สุทธิลักษณ์ ประธานอุตฯ “ตราด” ลุ้นก้าวข้ามวิกฤตโควิด 3 เดือน

รายงาน

“ตราด” จังหวัดเล็ก ๆ ในภาคตะวันออก ปี 2560 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) มูลค่า 46,965 ล้านบาท ภาคเกษตรกรรมมูลค่า 22,970 ล้านบาท ภาคนอกเกษตรมูลค่า 23,995 ล้านบาท โดยมีสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ การประมง เป็นสาขาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สัดส่วน 48.9% รองลงมา สาขาการขายส่งขายปลีก 15% สาขาขนส่ง 5.7% สาขาโรงแรมและบริการ 5.3% สัดส่วนสาขาอุตสาหกรรมมีสัดส่วนเพียง 4.4% มูลค่าการผลิต 2,053 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัว 12% ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรม 171 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก ทำอุตสาหกรรมเกษตรต่อเนื่อง แปรรูป เช่น โรงงานสับปะรด ข้าวโพด ไม้ยางพารา

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “สุทธิลักษณ์ คุ้มครองรักษ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราด วัย 44 ปี ซึ่งนั่งเก้าอี้เป็นวาระที่ 2 ด้วยมติเอกฉันท์ไร้คู่แข่ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ปัจจุบันทำธุรกิจส่วนตัวตามที่ร่ำเรียนมา จบปริญญาตรีบัญชี มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำธุรกิจสำนักงานรับตรวจบัญชีกว่า 10 ปี เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท กิติรักษ์ การบัญชี จำกัด มีแนวทางที่จะก้าวข้ามวิกฤตโควิด-19 ผลักดันกลไกทางเศรษฐกิจของจังหวัดตราดให้ฟื้นตัวภายหลังสิ้นสุดวิกฤตโควิด-19 ภายในระยะเวลา 3 ปี

จี้รัฐอุ้มนายจ้าง-ลูกจ้างเพิ่ม

นับตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน สถานการณ์นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และชาวไทยที่เข้ามาในจังหวัดตราดลดลงแทบเหลือ 0% มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการและแรงงาน แม้ภาครัฐจะออกมาตรการเข้ามาช่วยเหลือ ตั้งแต่ชุดที่ 1 และ 2 ล่าสุดภายหลังการประกาศใช้พระราชกำหนดฉุกเฉิน “สุทธิลักษณ์” ได้สะท้อนมุมมองมาตรการเยียวยาของภาครัฐ 8 ประเด็น ผ่านทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

คือ 1) ให้ภาครัฐดูแลโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นยิ่งยวด critical industry & supply chain (CISC) และการขนส่งสินค้า (logistics) เพื่อป้องกันไม่ให้หยุดชะงัก 2) ของดการจ่ายประกันสังคม สำหรับลูกจ้างและนายจ้างเป็นระยะเวลา 4 เดือน 3) ให้ภาครัฐเพิ่มเงินช่วยเหลือลูกจ้างที่ว่างงานหรือถูกเลิกจ้างจากเดิมร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 80 4) ขอเลื่อนการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟออกไป 4 เดือน 5) ให้ภาคเอกชนหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า กรณีใช้งบประมาณเพื่อการป้องกันไวรัสโควิด-19 6) ให้ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานสามารถให้บริการต่อเนื่อง 7) ภาครัฐที่มีภารกิจติดต่อกับภาคเอกชนสามารถให้บริการทางออนไลน์ และ 8) ให้ผู้ขนส่งสินค้าสามารถขนส่งสินค้าได้ตลอดวัน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค

สุทธิลักษณ์กล่าวว่า มาตรการชุดที่ 2 ลดเงินสมทบประกันสังคมนายจ้าง จาก 5% เหลือ 4% และลูกจ้าง 1% น่าจะลดนายจ้างเหลือ 1% เท่ากัน ซึ่งจริง ๆ มติคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอรัฐบาลไปแล้ว ควรจะยกเลิกไม่เก็บทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง ระยะเวลา 3-6 เดือน มาตรการในการควบคุมจุดคัดกรองที่เข้าจังหวัดตราด ต้องมีการผ่อนปรนเพื่อให้โรงงานได้ผลิตตามปกติ เพราะโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่ง หรือบริษัทใหญ่ ๆ ต้องใช้ช่างเทคนิเชี่ยนที่มีความชำนาญจากกรุงเทพฯมาตรวจ ซ่อมเครื่องจักร หากต้องถูกกักตัว 14 วัน ทำให้โรงงานไม่สามารถผลิตได้ตามปกติ

หวั่น เม.ย.ขาดแรงงานเก็บผลไม้

นอกจากนี้ ควรมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวด้วย เช่น การแจ้งย้ายเข้า-ออก แรงงานต่างด้าวต้องแจ้งภายใน 15 วัน ซึ่งอัตราโทษปรับ 4,000-20,000 บาท น่าจะยกเลิก เพราะในสภาพที่แท้จริง แรงงานลาไปเยี่ยมบ้านได้สิทธิ์ 30 วัน แต่แรงงานกลับเข้ามาและไม่กลับมาทำงานเดิม กว่าจะแน่ใจว่าแรงงานไม่กลับมาแล้วเกินเวลา 15 วัน ต้องถูกปรับ 4,000 บาท

“จังหวัดตราดใช้แรงงานต่างด้าวประมาณกว่า 20,000 คน แต่แรงงานภาคเกษตรที่เข้ามาทำตามฤดูกาล (เมษายน-กรกฎาคม) ใช้ประมาณ 4,000-5,000 คน หากสถานการณ์โควิด-19 ยืดเยื้อ ภาคเกษตรที่ต้องการใช้แรงงานเก็บผลไม้ตามฤดูกาล น่าจะมีปัญหามาก ทุกวันนี้เราใช้ระบบหมุนเวียนแรงงานต่างด้าว จากภาคอุตสาหกรรมไปภาคเกษตร แต่ติดปัญหาที่เราต้องแจ้งเข้า-ออก แจ้งการเปลี่ยนนายจ้างที่ต้องเสียค่าปรับคนละ 4,000 บาท กว่า 100 ราย แม้ว่าปลายปี 2562 จะปรับเปลี่ยนให้แจ้งทางอินเทอร์เน็ตแล้ว เพราะแรงงานบางรายไม่ได้แจ้งลาออก เปลี่ยนงาน หรือเดินทางแล้วถูกกักตัว 14 วัน ทำให้นายจ้างต้องแจ้งล่าช้า จึงเสนอให้ยกเลิกค่าปรับแรงงานย้ายนายจ้าง” นายสุทธิลักษณ์กล่าว

ชี้พักหนี้ช้า-ใช้น้ำ-ไฟฟรี 3 เดือน

มาตรการช่วยเหลือพักชำระหนี้ต่าง ๆ รัฐบาลประกาศมาตรกรให้ความช่วยเหลือมาตั้งแต่ชุดที่ 1 แล้ว แต่ในมาตรการชุดที่ 2 ยังไม่มีรายละเอียด มาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ เช่น การพักชำระหนี้ ธนาคารสาขาในต่างจังหวัดยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ตามนโยบายรัฐ เพราะต้องรอรายละเอียดจากสำนักงานใหญ่ ต้นเดือนเมษายนซึ่งล่าช้า นอกจากนี้การเตรียมเอกสาร การทำสัญญาต้องมีระยะเวลา ทำให้ผู้ประกอบการที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ต้องมาดำเนินการหลายครั้ง ไม่ได้รับความสะดวก

ส่วนมาตรการเยียวยา แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมจากการปิดกิจการ ให้เงินรายละ 5,000 บาท/เดือน ระยะเวลา 3 เดือน เป็นมาตรการที่ดี เพราะแรงงานในระบบประกันสังคมหัก 50% ของค่าจ้าง ทางที่ดีรัฐบาลควรมีมาตรการยกเลิกค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ให้ใช้ฟรีใน 3 เดือน เพื่อให้คนอยู่บ้านหรือที่พัก บ้านเช่า อย่างไรต้องมีค่าใช้จ่ายอยู่ ไม่อย่างนั้นเขาจะแห่กลับบ้าน เพราะต้องการประหยัดค่าที่พัก อาหาร ไฟฟ้า น้ำประปา

3 เดือน ตราดฟื้นตัว… ถ้าหยุดโควิด-19 ได้

สุทธิลักษณ์กล่าวทิ้งท้ายว่า สภาอุตสาหกรรมฯตั้งธงปี 2563 ก่อนมีภาวะโควิด-19 คือ การพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ด้วยการสนับสนุนการเปิดด่านถาวรบ้านท่าเส้น-บ้านทมอดา การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปในพื้นที่ชายฝั่ง อำเภอคลองใหญ่ การพัฒนาสาธารณูโภคพื้นฐานโครงข่ายเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งภายในจังหวัดและต่างจังหวัด การสนับสนุนให้เปิดใช้ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ เพื่อการท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างประเทศและระหว่างชายฝั่งกับเกาะต่าง ๆ ในจังหวัดตราด


“เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไป หวังว่าเร็วสุด 3-6 เดือน คือ เดือนมิถุนายน หรือเดือนธันวาคม ตอนนี้จังหวัดตราดอยู่ในสถานะปิดเมืองหยุดการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้ประกอบการต้องเตรียมตัว อาจจะรีโนเวตโรงแรม ที่พัก พัฒนาพนักงาน เพราะโรงแรมเกาะช้าง เกาะหมาก ปิดตัวลงหลายแห่ง เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะเปิดเมือง หากปิดเมือง 3 เดือน เปิดมาคือฤดูการท่องเที่ยว โอกาสที่จังหวัดตราดจะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องยาก เพราะศักยภาพของจังหวัดตราด ทั้งผลไม้ อาหารทะเล แหล่งท่องเที่ยว ทำให้หลายคนอยากมาพักผ่อนท่องเที่ยว หากในช่วงเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด สามารถรักษาสภาพพื้นที่ปลอดเชื้อไว้ได้ เหลือเพียงจังหวัดเดียวในภาคตะวันออก” นายสุทธิลักษณ์กล่าวทิ้งท้าย