พาณิชย์ตราดดันขยายตลาด “น้ำมันกฤษณา-ผลไม้”

ขยายตลาด - นายวิโรจน์ ภิเภก พาณิชย์จังหวัดตราด ได้ประชุมผ่านออนไลน์ร่วมกับฑูตพาณิชย์เพื่อหาทางขยายตลาดส่งออกน้ำมันกฤษณาและผลไม้เพิ่มขึ้น

พาณิชย์ตราดถกทูตพาณิชย์นครดูไบ เร่งขยายตลาดส่งออกน้ำมันไม้กฤษณา-ผลไม้ไทยสู่ตลาดตะวันออกกลาง หลังโควิดระบาด ยอดส่งออกลด ต้นทุนค่าขนส่งทางอากาศพุ่ง ด้านหอการค้าตราดแนะทางออกปรับรูปแบบใช้ขนส่งทางเรือ พร้อมหนุนทำวิจัยแปรรูปผลไม้ ชูจุดเด่นใส่แพ็กเกจจิ้งได้มาตรฐานส่งออก

นายวิโรจน์ ภิเภก พาณิชย์จังหวัดตราด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อปลายเดือนเมษายนและต้นพฤษภาคม 2563 พาณิชย์จังหวัดตราดได้จัดประชุมหารือผ่านระบบ web conference (Zoom) กับสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศนครดูไบ และประเทศแถบตะวันออกกลาง เพื่อขยายตลาดการค้าน้ำมันกฤษณาและผลไม้ของไทย รวมทั้งแก้ปัญหาที่ทำให้ราคาน้ำมันกฤษณาราคาตกต่ำ และโอกาสตลาดผลไม้ไทยที่มีผลต่อการส่งออกไปตลาดตะวันออกกลาง ทั้งนี้ จังหวัดตราดมีความพร้อมในการผลิตน้ำมันกฤษณาเป็นจำนวนมาก และมีโรงงานสกัดน้ำมันกฤษณากว่า 100 แห่ง ที่ผ่านมาต้องขายผ่านให้พ่อค้าคนกลาง ทำให้โรงงานขนาดกลางและขนาดย่อมขาดเงินทุนหมุนเวียน ถ้ามีการผลักดันให้จังหวัดตราดเป็นตลาดศูนย์กลางเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไม้กฤษณาจะสร้างรายได้มูลค่าสูง

จึงได้นำเสนอข้อมูลให้ สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศนครดูไบ ร่วมกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี (ทูตพาณิชย์) และผู้ประกอบการค้าน้ำมันกฤษณาแถบตะวันออกกลางที่บาห์เรน หาแนวทางแก้ปัญหาการตลาดร่วมกับนายกสมาคมการค้าน้ำมันกฤษณาแห่งประเทศไทย คือ 1) ช่องทางการจำหน่ายน้ำมันกฤษณาไปยังประเทศแถบตะวันออกกลาง 2) การเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าและเชื่อมโยงการตลาดให้ขายสินค้าเพิ่มมากขึ้น โดยผลักดันน้ำมันไม้กฤษณาเข้าสู่ห้าง Thai Mart ในบาห์เรน ซึ่งเป็นห้างขนาดใหญ่แห่งแรกในตะวันออกกลาง

นอกจากนี้ ทูตพาณิชย์ประเทศตะวันออกกลางได้นำเสนอข้อมูลความต้องการผลไม้ไทยในตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เช่น มะม่วงแก้ว มะม่วงน้ำดอกไม้ ลำไย ทุเรียน มังคุด และผลไม้แปรรูป ซึ่งการทำตลาดที่ผ่านมาประสบปัญหาราคาผลไม้ไทยสูงกว่าประเทศอื่นในอาเซียน เนื่องจากต้องขนส่งทางอากาศ ซึ่งมีต้นทุนค่าขนส่งสูง เพราะบางประเทศไม่มีสายการบินตรงจากไทย ขณะเดียวกันต้องไปแข่งขันกับผลไม้ของประเทศในอาเซียน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือแม้แต่ผลไม้ที่ผลิตได้เองในตะวันออกกลางรวมทั้งมาตรการจัดเก็บภาษีบางประเทศของแอฟริกาเหนือ มีอัตราสูงถึง 30-86% ทำให้ผลไม้ไทยขยายตัวได้น้อยมาก

ที่ประชุมจึงเสนอแนวทางให้ใช้การขนส่งทางเรือและส่งเสริมตลาดเป้าหมายในอัตราที่ต่ำประมาณร้อยละ 5 คือ นครดูไบ กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และบาห์เรน ซึ่งทูตพาณิชย์จะรวบรวมปัญหา และข้อเสนอแนะของภาคเอกชน หารือร่วมกับอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศต่อไป

ทางด้าน นายวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดตราด และประธานสหกรณ์การเกษตรเพื่อการแปรรูปและส่งออกจังหวัดตราด จำกัด กล่าวว่า การพึ่งพาตลาดจีนเพียงแห่งเดียวไม่มีความยั่งยืน หรืออาจมีการแข่งขันสูง การปรับตัวไปตามความต้องการของตลาดตะวันออกกลางจะได้ตลาดเพิ่มขึ้น เช่น การวางแผนการผลิต มีการวิจัยแปรรูปผลไม้ใส่บรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ปรับระบบขนส่งไปทางเรือ

นายดำ พุทธเกสร นายกสมาคมการค้าน้ำมันกฤษณาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พาณิชย์เข้ามาช่วยขยายตลาดน่าสนใจ เพราะน้ำมันไม้กฤษณามีตลาดใหญ่ที่ตะวันออกกลาง คือ ดูไบ โอมาน ซาอุดีอาระเบีย คูเวต ก่อนหน้านี้มีพ่อค้านายหน้าจากต่างประเทศเข้ามาซื้อจากโรงงานขนาดกลาง และขนาดเล็กโดยตรง แต่ถูกกดราคาจนขาดทุน ต่ำถึงโตร่าละ 1,300-1,500 บาท ทั้ง ๆ ที่ราคาปี 2562 ราคา 1,700-2,000 บาท ปี 2561 มูลค่าน้ำมันกฤษณาประมาณ 250 ล้านบาท พอถูกตีตลาดปี 2562 ลดลงเหลือ 180 กว่าล้านบาท ปี 2563 ขายได้แค่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ประมาณ 10 กว่าล้านบาท เมื่อเกิดโรคโควิด-19 เครื่องบินพาณิชย์หยุดบินก็ส่งออกไม่ได้ ผู้จำหน่ายรายย่อยขาดเงินทุนหมุนเวียน ขายตัดราคากันเอง สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ