“ตั้งงี่สุน” ผนึกพ่อเมืองอุดรฝ่าวิกฤต ผนึกซัพพลายเออร์ลดค่าครองชีพ 30-40%

หลังจากมีมาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนลุกลามเป็นลูกโซ่ไปถึงกิจการต่าง ๆ ซึ่งต้องหยุดทำการ รวมถึงระบบเศรษฐกิจหยุดชะงักไปโดยปริยาย “อุดรธานี” เป็นอีกหนึ่งจังหวัดในภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบ ไม่ต่างไปจากจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ ผู้ที่มีต้นทุนสูง พอจะประคองตัวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ แต่หลายคนที่ไม่มีสายป่านยาว ต้องปิดกิจการ มีประชาชนตกงานจำนวนมหาศาล ทำให้ภาครัฐ และภาคเอกชนพยายามระดมความคิดช่วยกันหาทางออก

“มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์” หรือ “เฮียกบ” ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าตั้งงี่สุน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อไม่นานมานี้ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้เปิดโต๊ะหารือกับภาครัฐและเอกชนภายในจังหวัดอุดรธานี เพื่อวางแผนหาทางออกให้กับประชาชน โดยเชิญทั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี นักธุรกิจชั้นนำของจังหวัด เช่น ผู้ประกอบการศูนย์รถยนต์ เจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์ (บ้านจัดสรร) เจ้าของโรงสี เป็นต้น

ดันสร้างอาชีพดีกว่าแจกเงิน

“เฮียกบ” เล่าว่า มีการพูดคุยกันอย่างจริงจังถึงแนวทางการเตรียมพร้อมในด้านต่าง ๆ ของทุกภาคส่วนว่าจะทำอย่างไรต่อไปในสถานการณ์เช่นนี้ และทิศทางของแต่ละฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างไร ซึ่งจังหวัดอุดรธานีนับว่าเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคอีสานที่มีแรงงานกลับบ้านนับหมื่นคน ทั้งจากไปค้างานในต่างประเทศ ในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น หลายคนเป็นแรงงานที่กลายเป็นคนตกงานและไม่สามารถกลับไปทำงานได้อีก แม้เงินจะยังพอมีใช้อยู่แต่ต้องระดมความคิดว่าทำอย่างไรจึงจะยั่งยืนเมื่อถึงเวลาแล้วเงินที่ใช้ในการดำรงชีพหมด

เบื้องต้นการแจกพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ให้ประชาชนสามารถปลูกผักและเลี้ยงไก่ไว้กินไข่ได้ หากประชาชนคนไหนมีพืชผลทางการเกษตรอยู่แล้ว พร้อมจะเปิดตลาดให้นำผลผลิตออกมาวางจำหน่ายได้ ส่วนภาคเอกชนมีผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีโครงการหมู่บ้านจัดสรร หรือเจ้าของอุตสาหกรรมในเขตอุตสาหกรรมที่ยังดำเนินการอยู่ พร้อมรับแรงงานในแต่ละส่วน โดยพิจารณาหลากหลายแนวทางว่าจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไรให้เดินหน้าต่อไปได้

“เมื่อทุกฝ่ายมานั่งคุยกันก็ตกผลึกว่าแต่ละแนวทางการแก้ปัญหาในช่วงวิกฤตโควิดจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอยากให้ช่วยกันคิดและร่วมมือกัน ผมตีความว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเราไม่ได้อยากให้แจกเงิน หรือบริจาคของแล้วจบ เพราะมันไม่มีอะไรต่อจากนั้น ไม่เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ

หากมีการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้วถ้าไม่มีอะไรมารองรับคนในจังหวัด ปัญหาจะมาอย่างแน่นอน อย่างผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีโครงการก่อสร้างบ้านจัดสรรก็ให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดประสานการรับแรงงานเบื้องต้นได้ถึง 500 คน”

ตั้งงี่สุนลดรายจ่ายผู้บริโภค

สำหรับตั้งงี่สุน “เฮียกบ” บอกว่า ในฐานะที่ทำธุรกิจร้านค้าส่ง ร้านค้าปลีก มีโครงการที่จะช่วยคนอุดรธานี โดยการจำหน่ายเครื่องอุปโภคเพื่อลดรายจ่าย ลดค่าครองชีพให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการการป้องกันเชื้อโควิดภายในเดือนพฤษภาคม 2563 ด้วยการคุยกับซัพพลายเออร์ ยก “บริษัท ยูนิลีเวอร์ประเทศไทย จำกัด” ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคสามารถจัดสินค้าใช้ในครัวเรือนรวมกว่า 2,000 ชุด โดยลดราคาพิเศษไปมากถึง 30-40% ประกอบไปด้วย ยาสระผม ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน สบู่ และผงปรุงรส ซึ่งตั้งงี่สุนจะจัดขายและเก็บเงินเอง รวมถึงรับผิดชอบเรื่องการขนส่งสินค้าทั้งหมด เริ่มต้นโครงการที่อำเภอเพ็ญจำนวน 500 ชุด เป็นการขายสินค้าให้กับผู้มีรายได้น้อยให้อยู่ได้นาน 1-2 เดือน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็นผู้ประสานงาน

“โครงการนี้ได้ประสานงานกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอให้ดำเนินการ เพราะนายอำเภอจะทราบรายละเอียดกี่ยวกับคนพื้นที่จะมีรายชื่อและข้อมมูลในแต่ละอำเภออยู่แล้วว่าผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้มีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งจากการเริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผลตอบรับที่ดีมาก ฉะนั้น โครงการร่วมกับบริษัท ยูนิลีเวอร์ฯ ถือว่าเป็นโครงการนำร่องรอบแรก

หลังจากนั้นได้มีการคุยกับ “บริษัท พีแอนด์จี ประเทศไทย จำกัด” ซึ่งตอบรับผมมาแล้วและเข้ามาร่วมโครงการด้วยให้อีก 2,000 ชุด เป็นรอบสอง เราเริ่มต้นที่อำเภอเพ็ญ อำเภอกุมภวาปี อำเภอบ้านผือ อำเภอหนองวัง และเราจะพยายามไปทุกอำเภอทั่วทั้งจังหวัดให้ครบ เป็นโครงการที่ค่อนข้างตรงที่ช่วยในเรื่องโควิดจริง ๆ”

นอกจากนี้ยังมีบริษัท ดูเม็กซ์ ประเทศไทย ผู้ผลิตและจำหน่ายนมผงสำหรับแม่และเด็ก ตอบรับเข้าร่วมโครงการสำหรับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย และจะมีบริษัทอื่น ๆ ตามมาอีก เช่น บริษัท คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก เช่น ยาสีฟันคอลเกต ฯ ขณะเดียวกัน แผนโครงการดังกล่าวตั้งงี่สุนจะพยายามให้แล้วเสร็จจบภายใน 1 เดือน

“เฮียกบ” บอกว่า อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โรคโควิด-19 ของจังหวัดอุดรธานีนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดยังคงดำเนินการควบคุมโควิด-19 ตามมาตรการจากส่วนกลางอย่างเคร่งครัด ประชาชนที่เดินทางจากต่างถิ่นจะเข้ามายังจังหวัดอุดรธานี ต้องถูกกักตัวอยู่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี 14 วัน โดยทางจังหวัดมีเครือข่ายและการบริหารจัดการค่อนข้างแข็งแรงและเป็นระบบ โดยได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี


“สำหรับโปรเจ็กต์ผมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยการประสานงานจากผู้ว่าราชการจังหวัด และคาดว่าโปรเจ็กต์อื่น ๆ จากผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจรายอื่นก็น่าจะเริ่มดำเนินการแล้ว สุดท้ายโรคระบาดโควิด-19 มันยังไม่จบ แต่ถ้ามองเรื่องการผ่อนปรนหรือความร่วมมือที่เกิดขึ้นภายในจังหวัด ตรงนี้คือประเด็น ที่ต้องร่วมกันวางแผนให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปได้”