ททท.ชุมพร ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล 29 เรื่อง ลดดอกเบี้ย-เงินกู้-ภาษี

วันที่ เมษายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวญาติกา แก้วบริสุทธิ์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ผอ.ททท.) สำนักงานชุมพร-ระนอง เผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยวจังหวัดชุมพรอย่างรุนแรง การเดินทางเข้าพักแรมโรงแรมในทุกประเภทมีอัตราเป็นศูนย์  ขณะนี้ ชุมพรต้องสูญเสียรายได้ทางการท่องเที่ยวเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐคือ

1.การขอให้พักชำระหนี้ไปจนถึงสิ้นปี

2.สั่งปิดโรงแรมเพื่อชดเชยค่าจ้างให้แก่พนักงาน เพราะโรงแรมขาดรายได้ไม่มีเงินเดือนจ่ายให้พนักงาน

3.ลดหรือยกเลิกค่าธรรมเนียมหรือภาษีบางตัว

4.ให้โรงแรมที่สมัครใจลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการรัฐสั่งปิดโรงแรม เพื่อให้ประกันสังคมเข้ามาเยียวยาลูกจ้าง 50 % ของอัตราค่าจ้าง

5.ยกเว้นค่าเช่าที่ของราชการให้ผู้ประกอบการ 1 ปี

6.จัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำอย่างน้อย 5 ปี

7.หลังสถานการณ์คลี่คลายควรส่งเสริมงานเลี้ยงงานสัมมนาในโรงแรม

8.ควรให้นำภาษีซื้อที่โรงแรมมีมาเป็นค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า

9.ให้โรงแรมที่ประสงค์จะปิดกิจการชั่วคราวลงทะเบียนปิดกิจการเป็นการชั่วคราวจากสาเหตุสุดวิสัยตามมาตรา 79/1 ตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม

10.ผลักดันให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณการจ่ายเงินกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยในอัตรา 50% เป็นเวลา 180 วัน ให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 เช่นเดียวกับการจัดสรรงบประมาณไปดูแลผู้มีอาชีพอิสระที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม รวมถึงจัดสรรงบช่วยเหลือพนักงานที่เพิ่งเริ่มทำงานและยังไม่ได้เข้าระบบประกันสังคม

11.ลดหย่อนค่าน้ำ ค่าไฟให้ผู้ประกอบการ

12.ลดหย่อน-งดเว้นภาษีธุรกิจและท้องถิ่นทั้งหมดอย่างน้อย 6 เดือน

13.หลังสถานการณ์คลี่คลาย โรงแรมคงต้องออกโปรโมชั่นกระตุ้นทั้งจังหวัด โดยภาครัฐสนับสนุนรายได้ส่วนที่ลดราคา 14.พนักงานที่เข้าระบบและไม่เข้าระบบขอให้รัฐช่วยเหลือทันที 15.ค่าเช่าสถานที่สนามบินขอให้ยกเว้น

16.ค่าภาษีรถ จีพีเอส ค่าประกัน ขอลดระหว่างไม่มีงาน

17.ขอพักชำระหนี้ 2 ปี

18.ให้มีมาตรการลดค่าธรรมเนียมต่างๆ

19.ททท. และ อบจ. ฯลฯ ควรมีแผนระยะสั้น-กลาง-ยาว กระตุ้นการท่องเที่ยวระดับประเทศและในชุมพร และหาวิธีกระจายการเข้าพักทั้งโรงแรมทุกขนาด

20.สนับสนุนมาตรการฆ่าเชื้อในสถาน

21.ผลักดันให้โรงแรมที่ต้องการปิดสามารถแจ้งปิดได้กับจังหวัด ได้รับความช่วยเหลือแรงงานตามเกณฑ์ประกันสังคม

22.ไม่สั่งปิดโรงแรมทั้งหมด เพราะมีบางโรงแรมที่ยังคงเปิดและดูแลพนักงานได้  23.ให้ธนาคารชาติปรับลดอัตราดอกเบี้ยธุรกิจเร็วที่สุด

24.ให้องค์กรปกครองท้องถิ่นพิจารณาปรับลด/ยกเลิกจัดเก็บภาษีรายได้ เช่น ภาษีโรงเรือน ภาษีป้าย ค่าธรรมเนียมผู้เข้าพัก รวมถึงรายได้ที่จัดเก็บส่วนอื่นๆ

25.มีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการแล้วแต่จะเห็นเหมาะสม

26.หลังจากผ่านพ้นสถานการณ์ให้มีแผนพัฒนาสนับสนุนการท่องเที่ยวทันที

27.เปิดรับลงทะเบียนสำหรับโรงแรมที่ต้องการปิดช่วงคราว เพื่อให้พนักงานได้รับสิทธิ์รับเงินเยียวยาจากประกันสังคม 50% จำนวน 60-90 วัน หรือมากกว่านั้น – ขอให้พิจารณาลด หรือยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆทั้งของส่วนกลาง และภาษีท้องถิ่น

28.มีมาตรการมาเยียวยาผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวอย่างเหมาะสม 29.พิจารณาปรับลด ค่าเช่า หรือยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับธุรกิจที่เช่าพื้นที่ราชการ

ในส่วนของผู้ประกอบการร้านอาหารซึ่งปรับตัวด้วยการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์หรือ ดีลิเวอรี่ ที่ถือว่ายังพอพยุงรายได้ในแต่ละวัน แต่จากการประเมินขณะนี้ คาดว่าสูญเสียรายได้ไม่น้อยกว่า 75 ล้านบาท (รายได้ปี 62 101.07 ล้านบาท เทียบกับปี 2563 ที่สูญเสียไป 25.25 ล้านบาท) และระยะเวลาที่ยังไม่สามารถเปิดธุรกิจได้ คาดว่ารายได้ที่สูญเสียไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท


“ช่วงที่ยังมีข้อจำกัดเรื่องการเดินทางท่องเที่ยว ผู้ประกอบการคงต้องปรับตัวและพัฒนาศักยภาพในธุรกิจของตน การเตรียมการพัฒนาสินค้าทางการท่องเที่ยวใหม่ๆ ททท.พร้อมที่จะมีการสื่อสารอย่างเข้มข้นออกไปให้เห็นถึงความพร้อมในการรองรับของพื้นที่ ความพร้อมของผู้ประกอบการที่กำลังรอคอยการกลับมาของนักท่องเที่ยว ซึ่งทุกคนหวังให้สถานการณ์คงจะคลี่คลายโดยเร็ว ททท.ได้ติดต่อพูดคุยให้กำลังใจผู้ประกอบการอย่างสม่ำเสมอ มีการสำรวจความต้องการด้านความช่วยเหลือต่างๆ จากผู้ประกอบการ ทั้งเรื่องของนโยบายและมาตรการเยียวยาของรัฐบาล โดยผู้ประกอบการอยากให้รัฐบาลมีมาตรการ Lock down อย่างเข้มงวดและจริงจัง จะได้ลดจำนวนผู้ติดเชื้ ให้ลดลงอย่างรวดเร็ว หลังจากวิกฤติผ่านพ้นไป พวกเขาอยากให้ ททท. นำสื่อ และ Agent เข้าพื้นที่ให้มากที่สุด” นางสาวญาติกา กล่าว