17 จังหวัดภาคเหนือถอดบทเรียนไฟป่า เน้นสร้างฐานข้อมูลจริง-เร่งรับมือปี 64

แฟ้มภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (8 พฤษภาคม 2563) พลโทฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาคที่ 3 ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาค เป็นประธานการประชุมถอดบทเรียน การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ ร่วมกับ 17 จังหวัดภาคเหนือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นการประชุมระบบทางไกลผ่านจอภาพ ณ ห้องประชุมค่ายกาวิละ มทบ.33 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

พลโทฉลองชัย เปิดเผยว่า การประชุมวันนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันถอดบทเรียน ในการเตรียมการแก้ไขไฟป่าหมอกควันสำหรับในปีหน้า (2564) เพื่อสรุปนำเรียนผ่านทางกองทัพบก ซึ่งถ้าประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเอาสรุปบทเรียนในแต่ละปีมาแก้ไข ปัญหาน่าจะคลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม การแก้ไขยังไม่ค่อยน่าพอใจนัก เนื่องจากปัญหาที่ผ่านมาไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร ซึ่งต้องทบทวนว่าในแต่ละหน่วยงานติดขัดเรื่องอะไร

แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า ในการทำงานปีนี้ ในส่วนของกองทัพให้การสนับสนุนกำลังพลและยุทโธปกรณ์อากาศยานเป็นหลัก ซึ่งทราบว่าทุกหน่วยมีข้อมูลอยู่แล้ว ในปีหน้าถ้าเจ้าของพื้นที่ดำเนินการเองปัญหานี้ก็จะเบาลงกว่าปีนี้ ทั้งเรื่องคนที่อยู่กับป่า เรื่องกฎหมายหรือการใช้อำนาจบังคับที่จะให้ทุกหน่วยงานเข้ามาร่วมกันทำงาน การแก้ไขปัญหาน่าจะดีขึ้น

ทั้งนี้ สถานการณ์หมอกควันไฟป่าพื้นที่ภาคเหนือจะเริ่มมีผลกระทบตั้งแต่เดือนมกราคม- เมษายนของทุกปี ทภ.3 ได้จัดตั้ง บก.คฟป.ทภ.3 สน. ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2562 เพื่อบูรณาการแผนงานของ 9 จะงหวัดและเชื่อมประสานกับหน่วยงานส่วนกลางแต่เนิ่นๆ โดยใช้การประชุม VTC ทุกสัปดาห์ เป็นการขับเคลื่อนส่วนกลางและจังหวัด ซึ่งเป็นปีแรกที่สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 โดยงานที่สำคัญการให้แต่ละจังหวัดชี้แจงแผนการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า โดยเฉพาะการสร้างการรับรู้, การบริหารจัดการเชื้อเพลิงโดยไม่เผา การตรวจสอบผู้เข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า, เมื่อเกิดสถานการณ์หมอกควันไฟป่า ต้องเข้าแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การดับไฟ, การควบคุมพื้นที่, การเตรียมพื้นที่ปลอดภัย ซึ่ง กองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้าได้ให้หน่วยขึ้นตรงศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 3 เตรียมการจัดชุดดับไฟป่าสนับสนุน เมื่อจังหวัดร้องขอ

พลโท ฉลองชัย กล่าวต่อว่า เนื่องจากสภาพความแห้งแล้งปีนี้เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ต่อเนื่องมา และสภาพภูมิประเทศในพื้นที่เป็นแอ่งกระทะประกอบกับความกดอากาศสูงต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ม.ค. ทำให้ค่าคุณภาพอากาศเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาในห้วงเวลาเดียวกัน จะเกิดค่าคุณภาพอากาศ กระทบมากกว่าปีที่แล้ว

ในส่วนของการใช้อากาศยานสนับสนุน เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ และการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ มีการนำเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 2 ก (BT-67) จาก ทอ. (ตั้งแต่วันที่ 16–27 มีนารม 2563) ใช้ในการโปรยน้ำสร้างความชุ่มชื้นลดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก ในพื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 23 เที่ยวบิน ปริมาณน้ำ 69,000 ลิตร เครื่องบินฝึกแบบ 41 (บ.ฝ.41) ทำการบินลาดตระเวนทางอากาศ รวม 44.30 ชั่วโมง ตลอดจนการเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปแบบ 72 (ฮ.ท.72) (ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ) ทำการบินลาดตระเวนทางอากาศ รวม 34.24 ชั่วโมง รวมถึงการใช้ชุดอากาศยานไร้คนขับ (UAV) จาก ทบ. ทำการบินลาดตระเวนทางอากาศ พร้อมแสดงผลแบบ Real Time (ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2563) จำนวน 42.25 ชั่วโมงบิน ตรวจพบไฟป่า จำนวน 141 เป้าหมาย