ผอ.รพ.วชิระภูเก็ตมึน บุคลากรทางการแพทย์ 112 คน กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงโควิด หลังคนฮังการีตายจากอุบัติเหตุบวกอาการร่วมโควิด-19

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(6เม.ย.)กรณีที่มีข่าวชายชาวฮังการีได้เสียชีวิตที่รพ.วชิระภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา และได้มีข่าวออกมาสับสนว่า ตกลงชายคนดังกล่าวสาเหตุเสียชีวิตจากอุบัติเหตุหรือจากเชื้อโควิด-19 นั้น
นายแพทย์เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้กล่าวชัดเจนว่า กรณีชาวฮังการี เป็นผู้ชายอายุ 25 ปีที่เสียชีวิตสรุปสาเหตุกมาจากไขสันหลังบาดเจ็บ เนื่องจากกระดูกสันหลังส่วนต้นคอหัก เนื่องจากอุบัติเหตุจราจร และมีอาการร่วมจากโรคปอดติดเชื้อโควิด-19 รวมระยะเวลารักษาที่โรงพยาบาล 10 วัน
“เป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจพอสมควร เพราะว่าเคสนี้ไม่ได้แจ้งประวัติเรื่องความสุ่มเสี่ยงของการเป็นโควิด-19 แต่แรก ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าไปรักษาช่วยเหลืออย่างเต็มที่กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เข้าไปสัมผัสเชื้อผู้ป่วยทั้งหมด 112 คน แบ่งเป็นสัมผัสความเสี่ยงต่ำ 8 คน สัมผัสความเสี่ยงสูงถึง 104 คน”นายแพทย์เฉลิมพงษ์กล่าวและว่า
ขณะนี้บุคลากร 104 คนได้ให้พักเก็บตัว 14 วันแบ่งเป็นที่โรงแรมสุวิชา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.) และอีกส่วนหนึ่งเก็บตัวที่บ้าน ในจำนวนนี้ได้รับการเก็บตัวอย่าง (Swab) สารคัดหลั่งไปตรวจแล้ว 94 คน ผลตรวจเป็นลบ และรอเก็บเก็บตัวอย่าสารคัดหลั่งไปตรวจอีก 18 คน
“อยากขอแจ้งไปยังพี่น้องประชาชนฝากถึงนักท่องเที่ยวถ้ารายไหนมีประวัติชัดเจนขออย่าได้ปิดบังข้อมูล เพราะทำให้บุคลากรทางการแพทย์เสียกำลังไปเป็น 112 คนจากสาเหตุนี้”นายแพทย์เฉลิมพงษ์กล่าว
 
 
นายแพทย์เฉลิมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับประวัติการรักษาของชายชาวฮังการีรายนี้พบว่า ประสบอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์คอหัก ทางหน่วยกู้ชีพไข่มุกได้นำส่งโรงพยาบาลฉลอง เวลา 04.30 น. ของวันที่ 25 มีนาคม 2563 ต่อจากนั้นเวลา 05.00 น.ได้ส่งตัวมารักษาต่อที่รพ.วชิระภูเก็ต
 
“ผู้ป่วยพอรู้สึกตัวพูดคุยได้ มีอาการชาแขนและขาอ่อนแรงทั้ง 2 ขา มีอาการมึนเมาบ้าง ทั้งนี้ผู้ป่วยไม่ได้แจ้งความเสี่ยงต่อการเป็นโรคโควิด-19 ใดๆ”
 
หลังจากนั้นได้ทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ได้รับการตรวจวินิจฉัยพบกระดูกสันหลังต้นคอท่อนที่ 6 หัก ร่วมกับเส้นประสาทไขสันหลังที่ต้นคอได้รับบาดเจ็บฉีกขาด ได้รับการผ่าตัดทันที วันที่ 25 มีนาคม เวลา 15.30 โดยหมอสัญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระดูกสันหลัง 2 คน ทั้งทีมวิสัญญีแพทย์ และพยาบาล
 
ภายหลังการผ่าตัดผู้ป่วยรู้สึกตัวดี พูดคุยได้ แต่แขนขาทั้ง 2 ข้างยังขยับไม่ได้ เป็นผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาคนไข้ได้รับการรักษา และดูแลอย่างใกล้ชิดโดยตลอด
 
ในวันที่ 27 มีนาคม ได้มีการย้ายผู้ป่วยไปอยู่อีกอาคาร และวันที่ 28 มีนาคม คนป่วยมีอาการเหนื่อยตอน 02.00น.ให้ยาแก้ปวด และวันที่ 28 มีนาคมเริ่มมีการทำกายภาพบำบัด เพื่อให้ร่างกายมีการฟื้นฟูในเรื่องของแขนขา
 
“วันที่ 29 มีนาคมมีเพื่อนจากบางลามาเยี่ยม ทำให้ทีมงานเริ่มสงสัยว่า ผู้ป่วยจะมีประวัติไปเที่ยวที่ย่านถนนบางลา ตั้งอยู่บนหาดป่าตอง มาหรือไม่ ซักไปซักมาทำให้ทราบว่าผู้ป่วยพักอยู่ที่ย่านบางลาประมาณ 2 สัปดาห์ และก่อนหน้าที่จะมาเที่ยวภูเก็ตได้ไปเที่ยวประเทศมาเลเซีย จึงถือว่าเป็นเคสที่มีความเสี่ยงในการติดโควิด-19”
 
ในวันที่ 30 มีนาคม ทางแพทย์ก็ได้ทำการเจาะตรวจวินิจฉัยโควิด-19 ในวันที่ 31 มีนาคม ผลตรวจออกมาเป็นบวก หลังจากนั้นผู้ป่วยเริ่มมีอาการไม่ค่อยดีขึ้น มีอาการไข้สูง หายใจลำบากขึ้น จนกระทั่งถึงวันที่ 2 เมษายน เริ่มมีการติดเชื้อในกระแสเลือด และวันที่ 3 เมษายน คนไข้เริ่มหยุดหายใจเวลา 02.40น. มีการปั๊มหัวใจโดยแพทย์อย่างสุดความสามารถแต่ไม่สามารถกู้ชีวิตได้