อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ เร่งผลิตอาหาร-เครื่องดื่ม-Face Shield ช่วยบุคลากรการแพทย์สู้โควิด-19

อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ : Northern Science Park เร่งเครื่องโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร (Innovation Food Fabrication Pilot Plant) เร่งผลิตอาหาร-เครื่องดื่ม-ข้าวสวย-แกงฮังเล พร้อมเดินหน้าห้องปฏิบัติการ The Brick FABLAB ผลิต Face Shield ช่วยเหลือแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เพื่อสู้ไวรัสโควิด-19

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มอบผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร (Innovation Food Fabrication Pilot Plant) ได้แก่ เครื่องดื่มเกลือแร่รสลิ้นจี่ (Electrolyte Beverage) และผลิตภัณฑ์มะเขือเทศราชินีอบแห้ง พร้อมทั้งผลิตภัณฑ์หน้ากาก Face Shield ให้แก่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เพื่อร่วมสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ในการปฏิบัติภารกิจดูแลผู้ป่วยและรับมือกับสถานการณ์โควิด–19 โดยมี รศ.นพ.ชัยวัฒน์ บำรุงกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่เป็นผู้รับมอบ ณ อาคารบุญสม มาร์ติน โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

สำหรับโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร (Innovation Food Fabrication Pilot Plant) ซึ่งตั้งอยู่ภายในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผ่านสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2563 ซึ่งเดินหน้าเร่งเครื่องสายการผลิตอาหารและเครื่องดื่มนวัตกรรมเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยนำมะเขือเทศพันธุ์ราชินีมาผ่านกระบวนการทำแห้ง (Dehydration Food Process) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดอัตราเสี่ยงของโรคต่างๆ สร้างสมดุลในร่างกาย ลดระดับน้ำตาลในเลือด สามารถเก็บไว้ได้นานกว่า 4 สัปดาห์

พร้อมทั้งเร่งผลิตเครื่องดื่มเกลือแร่รสลิ้นจี่ (Electrolyte Beverage) ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งเป็นเครื่องดื่มนวัตกรรมที่ให้พลังงานสูง โดยเป็นผลงานวิจัยของ รศ.ดร.ยุทธนา พิมลศิริผล ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ และอาจารย์อิศรพงษ์ พงษ์ศิริกุล รองผู้อำนวยการศูนย์ฯ และอาจารย์ประจำคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เครื่องดื่มเกลือแร่รสลิ้นจี่เป็นเครื่องดื่มที่มีแร่ธาตุและสารพลังงานต่างๆ ที่ร่างกายต้องการ เบื้องต้นทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวกำลังเร่งผลิตเพื่อมอบให้บุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19

นอจากนี้ ได้เล็งเห็นประโยชน์จากเทคโนโลยีและเครื่องมือจากห้องปฏิบัติการ The Brick FABLAB ซึ่งตั้งอยู่ ณ ชั้น 1 อาคาร C อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) โดยได้ดำเนินการผลิตหน้ากาก Face Shield เป็นการเร่งด่วน โดยใช้เครื่อง Prusa i3 MK3 และ Flashforge Creator Pro ซึ่งเป็นเครื่องพิมพ์ประเภทระบบฉีดเส้นพลาสติกผ่านหัวฉีดที่มีความร้อนสูงในการสร้างงานแต่ละชั้น (Fused Deposition Modeling : FDM) และเมื่อใช้ควบคู่กับหน้ากากอนามัย สามารถใช้เป็นอุปกรณ์ป้องกันละอองฝอยและสารคัดหลั่ง อาทิ น้ำลาย เสมหะ เลือด และน้ำตา ฯลฯ จากผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงได้เป็นอย่างดี โดยตั้งเป้าหมายจะสามารถส่งมอบหน้ากาก Face Shield ให้กับบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากถึง 500 ชิ้น ภายในระยะเวลา 2 เดือน

ทั้งนี้ หน้ากาก Face Shield ที่ได้ผลิตขึ้นครั้งนี้ สามารถนำกลับมาใช้ได้หลายครั้ง โดยการทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคด้วยวิธีการอบก๊าซ ใช้น้ำยาทำลายเชื้อระดับสูง หรือการพาสเจอร์ไรซ์ (Pasteurization) ก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ นอกจากนี้สายรัดศีรษะยังออกแบบมาเพื่อให้สามารถปรับได้พอดีหลายระดับ โดยวัสดุมีความแน่นหนา และคงทน รวมทั้งแผ่นพลาสติกใสที่นำมาใช้ปกคลุมใบหน้านั้นได้ผ่านกระบวนการตัดจากเครื่องตัดเลเซอร์ MC70 ซึ่งสามารถตัดวัสดุได้ทั้งที่เป็นไม้ ยาง ผ้า และอะคลิริค

ผศ.ดร. ธัญญานุภาพ กล่าวต่อว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) มีแผนเพิ่มการผลิตอาหารจากโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร อาทิ ข้าวสวยและแกงฮังเลพร้อมรับประทาน โดยมีเป้าหมายที่จะนำผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าเร็วๆนี้โรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร (Innovation Food Fabrication Pilot Plant) จะสามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมได้ถึง 4,500 แพ็ค ขณะเดียวกัน อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตสินค้านวัตกรรมอันเกิดจากการต่อยอดผลงานวิจัยสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบสำหรับผู้ประกอบการ SMEs สตาร์ทอัพ และผู้ที่สนใจได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีคุณภาพและมีความหลากหลายสู่ระดับอุตสาหกรรมและส่งต่อเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางสังคมมากขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์นวัตกรรมไทย และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในระยะยาวต่อไป