อีสท์วอเตอร์ขึ้นค่าน้ำ 93 สต. ยอมถอยเลิกสูบน้ำประแสร์

อีสท์วอเตอร์ยอมถอยหยุดสูบน้ำอ่างประแสร์ หลังชาวบ้าน 3 อำเภอ”วังจันทร์-แกลง-เขาชะเมา” ขู่ยึดโรงสูบน้ำ เหตุประแสร์เหลือน้ำใช้การได้ไม่ถึง 2 ล้าน ลบ.ม. แม้เข้าสู่ฤดูฝนแล้วก็ยังไม่มีน้ำไหลลงอ่างโรงงานอุตสาหกรรมในระยองเดือดร้อนหนัก ต้องจ่ายค่าน้ำเฉพาะแล้งนี้ให้อีสท์วอเตอร์อีก 93 สตางค์ กนอ.ปัดฝุ่นโครงการทำน้ำจืดจากน้ำทะเลใช้เฉพาะฤดูแล้ง

สถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกกำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤตในช่วงรอยต่อระหว่างปลายฤดูแล้งกับต้นฤดูฝน ปรากฏ 6 อ่างเก็บน้ำหลักในพื้นที่เหลือปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันแค่ 135 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 10 มีปริมาณน้ำระบายรวมกันแค่วันละ 2.46 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น เฉพาะอ่างเก็บน้ำหลัก “ประแสร์” ที่กำลังเกิดข้อพิพาทแย่งน้ำกันระหว่างชาวสวนผลไม้ กับบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ East Water เหลือน้ำใช้การได้อยู่ 2 ล้าน หรือคิดเป็นร้อยละ 1 จนไม่สามารถระบายน้ำออกจากอ่างได้อีกแล้ว

ส่งผลให้สัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวสวนผลไม้ 3 อำเภอ รอบอ่างเก็บน้ำประแสร์ ได้แก่ อ.วังจันทร์ อ.แกลง และ อ.เขาชะเมา จ.ระยอง ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือถึงผู้อำนวยการอ่างเก็บน้ำประแสร์ เพื่อสั่งให้ East Water หยุดสูบน้ำจากอ่างประแสร์ไปให้ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงให้หยุดจ่ายน้ำให้จังหวัดชลบุรีด้วย เนื่องจากถ้าปล่อยให้สูบน้ำต่อไป ชาวบ้านจะไม่มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร หากไม่มีการดำเนินการตามข้อเรียกร้องก็จะบุกเข้าโรงงาน East Water ในสัปดาห์นี้ทันที”

ขอขึ้นค่าน้ำแก้แล้ง 93 สต.

นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ East Water กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทได้ตัดสินใจยุติการสูบน้ำไปเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา หลังจากได้รับทราบสถานการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง มีปริมาณน้ำเหลือน้อยจนอยู่ในระดับที่ต้องรักษาน้ำไว้เพื่อความมั่นคงของอ่าง ประกอบกับสถานการณ์ภัยแล้งได้คลี่คลายลงไปแล้ว เพราะประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว และขณะนี้ในพื้นที่เริ่มฝนตกลงมา จึงทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลัก ๆ มีปริมาณเพิ่มขึ้นจนเพียงพอกับความต้องการใช้ตามแผนของลูกค้าอีสท์วอเตอร์ที่ได้แจ้งความต้องการใช้น้ำล่วงหน้าระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2562 ถึงพฤศจิกายน 2563 ประมาณ 308 ล้าน ลบ.ม.

“ส่วนอัตราค่าน้ำนั้น ทางบริษัทได้ตกลงกับกลุ่มภาคอุตสาหกรรม เพื่อขอปรับขึ้นค่าน้ำชั่วคราวในช่วงภัยแล้งไปแล้ว ในอัตรา 93 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อให้สอดรับกับต้นทุนที่บริษัทได้ลงทุนจัดหาน้ำและบริหารจัดการน้ำประมาณ 7-8 โครงการ แต่การปรับขึ้นค่าน้ำครั้งนี้ เราจะปรับขึ้นชั่วคราวเท่านั้น หลังจากผ่านพ้นแล้งไปแล้วก็จะหยุด แต่การปรับขึ้นค่าน้ำครั้งนี้ไม่ใช่การปรับรอบที่ 2 เพราะตามแผนปรับโครงสร้างราคาน้ำระบบใหม่ที่เคยจะเริ่มใช้ในเดือนมกราคม 2563 นั้น ทางบริษัทตัดสินใจเลื่อนออกไปเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยจะชะลอการขึ้นค่าน้ำตามโครงสร้างราคาน้ำระบบใหม่ออกไปอีก 1 ปี” นายจิรายุทธกล่าว

ทั้งนี้ สำหรับระบบโครงสร้างค่าน้ำใหม่ที่ชะลอไปนั้นเป็นไปตามแคมเปญ URD ที่ลูกค้าใช้น้ำมากหรือน้อยก็จะต้องจ่ายตามอัตราที่ใช้จริง โดยกำหนดอัตราว่าจะปรับขึ้นประมาณ 7% หรือ 16.45 บาทต่อหน่วย จากเดิมที่เฉลี่ยที่ 11 บาทต่อหน่วย

สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช.

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สทนช.จะมีการประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการลุ่มน้ำจังหวัดและภาคเอกชนเป็นการเร่งด่วน พร้อมกับยอมรับว่าตอนน้ำภาคตะวันออกยังมีปัญหา โดยเฉพาะอ่างประแสร์ที่เหลือน้ำใช้การน้อยมาก หรือเหลือใช้การได้แค่ 2-3 ล้าน ลบ.ม. “น้ำก็จะหมดอ่าง” แม้ว่าจะเข้าสู่ฤดูฝน แต่เนื่องจากว่าการใช้น้ำต้องผ่านความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการลุ่มน้ำจังหวัด ซึ่งที่ผ่านไม่มีการเสนอผ่านลุ่มน้ำก่อน ส่งผลให้เกิดปัญหาการจัดสรรน้ำในขณะนี้

แหล่งข่าวจากภาคอุตสาหกรรมจังหวัดระยองกล่าวว่า ตอนนี้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบด้านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากการที่ East Water ได้ขอปรับเพิ่มค่าน้ำอีก 93 สตางค์/หน่วย เป็นการเฉพาะกิจเป็นเวลา 1 ปี นับตั้งแต่ทำสัญญาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยให้เหตุผล “ต้องนำเงินไปลงทุนเพิ่มในการหาแหล่งน้ำ” ในขณะที่ผลประกอบการของภาคธุรกิจมียอดส่งออกติดลบ ยอดขายภายในประเทศก็ลดลง จากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาต่อเนื่องมาถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นการสร้างภาระต้นทุนทางธุรกิจที่สูงขึ้น “หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการวางแผนระยะยาวรองรับให้ชัดเจนมากกว่านี้ หาก EEC แล้วเสร็จความต้องการน้ำจะเพิ่มจาก 1 ล้าน ลบ.ม. เป็น 1.5 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน”

ตั้งโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล

ด้านนางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.เตรียมจัดทำแผนการจัดหาน้ำเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยไม่ต้อง “รบกวน” แบ่งน้ำจากภาคการเกษตร โดยมีแผนจะสร้างโรงงานนำน้ำทะเลมาผลิตเป็นน้ำจืด เบื้องต้นมีแผนตั้งบริษัทลูกเพื่อร่วมลงทุนกับภาคเอกชน ผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลจะช่วยป้อนน้ำให้กับโรงงานในช่วงที่มีปัญหาภัยแล้ง ทำให้สร้างความมั่นใจว่าจะมีน้ำใช้ในภาคอุตสาหกรรมอย่างเพียงพอแน่นอน

ที่ผ่านมาโรงงานขนาดใหญ่หลายรายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีโรงงานผลิตน้ำจืดของตัวเองแล้ว แต่โครงการของ กนอ.จะช่วยผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกทั้งหมด โดยโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลเบื้องต้นจะขยายจากแผนเดิมด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 300,000 ลบ.ม./วัน ส่วนราคาขายน้ำจืดจะตกลงกับผู้ประกอบการก่อน เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระที่สูงจนเกินไป “โรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะลจะผลิตน้ำจืดในช่วงเวลาสั้น ๆ เฉพาะฤดูแล้งเท่านั้น แต่ในช่วงอื่น ๆ ก็จะใช้น้ำจากแหล่งน้ำตามปกติ ทำให้เมื่อเฉลี่ยทั้งปี ต้นทุนน้ำจืดจะไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ประกอบกับตัวโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่มาบตาพุด ทำให้ต้นทุนการวางท่อส่งน้ำต่ำกว่าการวางท่อส่งน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ไกล คาดว่าโครงการจะมีความชัดเจนภายใน 2-3 เดือนนี้” น.ส.สมจิณณ์กล่าว

นายทินกร สุทิน ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดชลบุรี กล่าวถึงสถานการณ์น้ำโดยรวมปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างเหลืออยู่ 16% ประมาณ 50 ล้าน ลบ.ม. จากแหล่งน้ำทั้งหมดของจังหวัดชลบุรี ที่มีความจุรวม 295 ล้าน ลบ.ม. และมั่นใจว่าจะสามารถใช้น้ำที่เหลืออยู่ได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายนนี้ “แม้ฝนยังไม่ตกลงมาเติมน้ำในอ่างตอนนี้ เราก็มั่นใจว่าจะผ่านวิกฤตภัยแล้งปีนี้ไปได้ ทางกรมอุตุฯก็ประกาศเข้าสู่ช่วงฤดูฝนของประเทศแล้ว ส่วนมาตรการรองรับภัยแล้งปีหน้า เมื่อแม่น้ำบางปะกงมีความเค็มน้ำตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ก็จะมีการสูบน้ำมาเก็บไว้ที่อ่างบางพระ อีกส่วนหนึ่งหากมีฝนตกลงลุ่มน้ำคลองหลวง ที่คลองพานทอง ก็สามารถสูบน้ำมาเก็บไว้ที่อ่างบางพระได้อีก สุดท้ายคือสูบน้ำจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตก็จะสูบมาเก็บที่อ่างบางพระเช่นเดียวกัน รวมทั้ง 3 แห่งจะได้ปริมาณน้ำประมาณ 100 ล้าน ลบ.ม.” นายทินกรกล่าว