ผู้ว่าฯ พังงา ชี้โควิดเป็นไฟมหาประลัย หวั่นหายนะ ยกระดับ Lock Down พื้นที่ หลัง ‘ภูเก็ต’ ติดเชื้อพุ่งกว่า 50 คน

ผู้ว่าฯพังงาชี้โควิดเป็นไฟมหาประลัย หวั่นหายนะ ยกระดับประกาศฉบับที่ 6 Lock Down พื้นที่ หลัง‘ภูเก็ต’ยอดติดเชื้อโควิดพุ่งกว่า 50 คน เฝ้าระวังนับพันคน

นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ได้เปิดแถลงข่าวเมื่อช่วงเย็นในการออกประกาศจังหวัดพังงา ฉบับที่ 6 ในการออกมาตรการ Lock Down จังหวัดพังงาในวันพุร่งนี้( 30 มีนาคม 2563) ว่า ขณะนี้จังหวัดพังงายังไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่มีการเฝ้าระวังอยู่ 40 ราย ซึ่งเป็นการยากลำบากจะปกป้องจังหวัดพังงาได้อย่างดีที่สุด เพราะขณะนี้ถูกขนาบข้างไปด้วยจังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดงที่มีการระบาดมาก คือ ภูเก็ต พบตัวเลขผู้ติดเชื้อเกินกว่า 50 รายไปแล้ว และภูเก็ตมีผู้อยู่ระหว่างเฝ้าระวังอีกร่วม 1,000 ราย

การสัญจรไป-มาระหว่างจังหวัดพังงาและภูเก็ต แม้จะมีการตั้งด่านตรวจ แต่ความเสี่ยงมีอยู่จังหวัดพังงาจึงต้องออกมาตรการ 1.ควบคุมการเข้า-ออก การอยู่กับที่ของคน หยุดเชื้อเพื่อชาติ ให้คนอยู่กับบ้าน แต่ตรงนี้จะแปลงออกมาเป็นมาตรการให้เป็นผลกระทบต่อน้อยที่สุด และเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ภายใต้ความร่วมมือร่วมใจของประชาชนมากที่สุด

2.การออกจากบ้าน ขอความร่วมมือทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย หากไม่สวมหน้ากากอนามัยจะแจ้งเตือนก่อน  หลังจากนี้จะดำเนินการตามกฎหมาย รวมถึงร้านอาหาร ขอความร่วมมือซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านสักระยะหนึ่งก่อนจนกว่าสถานการณ์จะปกติ

3.สืบเนื่องจากประกาศฉบับที่ 5 ที่ควบคุมการเข้า-ออกจังหวัด โดยมีเงื่อนไขได้เกิดข้อขัดข้องบางประการในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ  และประชาชนที่ต้องเดินทาง ทั้งทางการแพทย์ กู้ชีพกู้ภัย สถาบันการเงิน การสื่อสารโทรคมนาคม การขนส่งสินค้าอุปโภค บริโภคจำเป็น การขนส่งยา และคดีต่างๆ ที่ต้องมีการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม  ในประกาศฉบับที่ 6 ได้ให้ขอยกเว้นไว้

รวมถึงบุคคลบางประเภทที่อาศัยอยู่แนวชายแดนจังหวัด มีอาชีพต้องข้ามจังหวัดไปทำงาน เช่น บริเวณทับปุด ตะกั่วทุ่ง โคกกลอย พบว่า มีประมาณ 1,000 คน ถ้าจังหวัดออกมาตรการว่า หากบุคคลดังกล่าวเข้าไปในพื้นที่แพร่ระบาด เมื่อกลับเข้ามาต้องถูกกักตัว 14 วัน จะมีผลกระทบมาก ดังนั้น ทางจังหวัดจึงได้มีมาตรการพิเศษในการควบคุมดูแล โดยให้ทุกคนจะต้องมารายงานตัวกับนายอำเภอ หรือคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ หรือพนักงานควบคุมโรคติดต่อ  ซึ่งจะมีการทำบันทึกข้อมูลว่าบุคคลเหล่านั้นไปทำงานที่ใดอย่างไร สถานที่ที่ไปทำงานมีมาตรฐานในการดูแลป้องกันโรคเพียงพอหรือไม่ เมื่อกลับมาแล้วต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างเข้มงวดของฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดูแลเรื่องการแพร่บาดของโรค คนในชุมชนต้องดูแลให้ดี อันนี้เป็นการออกมาตรการไม่ให้เกิดผลกระทบกับการประกอบอาชีพ

ยกตัวอย่างหลายคนมีอาชีพต้องขับรถขนส่ง รถประจำทาง บางคนพบไปพบแพทย์ตามนัดทุก  7 วัน ถ้าออกไปปฏิบัติงาน เวลาขากลับเข้าพังงาต้องหยุดทำงานไป 14 วัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ทางจังหวัดจึงมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อดูแลบุคคลเหล่านี้ ในการตรวจติดตามเฝ้าระวัง เพราะเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยง แต่มีความจำเป็นจะต้องปฏิบัติหน้าที่ จะมีการพิจารณาเป็นกรณีไป โดยมีชุดปฏิบัติงานระดับอำเภอเฝ้าระวังดูแล  ขณะเดียวกันต้องการให้ประชาชนในหมู่บ้านชุมชนปฏิบัติการเฝ้าระวังดูแลตนเอง

“ทุกคนต้องทำหน้าที่เป็นตาสับปะรดเฝ้าระวังซึ่งกันและกัน หรือแม้แต่คนในหมู่บ้านที่มีความเสี่ยง ทุกคนต้องช่วยกันมีวิจารณญาณในการเฝ้าระวังลูกหลานของเราอย่างเหมาะสมพอเพียง เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในชุมชนในหมู่บ้านของตัวเอง โดยมาตรการฉบับนี้จะช่วยผ่อนคลาย”

ประเทศไทยไม่ถึงกับ Shut down ประเทศ แต่ทางจังหวัดต้อง Lock Down พื้นที่ให้ได้ เพราะฉะนั้นคนต่างถิ่นที่มาจากพื้นที่ที่มีการระบาดเข้ามา จะต้องถูกกักตัว 14 วัน ตอนนี้ภาคใต้เหลืออยู่ 3 จังหวัด คือ พังงา ระนอง สตูล นอกนั้นเป็นพื้นที่สีแดง

“พังงาเองผมก็ไม่แน่ใจว่าจะดึงไว้ได้กี่วันที่จะไม่ให้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพราะวันนี้ผู้คนที่กลับมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด และกลับมาอยู่ในพื้นที่ของพังงามีจำนวนมากทุกวัน วันนี้พังงาไม่ใช้พื้นที่เริ่มต้นของการระบาด แต่เป็นพื้นที่ที่รับคนที่อาจจะติดเชื้อกลับมาภูมิลำเนาเดิมเข้ามา ซึ่งต้องเฝ้าระวัง แน่นอนเราอาจไม่รอด แต่เมื่อมีพี่น้องเข้ามาอยู่จะเป็นลูกหลานเรา เราจะดูแลไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อไปหาคนอื่นออกไปอย่างไร บล็อกให้ได้ และนำไปรักษาให้หาย

วันนี้จึงเป็นหน้าที่ของพี่น้องในชุมชนทุกคนต้องหยุดที่ตัวเอง หยุดอยู่กับที่ ออกจากบ้านให้น้อยที่สุด ภารกิจที่ตกกับอสม . กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกฯ ผู้คนที่เกี่ยวข้องในระดับอำเภอ ซึ่งวันนี้มีนายอำเภอเป็นแม่ทัพใหญ่ เรามี 5 ด่านคัดกรองคนเข้ามาในจังหวัดตามมาตรการที่ออกไปแล้ว ซึ่งผมคิดว่าวันนี้เราจะไปปฏิบัติดู เมื่อเกิดปัญหาขัดข้องอะไร เราจะกลับมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

พี่น้องประชาชนคงเข้าใจว่า วันนี้ผมออกมาตรการไปตามความเหมาะสม ซึ่งต่อไปอาจจะเข้มขึ้น ซึ่งทุกคนต้องยอมรับ ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ตัวเลขที่โชว์อยู่ในการประเมินข้อมูลของทางการแพทย์ แนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น วันนี้ที่ภูเก็ตไปกว่า 50 รายแล้ว เป็นตัวเลขที่ปรากฎชัดแจ้ง ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย อยู่กันแบบเดิมหมายถึงหายนะ ซึ่งจะเห็นได้จากสื่อต่างๆ ที่ออกมา ในต่างประเทศตายกันวันละหลายคน อย่าประมาท อันนี้ไฟ อย่าลองเล่นกับไฟ อันนี้ไฟจริง ๆ ไฟมหาประลัยเลย”ผู้ว่าฯพังงากล่าวทิ้งท้าย

อนึ่ง ก่อนหน้านี้จังหวัดพังงาได้ออกประกาศจังหวัดพังงา ฉบับที่ 5/2563 เรื่องกำหนดมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีสาระสำคัญ

1.ผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดพังงา ที่เดินทางออกจากจังหวัดพังงาไปยังพื้นที่กทม. ปริมณฑล(ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร)หรือพื้นที่ที่พบการระบาดของโรค เมื่อเดินทางกลับมาถึงจังหวัดพังงา จะต้องกักตนเองเพื่อสังเกตอาการ ณ ที่พักอาศัย เป็นเวลา 14 วัน นับแต่วันที่เดินทางมาถึงจังหวัดพังงา และให้เจ้าบ้านแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ทราบทันที หากฝ่าฝืนมีโทษตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558

2.นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากพื้นที่กทม. ปริมณฑล(ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร)หรือพื้นที่ที่พบการระบาดของโรค  เพื่อมาท่องเที่ยวในจังหวัดพังงา จะต้องมี”ใบรับรองแพทย์”ตามที่แพทยสภากำหนด โดยมีข้อความยืนยันว่าไม่เป็นโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีอายุไม่เกิน 3 วัน หากไม่มีใบรับรองแพทย์ จะต้องถูกกักตัวเพื่อสังเกตอาการในสถานที่ที่รัฐจัดให้ จนครบ 14 วัน โดยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของตนเอง

3.ให้เจ้าของสถานประกอบการโรงแรม รีสอร์ท และที่พักอื่นๆ ตรวจสอบประวัติผู้เดินทาง หากพบว่า บุคคลนั้นเดินทางมาจากพื้นที่กทม. ปริมณฑล(ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร)หรือพื้นที่ที่พบการระบาดของโรค จะต้องมี”ใบรับรองแพทย์”ตามที่แพทยสภากำหนด โดยมีข้อความยืนยันว่าไม่เป็นโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีอายุไม่เกิน 3 วัน หากไม่มีใบรับรองแพทย์ จะต้องถูกกักตัวเพื่อสังเกตอาการภายในโรงแรม รีสอร์ท และที่พักนั้น  จนครบ 14 วัน โดยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของตนเอง และให้เจ้าของสถานประกอบการแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ทราบทันที หากฝ่าฝืน ไม่กักตัว หรือไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ มีโทษตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวได้แจ้งให้ทราบเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563