อิฐแดงเมืองคอนเดี้ยงลูกค้าภูเก็ต-กระบี่ยุติลงทุน

ชะลอผลิต - ก่อเกียรติ เดินทอง หนึ่งในโรงงานผลิตอิฐแดง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราชที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอแผนการลงทุนของลูกค้าธุรกิจท่องเที่ยว

โรงงานอิฐแดงหลายร้อยแห่งทั่วไทยอ่วม ลูกค้าธุรกิจท่องเที่ยว-โรงแรมปิดกิจการชั่วคราว เบรกแผนลงทุนทำ “อิฐแดง” มูลค่าหลายร้อยล้านขายไม่ออก โดยเฉพาะลูกค้าเมืองหลักเมืองท่องเที่ยวใหญ่ “ภูเก็ต กระบี่” โรงแรม รีสอร์ต สถานที่ท่องเที่ยวยุติโครงการหมด โรงอิฐชะลอการผลิต บวกราคาถูกกดดัน 5-20 สตางค์ต่อก้อน จำต้องขายเพื่อต้องการเงินหมุนเวียน

นายทศพล ขวัญรอด โรงงานผู้ผลิตและจำหน่ายอิฐแดง ก่อเกียรติดินทอง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงงานผลิตอิฐแดงหลายร้อยแห่งทั่วประเทศกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ต่างกับธุรกิจอื่น ๆ เนื่องจากลูกค้ารายใหญ่ที่สั่งซื้ออยู่ในธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ต่างได้รับผลกระทบทำให้ต้องยุติแผนการลงทุนต่าง ๆ บางแห่งปิดกิจการชั่วคราว บางแห่งชะลอโครงการ และมีแนวโน้มว่าจะกระทบยาวออกไปกว่าที่ธุรกิจจะฟื้นกลับมา ดังนั้น อิฐแดงซึ่งเป็นหนึ่งในวัสดุก่อสร้างได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปด้วย จากภาวะปกติภาพรวมมีเงินหมุนเวียนประมาณกว่า 35 ล้านบาท/เดือน หรือประมาณปีละกว่า 430 ล้านบาท ตอนนี้ต้องชะลอการผลิต

“อิฐแดงยังพอขายได้อยู่บ้าง เป็นงานก่อสร้างตามหมู่บ้านเป็นที่อยู่อาศัย แต่เมื่อกระทบพื้นที่ลงทุนขนาดใหญ่ระยะยาว จะส่งผลกระทบต่อโรงอิฐ เพราะส่วนใหญ่จะใช้เงินลงทุนมาจากสินเชื่อของธนาคาร บางรายหลังกู้เงินมาลงทุน 4-5 ล้านบาท และในระยะ 2 เดือนนี้ก็ได้รับผลกระทบแล้ว โดยประมาณ 30% ตอนนี้ต้องประคับประคองพนักงานกันไป โดยโรงงานเปิดทำงานประมาณ 4 วัน หยุด 3 วัน บางสัปดาห์ก็ทำงาน 3 วัน หยุด 4 วัน โดยให้พนักงานสลับกันมาทำงาน เพื่อรักษากำลังแรงงานเอาไว้

ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องให้ภาครัฐได้มีมาตรการเยียวยาหลังจากที่ช่วยไปทุกภาคส่วนหลายธุรกิจแล้ว แต่โรงอิฐแดงยังไม่มีแผนดำเนินการเยียวยา จึงให้ภาครัฐดำเนินการเช่นเดียวกับภาคธุรกิจอื่น ๆ คือพักเงินต้น และพักดอกเบี้ย เบื้องต้นระยะ 6 เดือน เป็นระยะแรกก่อน จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะที่ไปได้ โดยเฉพาะโรงอิฐแดง เป็นสินค้าคงทน ไม่มีความเสี่ยง” นายทศพลกล่าว

นายทศพลกล่าวต่อไปว่า หากพิจารณาภาพรวมโรงงานอิฐแดงในภาคใต้ เฉพาะในพื้นที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตอิฐแดงรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของภาคใต้ มีโรงงานอิฐแดงรวมกันถึง 45 แห่ง มีกำลังการผลิตรวม 180 เตา โดยบางแห่งมี 4 เตา 6 เตา และ 7 เตา เป็นต้น โดยเฉลี่ยแล้วแห่งละ 4 เตา แต่ละเตา มีกำลังการผลิต ประมาณ 120,000 ก้อน/เดือน มีขนาด 4 รู และ 8 รู โดยอิฐแดงขนาด 8 รู ราคาหน้าโรงงาน 1.20 บาท/ก้อน และ ขนาด 4 รู ราคาหน้าโรงงาน 3.20 บาท/ก้อน นอกจากนี้ยังมีโรงอิฐที่จ.พัทลุง สงขลา และสตูล ต่างได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากลูกค้ารายใหญ่ที่สั่งซื้ออยู่ในธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะใน 2 จังหวัดเมืองท่องเที่ยวหลักระดับโลก เช่น จ.ภูเก็ต จ.กระบี่ เมื่อธุรกิจดังกล่าวได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการชั่วคราว จังหวัดถูกล๊อกดาวน์ ทำให้แผนการลงทุนพัฒนาก่อสร้างโรงแรม รีสอร์ต ที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ ต้องยุติลงทั้งหมด ส่วนพื้นที่ภาคกลางมีโรงอิฐแดงที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง

“ตอนนี้โรงอิฐแดง ยังมีการค้างสต๊อกวัตถุดิบ เช่นดิน ประมาณ 400 – 500 เที่ยว / โรง มูลค่าดินโดยเฉลี่ยเที่ยวละประมาณ 1,600 บาท มูลค่าประมาณ กว่า 600,000 – 800,000 บาท / โรง โดย ยังไม่นับรวมถึงไม้ฟืน เพราะจะต้องสต๊อกเอาไว้ประมาณ 4 เดือนในช่วงฤดูฝนนี้ รวมแล้วเป็นมูลค่าที่มาก ที่จะต้องแบกภาระเงินกู้ และดอกเบี้ยกับสถาบันการเงิน และประการสำคัญ โรงอิฐยังถูกกดดันทางด้านราคาสูงมาก โดยมีการดัมพ์ราคา 00.05 บาท – 00.10 บาท และ 00.20 บาท/ก้อน ต้องจำยอมขายออกไป เพราะโรงงานต้องการเงินสดมาเป็นทุนหมุนเวียน จึงจำเป็นต้องขายขาดทุน”