เปิดมุมคิด-คีย์ซักเซส SE “ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต”

เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมสำหรับการจัดตั้งบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ซึ่งเป็น 1 ใน 76 บริษัทธุรกิจ SE (Social Enterprise) หรือกิจการที่มีจุดมุ่งหมายหลักในการแก้ไขปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก

ล่าสุด บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ตฯ ยังได้รับรางวัลองค์กรพัฒนาภาคประชาสังคมดีเด่น ผู้นำอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ซึ่งมีผลงานโดดเด่นจังหวัดแรก ๆ ของประเทศ โดยทีมงานมีมุมคิด ไอเดียสรรค์สร้างโมเดล และการบริหารจัดการที่น่าสนใจ

“วีระชัย ปราณวีระไพบูลย์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด บอกว่า ในช่วงเริ่มแรกปีที่แล้วเริ่มทำ 3 โครงการคือ 1.สับปะรดภูเก็ต 2.ผ้าบาติก และ 3.กุ้งมังกร โดยได้เข้าไปช่วยส่งเสริมเรื่องของช่องทางการตลาด การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การต่อยอดผลิตภัณฑ์และให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งการสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน

โดยเฉพาะสับปะรดภูเก็ต หลังจากจัดแคมเปญโปรโมทออกไป ผู้คนทั่วไปและนักท่องเที่ยวได้หันมาบริโภคเพิ่มมากขึ้น ช่วยดึงราคาสับปะรดภูเก็ตเกรดดีให้สูงขึ้น 20-30% และขายง่ายขึ้น ทำให้ไม่ต้องทิ้ง การสูญเสียน้อยลง โดยราคาอยู่ที่ลูกละ 40-45 บาท จากเดิมราคาเฉลี่ย 25-30 บาท และคนเริ่มไปซื้อเองที่สวน

สำหรับผลผลิตในปี 2561 จะเปิดจองออร์เดอร์พิเศษลูกละ 1,543 บาท ซึ่งราคาที่ตั้งไว้สูงนี้เป็นกิมมิกการตลาดที่ทำให้คนหันมามองสับปะรดภูเก็ต สำหรับลูกที่ตกไซซ์ก็จะนำไปแปรรูป ส่วนพื้นที่ปลูกคงที่ประมาณ 2 พันไร่ ซึ่งปีนี้ฝนดีน่าจะให้ผลผลิตมากกว่า 7 ล้านลูก และขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำลังผลักดันให้จดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

ส่วนผ้าบาติกก็เป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่มีการผลิตและสืบต่อภูมิปัญญากันมาอย่างยาวนาน และเป็นอัตลักษณ์ของชาวภูเก็ต กระทั่งนำมาสู่การจัดงานบาติกดีไซน์วีค ครั้งที่ 2 ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้

ในส่วนของกุ้งมังกรเจ็ดสี ก็ได้มีการจัดเทศกาลกินกุ้งมังกรในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงโลว์ซีซั่น ทาง ททท.ได้บรรจุไว้ในเทศกาลภูเก็ตแล้ว มีร้านอาหารเข้าร่วมโครงการนี้กว่า 200 แห่ง ซึ่งราคาได้ถีบตัวสูงขึ้นเฉลี่ยตั้งแต่ 2,500-3,000 บาท/กก.ขึ้นไป แล้วแต่ขนาดของกุ้ง นอกจากนั้นก็เข้าไปช่วยด้านการตลาดให้กับผู้เลี้ยงแพะนม

“สิ่งที่เราทำคือพยายามทำกับกลุ่มเล็ก ๆ ให้เริ่มต้น เห็นผลก่อน และไม่หวงความรู้ เพราะตอนนี้กระเป๋ากระจูดถูกก๊อบปี้ไปหมดเลย และยึดหลักว่าต้องทำน้อย แต่ได้เยอะ และเกิดผลบวกกับคนส่วนใหญ่ เช่น การสร้างแพลตฟอร์ม การขายสับปะรด-กุ้งมังกรได้ราคาดี การผลักดันให้เกิดอีเวนต์ครีเอทีฟ งานที่ทำมันคือดีไซน์แบรนดิ้งมาร์เก็ตติ้ง และสร้างเครือข่าย ตอนนี้มีเกือบ 30 กลุ่มแล้ว ส่วนรายได้บริษัทปี 2559 ประมาณ 2 แสนกว่าบาท แต่สิ่งที่ได้คือชุมชนสามารถนำไปต่อยอดเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้อีกเยอะ”

“วีระชัย” ยังบอกถึงแผนงานต่อไปว่า กำลังเริ่มโครงการ “โอท็อปจูเนียร์” มีโรงเรียน 2 แห่งเข้าร่วมคือ โรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ และโรงเรียนวัดเทพนิมิตร เป้าหมายคือการไปสอนให้เด็กได้รู้จักทำมาค้าขายเป็นตั้งแต่เด็ก เช่น เย็บกระเป๋าผ้า และอีก 2 โปรเจ็กต์คือ การฝึกอาชีพให้กับผู้ต้องขังหญิง และคนเฝ้าผู้ป่วยที่โรงพยาบาล

ขณะที่ “อรสา โตสว่าง” ผู้เป็นคีย์ซักเซสอีกคน เล่าว่า ต้องคิดแบบนักการตลาด ทำแล้วต้องขายได้จริง ซึ่งตนเองไม่เคยเรียนศิลปะ แต่เป็นคนชอบแต่งตัว ทริกนิดเดียว แค่อยากได้ อยากใช้อะไร ก็ทำแบบนั้นออกมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่แล้ว โดยผลิตภัณฑ์เด่นที่ขายดีมากคือกระเป๋ากระจูด โดยนำพู่ไหมพรม และผ้าบาติกมาตกแต่งให้สวยงาม ตอนนี้คนก๊อบปี้กันเยอะ

ตอนนี้โปรเจ็กต์เล็ก ๆ ที่เธอทำแล้วบอกว่ามีความสุขมาก คือ การทำงานกับเด็ก ๆ ที่ ร.ร.วัดเทพนิมิตรให้หัดทำมาค้าขาย และพบว่าเด็กส่วนใหญ่กว่า 80% ชอบวาดรูป โดยได้เริ่มวาดรูปบนกระเป๋ากระจูด หรือบนผ้าเช็ดหน้าบาติก ซึ่งถือเป็นงานซูเปอร์แฮนด์เมด เด็กวาดเอง และกำลังจะแปรรูปตัดเย็บเป็นกระเป๋าใส่เครื่องสำอาง และกระเป๋าใส่ไดร์เป่าผม เพราะในภูเก็ตมีโรงแรมกว่า 2 พันแห่ง 7 หมื่นกว่าห้อง เอามาแค่ 10% ก็พอแล้ว

อีกหนึ่งไฮไลต์คือ การทำสปาเหา และให้เด็กทำร้านตัดผม ตอนนี้มีช่างเป็นนักเรียน 7-8 คนตัดกันทุกวัน คาดว่าจะเปิดร้านตัดผมในอีก 2 เดือนข้างหน้านี้ คาดหวังว่าชุมชนใกล้เคียงจะมาใช้บริการโดยคิดราคาไม่แพง เพื่อให้เด็กได้ฝึกฝน ต่อไปก็จะเริ่มเดินสายไปตัดผมให้เพื่อนที่โรงเรียนอื่น

นอกจากนั้นก็มีเด็กจากพัทลุง นครศรีธรรมราช สงขลา เอาไอเดียทับทรวงมโนราห์มาทำเป็นพวงกุญแจ กระเป๋า และได้ร่วมกับ บ.ประชารัฐรักสามัคคีมุกดาหาร (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด นำผ้าหมักโคลนมาทำตุ๊กตาน้องมุก ซึ่งใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมอน ของประดับ ที่วางมือ รายได้จากการขายจะส่งคืนให้เด็กทั้งหมด

เหล่านี้เป็นผลงานที่เกิดขึ้น เริ่มจากจุดเล็ก ๆ และต้องตรงกับความต้องการของคนที่จะเข้าไปช่วยเหลือด้วย ที่สำคัญความตั้งใจของทีมงานในบริษัท และความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ด้วยที่ทำให้สิ่งเล็ก ๆ นี้สร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคม