“อำไพ หาญไกรวิไลย์” ปธ.หอการค้าสมุทรสาคร รายได้ธุรกิจอาหารทะเลลด 30%

นับเป็นช่วงปรับตัวครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมการประมงและแปรรูป หลังจากรัฐบาลจัดระเบียบการทำประมงและแรงงานต่างด้าว ภายใต้มาตรการการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) เนื่องจากส่งผลสะเทือนอย่างมากต่อเจ้าของเรือประมง แรงงาน โรงงานแปรรูป และผู้บริโภคเองด้วย โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรสาคร หรือเมืองมหาชัยที่เป็นศูนย์กลางการประมงและแปรรูป

สถานการณ์ของธุรกิจอาหารทะเลในจังหวัดสมุทรสาครเป็นอย่างไรนั้น “อำไพ หาญไกรวิไลย์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยรอแยลฟรอเซนฟู๊ด จำกัด ผู้ส่งออกอาหารทะเลแปรรูปแช่แข็งรายใหญ่ จังหวัดสมุทรสาคร และในฐานะประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร ให้ข้อมูลล่าสุดว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาลงตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้วจนถึงครึ่งปี 2560 นี้

ได้ส่งผลกระทบต่อการประกอบอุตสาหกรรมด้านอาหารทะเล รวมไปถึงภาคประมงและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประมงเป็นอย่างมาก โดยภาวะเศรษฐกิจโดยรวมตั้งแต่ช่วงครึ่งปีแรกนั้น ค่อนข้างจะซบเซาเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้เป็นผลมาจากปัญหาทั้งด้านการขาดแคลนแรงงานและด้านเศรษฐกิจ รวมถึงผู้ประกอบการขาดแคลนวัตถุดิบ และวัตถุดิบมีราคาต้นทุนสูง ขณะที่ประชาชนก็ระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็คาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจที่ซบเซานี้ น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น อันเนื่องมาจากปัจจัยต่าง ๆ เริ่มคลี่คลาย และจะเข้าสู่ช่วงงานเทศกาล และประเพณีต่าง ๆ

“อุตสาหกรรมการประมงและแปรรูปประมงตอนนี้อยู่ในช่วงขาลง รายได้โดยรวมลดลงกว่า 30% ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ปริมาณวัตถุดิบลดลง หรือขาดแคลนในบางประเภท จากผลกระทบการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ส่งผลให้การรับคำสั่งซื้อลดลงด้วย”

 

ขณะที่ผลผลิตกุ้งเพาะเลี้ยงก็ได้รับผลกระทบจากภาวะอุทกภัยในช่วงต้นปีนี้ ด้านราคาสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยปรับเพิ่มขึ้นตามปริมาณวัตถุดิบที่ลดลงจากผลกระทบอุทกภัยในภาคใต้และภาวะฝนตกต่อเนื่อง ซึ่งผลจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้เกษตรกรปรับเพิ่มขึ้นตาม ปริมาณการผลิตและส่งออกลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น

ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร บอกว่า ตอนนี้วัตถุดิบอาหารทะเลที่ขาดแคลน และมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนคือ ปลาหมึกและปลาทะเลบางชนิด ทำให้ผู้ประกอบการต้องหันไปนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศอื่นแทน เพื่อที่จะนำส่งให้ทันออร์เดอร์ช่วงปลายปีนี้

อย่างไรก็ตาม จากการที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัว โดยการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตสินค้าให้ทันกับออร์เดอร์ดังกล่าว ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนาดกลาง-ขนาดเล็กหลายรายต้องปิดกิจการ ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่นั้น ทุกวันนี้ถือว่าอยู่ในขั้นทรงตัว ประคองธุรกิจเอาไว้ไม่ให้ทรุดลงไปเท่านั้นเอง

ดังนั้นหากจะมองว่าธุรกิจทุกวันนี้ทรุดตัวลงนั้นเป็นเรื่องจริง แต่อุตสาหกรรมการประมงของสมุทรสาครหรือของไทย ก็ยังนับเป็นแนวหน้าในระดับโลกเหมือนเดิม ยังสามารถที่จะแข่งขันได้ในเวทีโลก เนื่องจากความต้องการบริโภคอาหารทะเลแปรรูปยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งก็ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารทะเลแปรรูป ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการเพาะเลี้ยง ผู้ประกอบการจับสัตว์น้ำ ผู้ประกอบการนำเข้าวัตถุดิบ และผู้ประกอบการแปรรูป ตลอดจนผู้ประกอบการส่งออก

นอกจากนี้ไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จะขาขึ้นหรือขาลง แต่ก็เชื่อมั่นได้ว่า จังหวัดสมุทรสาครจะยังคงเป็นศูนย์กลางการแปรรูปอาหารทะเล เพราะทุกวันนี้จังหวัดสมุทรสาครยังครองความได้เปรียบในฐานะเมืองอุตสาหกรรมอาหารและแปรรูปอาหารทะเลของไทย โดยมีปัจจัยบวกมาจากการเป็นศูนย์กลางการประมงของประเทศ มีโรงงานแปรรูปอาหารทะเลอยู่มาก

ประกอบกับศักยภาพในการผลิตและคุณภาพตรงตามความต้องการของลูกค้าผู้บริโภค และมีภูมิศาสตร์ที่ติดกับทะเล สามารถขนส่งทางน้ำได้สะดวก อีกทั้งยังเป็นเมืองที่ใกล้กรุงเทพฯ การคมนาคม โลจิสติกส์สะดวก รวดเร็ว อยู่ไม่ไกลจากสนามบิน จึงทำให้มีการลงทุนภาคอุตสาหกรรมหนาแน่น

ในส่วนภาพรวมของการจำหน่ายอาหารทะเล ทั้งการส่งออกและขายในตลาดสดนั้น ก็พบว่า มีอาหารทะเลบางชนิดที่ต้องปรับราคาสูงขึ้นกว่าเดิม 50-70% เนื่องจากการขาดแคลนวัตถุดิบในทะเล เช่น ปลาหมึกและปลาทะเลบางชนิด เป็นต้น ขณะเดียวกันในด้านปริมาณการส่งออก หรือปริมาณที่จำหน่ายในตลาดสดก็ลดน้อยลงเกือบครึ่ง


อำไพกล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญที่อยากจะวอนให้รัฐบาลเร่งแก้ไขโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เศรษฐกิจทางด้านอาหารทะเลฟื้นฟูกลับมาได้เหมือนเดิมอีกครั้ง