ซึ่งให้ความสำคัญกับรถยนต์เป็นอันดับ 1 รองลงมาคือให้ความสำคัญกับรถสาธารณะ และสุดท้ายให้ความสำคัญกับคนเดิน แต่ตรงกันข้าม smart block จะให้ความสำคัญกับคนเดินอันดับ 1 เพิ่มทางเท้าปลูกต้นไม้ เพื่อลดความร้อน รองลงมาคือให้ความสำคัญกับรถสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนไม่ใช้รถส่วนตัว ซึ่งเป็นการช่วยลดมลพิษ ซึ่งในส่วนของรถสาธารณะที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ต้องเป็นพลังงานสะอาด และสุดท้ายคือลดขนาดถนน และรถส่วนบุคคลที่จะวิ่งเข้ามาในพื้นที่

ถ้าหากทำสิ่งนี้ได้ผลตามมาคือ 1.การลดใช้พลังงานในการใช้เชื้อเพลิง 2.ลดมลพิษจาก PM 2.5 3.ลดอุณหภูมิของเมือง ซึ่งจากปีที่ผ่าน ๆ มา นครสวรรค์ครองแชมป์เป็นจังหวัดที่อุณหภูมิร้อนที่สุด 41-42 องศา ซึ่งทางนครสวรรค์ได้มีการคัดเลือกถนนโกสีย์ถึงสี่แยกไกรลาศ ซึ่งเป็นถนนเส้นหลักที่มีเศรษฐกิจตกต่ำมาก จึงจำเป็นต้องฟื้นฟูเมือง งบประมาณ 1 ล้านบาท ตอนนี้ได้มีการออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องทำประชาคม ขอความคิดเห็นจากประชาชนก่อน

ในส่วนของพลังงานสีเขียวคือ หาพลังงานทดแทนมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เช่น โซลาร์เซลล์ กังหันลม พัฒนาในรูปแบบพลังงานสะอาด

ผนึกเอกชนชู Smart Farm

ส่วนด้านเกษตรและอาหารปลอดภัย เรามองว่าเกษตรอาหารปลอดภัยของเมืองในเขตเทศบาลไม่มีพื้นที่เกษตรกรรม เราจึงเข้าไปดูแลและสนับสนุนเรื่องฟาร์มของเกษตรกร เพราะอาหารทั้งหมดต้องส่งมาให้ในเมือง หากไม่มีการพัฒนาเป็นเกษตรปลอดภัยอาหารที่ถูกส่งเข้ามาในเมืองก็เป็นอาหารพิษ ปัจจุบันกลุ่ม smart farm มีอยู่ประมาณ 100 แห่ง ทางนายกเทศมนตรีนครสวรรค์ ได้เรียกประชุมผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร โรงเรียน และโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ให้รับซื้อสินค้าจากกลุ่ม smart farm

ปัจจุบันมีโรงพยาบาลศรีสวรรค์ ร้านอาหารแรกคือ เล่งหงษ์ และโรงแรม 42 ซี เดอะชิค โฮเทล ได้ซื้ออาหารจาก smart farm ล่าสุดมีกลุ่มประมง กลุ่มเลี้ยงแพะ ผัก ผลไม้ ข้าว สนใจเข้าร่วมเครือข่าย ด้านการตรวจสอบคุณภาพ ทางมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสรรค์ มีเกณฑ์การตรวจวัดมาตรฐาน ขณะเดียวกันเราคุยถึงศูนย์กระจายสินค้า อาจจะใช้ในรูปแบบของสหกรณ์มาดำเนินการ เพื่อให้ผลผลิตทั้งหมดอยู่กับผู้ผลิตจริง ๆ และต้องการให้ผู้ผลิตได้ประโยชน์เต็มที่ โดยมีเทศบาลเป็นผู้สนับสนุน ส่วนเรื่องการบริหารจัดการคือผู้ผลิต

เมืองศิลปะนานาชาติ

นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศให้เมืองนครสวรรค์เป็นเมืองศิลปะอันดับ 4 ของประเทศ จึงจะมีการสร้างหอศิลป์และศูนย์ประชุมนานาชาติบริเวณท่าข้าวกำนันทรง ซึ่งเกี่ยวกับกฎบัตรแห่งชาติ ในด้านของ MICE and green economy ไมซ์และเศรษฐกิจสีเขียว หากทางกรมธนารักษ์มอบพื้นที่ให้เทศบาลดูแลแล้ว ก็จะเริ่มปรับปรุงฟื้นฟูทันที ซึ่งเดือนที่ผ่านมาเราได้จัดงานศิลปะนานาชาติ โดยให้ศิลปินจากอเมริกาและศิลปินคนไทย ประมาณ 30-40 คน มาวาดภาพประติมากรรม ภาพวาด ภาพถ่าย รวม 40 กว่าชิ้น ซึ่งผลงานเหล่านี้จะได้เป็นแกลเลอรี่ในคราวที่เราสร้างหอศิลป์เสร็จ