ชี้ไทยนำเข้าช็อกโกแลต 5 หมื่นตันต่อปี

แปรรูป - รศ.ดร.สัณห์ ละอองศรี ผู้ก่อตั้ง บริษัท มาร์คริณ ช็อกโกแลต จำกัด จ.เชียงใหม่ ผู้ผลิตและแปรรูปช็อกโกแลต ภายใต้แบรนด์ MarkRin Chocolate เตรียมแผนขยายการปลูกโก้โก้เพิ่ม หลังความต้องการตลาดภายในและต่างประเทศสูง

รศ.ดร.สัณห์ ละอองศรี ผู้ก่อตั้ง บริษัท มาร์คริณ ช็อกโกแลต จำกัด จ.เชียงใหม่ ผู้ผลิตและแปรรูปช็อกโกแลต ภายใต้แบรนด์ MarkRin Chocolate เปิดเผย “ประชาชาติธุุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทมีแผนขยายพื้นที่ปลูกโกโก้เพิ่มขึ้น โดยที่ผ่านมาทางบริษัทได้เข้าไปส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรปลูกโกโก้พันธุ์ไอเอ็มวัน (I.M.1) ที่บริษัทใช้เวลาคิดค้นเป็นเวลา 20 ปี โดยรับซื้อผลผลิตจาก 12 กลุ่มเกษตรทั่วประเทศ และได้ทำสัญญารับซื้อผลผลิต 30 ปี รวมพื้นที่ปลูกโกโก้ ประมาณ 30,000-40,000 ไร่ ได้เป็นผลผลิตโกโก้ ประมาณ 3-4 ตันต่อเดือน โดยผลผลิตส่วนหนึ่งถูกนำเข้าโรงงานแปรรูปช็อกโกแลต และอีกส่วนหนึ่งส่งออกเมล็ดโกโก้แห้งไปขายในตลาดโลก และในอนาคตวางแผนขยายพื้นที่ปลูกไปถึง 300,000-400,000 ไร่ ในอีก 10 ปีข้างหน้า เนื่องจากตลาดโกโก้ในประเทศยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าช็อกโกแลตจากต่างประเทศประมาณ 40,000-50,000 ตันต่อปี

“ปัจจุบันโกโก้ในตลาดมี 2 ประเภท 1.โกโก้เนื้อ ซึ่งเป็นโกโก้คุณภาพต่ำใช้สัดส่วนในการแปรรูปเป็นช็อกโกแลต 2-5% ราคาถูกหาซื้อได้ในประเทศแถบแอฟริกา 2.โกโก้หอม ที่เป็นสัดส่วนหลักในการแปรรูปช็อกโกแลต 80-90% ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ที่ผ่านมาบริษัทได้สนับสนุนเกษตรกรปลูกโกโก้สายพันธุ์ ไอเอ็มวัน (I.M.1) เพราะเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับอากาศประเทศไทย โดยขายต้นพันธุ์ให้เฉพาะกลุ่มเกษตรที่ร่วมกับบริษัทในราคาต้นละ 50 บาท และห้ามเกษตรกรขยายพันธุ์โกโก้ เพราะจะทำให้คุณภาพแปรปรวนส่งผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยพื้นที่ภาคใต้ถือเป็นพื้นที่มีการสนับสนุนให้ปลูกมากที่สุด ประมาณ 500,000 ต้น โดยจำกัดจำนวนต้นโกโก้สำหรับภาคใต้ไว้ที่ 2,000,000 ต้น ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลี่ยอยู่ที่ 100,000 ต้น โดยบริษัทมีความต้องการผลผลิตจากต้นโกโก้ถึง 6,500,000 ต้น ตอนนี้ผลผลิตจากภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าโรงงานต่อเนื่องทุกวัน

ดร.สัณห์กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันมีพ่อค้าพันธุ์ไม้นำต้นโกโก้ไปขายให้เกษตรกร ปัญหาคือโกโก้เป็นผลไม้อุตสาหกรรม ผลผลิตต้องผ่านโรงงานแปรรูป เรื่องตลาดรองรับจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเกษตรกรไม่สามารถแปรรูปเองได้ หากไม่มีโรงงานแปรรูปช็อกโกแลตรับซื้อผลผลิต เกษตรกรก็ขายไม่ได้ ในส่วนของโรงงานต้องเลือกรับซื้อเมล็ดที่มีคุณภาพ สายพันธุ์ตามที่ต้องการ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่เกษตรกรจะหาตลาดเองได้ ดังนั้นก่อนจะปลูก เกษตรกรควรต้องรู้ว่ามีโรงงานแปรรูปรองรับผลผลิตหรือยัง”

แหล่งข่าวจากวงการโกโก้เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ได้มีพ่อค้าขายต้นกล้าพันธุ์โกโก้ให้เกษตรกรภาคใต้จำนวนมาก โดยไม่มีบริษัทรองรับผลผลิต ซึ่งอยู่ในข่ายหลอกลวงเกษตรกร ขายต้นพันธุ์ราคาถูก มีการทำสัญญารับซื้อคืนที่ไม่ถูกต้อง บางบริษัทจูงใจเกษตรกรโดยระบุว่า จะมีการรับผลผลิตกลับคืนในราคาสูงกว่าความเป็นจริง ซึ่งราคาเมล็ดโกโก้แห้งในตลาดโลกอยู่ที่ 60-150 บาท/กิโลกรัม แต่บางบริษัทรับราคาเมล็ดโกโก้แห้งสูงถึง 300 บาท/กิโลกรัม ทั้งนี้ เมล็ดโกโก้สด 10 กิโลกรัม จะแปรรูปเป็นเมล็ดโกโก้แห้งได้ 1 กิโลกรัม จึงอยากเตือนเกษตรกรต้องตรวจสอบให้ดีก่อนตัดสินใจปลูก เพราะต้นโกโก้กว่าจะให้ผลผลิตต้องใช้เวลาถึง 2 ปี หากไม่มีตลาดรองรับตั้งแต่ต้นก็ส่อว่าจะเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า และหากทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีการเข้าไปควบคุมอย่างจริงจัง ในอีก 2 ปีข้างหน้าจะมีผลผลิตจากโกโก้จำนวนมากที่ไม่มีตลาดรองรับ อาจจะมีเกษตรกรนำผลผลิตไปเททิ้งที่หน้าทำเนียบเพื่อประท้วง

สำหรับรายชื่อกลุ่มเกษตรกรในปัจจุบันของมาร์คริณ ฟาร์ม ประกอบด้วย 1.ออร์เเกนิกโกโก้ (Organic Cocoa Group) 2.สวนเเสนสุข (Farm of Happiness) 3.เอเชียโกโก้ (Asia Cocoa Group) 4.กลุ่มโกโก้ เจ.พี.วาย (J.P.Y Cocoa Group) 5.กลุ่มโกโก้ 3 ก. พิษณุโลก (Sam Kor Cocoa Phitsanulok Group) 6.กลุ่มโกโก้รักเเม่โจ้ (Cocoa Rak Maejo Group) 7.เซาท์เทิร์นไทยโกโก้ (Southern Thai Cocoa) 8.กลุ่มช็อกโกแลนด์ (Chocoland Group) 9.กลุ่มโกโก้วีสตาร์ (We Star Cocoa Group) 10.กลุ่มสถานีโกโก้ไทย (Thai Cocoa Station) 11.โกโก้เมืองฝาง (Fhang Cocoa Group) 12.กลุ่มเวียงพิงค์โกโก้ฟาร์ม