เดิมพัน “บ้านล้านหลัง” อุ้มคนตกงาน-โรงงานวัสดุ 6 จังหวัดอีสาน

Photo by Raul ARBOLEDA/AFP

ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบให้ “คนตกงาน” จำนวนมหาศาล นอกจากโครงการช่วยเหลือเงินเยียวยา 5,000 บาท จากรัฐบาลผ่านโครงการเราไม่ทิ้งกันแล้ว ทานน้ำใจมากมายจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนทั้งรูปแบบองค์กร และส่วนบุคคลหลั่งไหลไปสู่ผู้ได้รับความเดือดร้อนกันหลากหลาย ในรูปของการ “แจกฟรี” ทั้งแจกเงินสด ถุงยังชีพ ข้าวกล่อง ตั้งตู้ปันสุข ฯลฯ แต่การแจกถือเป็นเพียงการประทังชีวิตในเบื้องต้น

ดั่งพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2541 ความตอนหนึ่งว่า “เราไม่ควรให้ปลาแก่เขา แต่ควรจะให้เบ็ดตกปลา และสอนให้รู้จักวิธีตกปลาจะดีกว่า”

ดังนั้นในค่ำคืนหนึ่ง “นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร” พ่อเมืองอุดรธานี ซึ่งเห็นปัญหาของชาวอุดรฯที่กำลังทุกข์ยาก จึงได้เชิญเหล่าบรรดานักธุรกิจรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของจังหวัด ไปหารือที่จวนผู้ว่าฯ หลังจากนั้นโครงการดี ๆ เกิดขึ้นในจังหวัดอุดรฯ

เริ่มจาก “มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์” หรือ “เฮียกบ” ผู้บริหารห้างสรรพสินค้า “ตั้งงี่สุน” ในฐานะที่ทำธุรกิจร้านค้าส่ง ร้านค้าปลีก ช่วยทำโครงการลดค่าครองชีพให้กับคนอุดรในเดือนพฤษภาคม 2563 ด้วยการคุยกับซัพพลายเออร์รายใหญ่หลายราย เพื่อขอส่วนลดในการจำหน่ายเครื่องอุปโภคลดราคาพิเศษ 30-40% เช่น ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย, พีแอนด์จี, ดูเม็กซ์ และคอลเกต-ปาล์มโอลีฟ เป็นต้น

ทุ่ม 2 พัน ล.ลุยบ้านล้านหลัง

ล่าสุด “วิชัย ประเสริฐสิทธิ์” หรือ “เฮียตี๋” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กรีน เมโทร จำกัด ผู้พัฒนาโครงการหมู่บ้านจัดสรร โครงการดิ เอนทรีโอ จังหวัดอุดรธานี หนึ่งในนักธุรกิจรายใหญ่ที่นั่งร่วมโต๊ะในค่ำคืนนั้น กำลังจะลุยลงทุนโครงการใหญ่ช่วยคนอุดรอีกจำนวนมหาศาล

ที่สำคัญ “เฮียตี๋” ไม่ใช่นักธุรกิจแค่ระดับจังหวัดอุดรฯเท่านั้น เพราะเมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท กรีน เมโทร เพิ่งจะร่วมแถลงข่าวใหญ่กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในการรับสร้าง “โครงการบ้านล้านหลัง” จำนวน 1,200 หลัง มูลค่าเฉียด 2,000 ล้านบาท ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคอีสาน ประกอบด้วย อุดรธานี, นครราชสีมา, ขอนแก่น, หนองคาย, สกลนคร และร้อยเอ็ด

โดย “เฮียตี๋” เล่าว่า ผู้ว่าฯเก่งดึงให้พวกเรามาช่วยกันคิด สุดท้ายทุกคนยอมเสียสละในหลาย ๆ เรื่อง แทนที่จะเอาเงินไปแจก ก็ดูดีนะ แต่ในความคิดส่วนตัวของผม ผมบอกผู้ว่าฯ ผมอยากจะสร้างงาน ผมก็คุยกับพวกหุ้นส่วนว่า จะลงทุน “โครงการบ้านล้านหลัง” ในจังหวัดต่าง ๆ ตามแผน 1,200 หลัง จะต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปลายปี 2564 ดังนั้น ถึงจะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราจะไม่ชะลอโครงการ หุ้นส่วนทุกคนเห็นว่า โครงการขายได้ ของดีราคาถูก ยังไงก็ขายได้ ลุยเลย

ตอนนี้โครงการบ้านล้านหลัง เฟสแรก ใช้ชื่อ “โครงการดิ เอนทรีโอ” ซึ่งเป็นทาวน์โฮม 2 ชั้น เฟสแรก จำนวน 170 หลัง ตั้งอยู่ อ.เมืองอุดรฯ ขายได้หมดแล้วในวันแรกที่เปิดจอง จะเริ่มเฟสสองต่อเลย เป็นทาวน์โฮมเช่นกันที่ อ.เมือง จ.อุดรธานี อีก 150 หลัง เพราะทุกวันมีคนมาจองเรื่อย ๆ เนื่องจากดีกว่าบ้านเอื้ออาทร เพราะเป็นหมู่บ้านจัดสรรจริง ๆ ถนนกว้าง ระบบสาธารณูปโภคก็ครบเครื่อง และเฟส 3 ทำที่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ประมาณ 500 กว่าหลัง หลังจากนั้นจะเตรียมเปิดตัวโครงการทาวน์โฮม จ.ขอนแก่น อีก 400 ยูนิต ในเดือนมิถุนายน หรือกรกฎาคม 2563 ตอนนี้งานแกรนด์โอเพ่นนิ่งชะลอไป 1 เดือนครึ่งแล้ว และตามด้วย จ.ร้อยเอ็ด 100 กว่ายูนิต ราคาประมาณ 1.49 ล้านบาท อาจไม่ใช่โครงการบ้านดิ เอนทรีโอ

อุ้ม 200 คนสร้างงาน

เบื้องต้นโครงการลงทุนสามารถรับคนอุดรเข้าทำงานได้ 200 คน ไม่ได้รับเฉพาะคนงานก่อสร้าง จะมีพนักงานหลายส่วน เช่น ฝ่ายการตลาด การขาย บัญชี การเงิน หากผู้มาสมัครคนไหนมีทักษะงานช่าง จะตัดงานให้รับเหมาไปทำ เพราะงานเราเยอะ บ้านหลายร้อยหลัง เช่น ผลิตประตู ทำอะลูมิเนียม ฝ้าเพดาน หากทำไม่เป็นก็มาฝึกทำ แต่ต้องทำให้ดี มีคุณภาพ ผมก็จะรับซื้อแล้ว เพื่อให้มีรายได้ไปจุนเจือครอบครัวตัวเองให้รอดก่อน

“เดี๋ยวนี้เช่าบ้านเดือนละ 2,500-3,000 บาท ได้ห้องนอนห้องเดี่ยว แต่โครงการบ้านล้านหลัง เป็นทาวโฮมน์ 2 ชั้น 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ 1 ห้องรับแขก 1 ห้องทำงาน โครงการมีคลับเฮาส์ สระว่ายน้ำ สนามฟุตซอล ถนนในโครงการใหญ่ 14-15 เมตร ถนนซอย 9 เมตรขึ้น เราไม่ได้ทำบ้านเอื้ออาทร แต่ผ่อนถูกเดือนละ 3,800 บาท รัฐบาลช่วยเหลือก็เป็นผลดีกับคนซื้อ ถ้าเทียบทาวน์โฮมทั่วไปขายกัน 1.4 ล้านบาท ต้องผ่อนเดือนละ 5,000 บาท ดังนั้น เราทำบ้านที่ดีให้กับคนที่ต้องการบ้านอยู่อาศัย คนก็อยากซื้อ สมมุติถ้าใครขอกู้เงินซื้อบ้านกับ ธอส. เจอโควิด ไปเจรจาขอหยุดผ่อนชั่วคราวได้ ดังนั้นถึงมีโควิด-19 ลูกค้ากลุ่มนี้หายไปเพียง 20-30% คนจำนวนมากยังต้องการมีบ้าน แต่อาจจะกู้ยากขึ้น เราต้องมาช่วยดูแล

ตอนนี้ไม่ได้หวังจะเอากำไร จะเอารายได้ส่วนนี้ให้เกิดการจ้างงาน ตอนนี้อย่าเรียกว่าช่วย ผมว่าเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องช่วยกัน ไม่อย่างนั้นประเทศอยู่ไม่ได้ ไม่มีกำไร ก็ไม่เห็นเป็นไร ถ้าทุกคนมีกิน เดี๋ยวก็ดีเอง แต่ถ้าเราหวังจะเอาของตัวเอง มันก็ไม่รอด เห็นแก่ตัว ยิ่งตาย”

ชวนนายทุนสร้างอาชีพ

ถ้าผมสามารถจุดกระแสตัวนี้ให้คนอยากลงทุน อย่างผมทำโครงการ คนงานในโรงงานวัสดุก่อสร้าง โรงงานเฟอร์นิเจอร์ โรงงานผลิตแอร์ ก็รอดไม่ตกงาน ร้านผ้าม่านก็ขายได้ ทุกคนเริ่มมีงานทำบ้าง นี่คือสิ่งที่อยากให้เกิดมากกว่า จะมาดูกันเรื่องกำไรมากกำไรน้อย ชั่วโมงนี้ไม่ใช่เรื่องกำไรแล้ว แต่แน่นอนบริษัทต้องมีรายได้เข้า มีกำไรต้องทำให้กับผู้ถือหุ้น ผมก็แจงกับผู้ถือหุ้นว่า ไม่จำเป็นต้องเอากำไรเยอะ ตามแผนการ อันไหนรับเหมาไปได้ เช่น อันไหนตลาดว่าจ้าง 100 บาท เราอาจว่าจ้าง 110 บาทต่อชิ้นไปเลย เพื่อให้ทุกคนมีเงินหมุนในตลาด อันนี้คือสิ่งที่กำลังจะทำ ให้ทุกคนได้ประโยชน์ แต่สุดท้ายเราก็ได้ประโยชน์ด้วย เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักร

การที่ผมทำอย่างนี้ อยากกระตุ้นให้คนอื่นเห็นว่า ทำไมบริษัท กรีน เมโทร ทำได้ เราต้องช่วยกันทำ จริง ๆ เงินไม่ได้หายไปไหน อยู่ที่ว่าคนไม่ใช้เงิน นักลงทุนก็ไม่กล้าเอาเงินไปลงทุน ทุกอย่างเป็นวัฏจักรหมุนกันไปมา อันตราย

หากผู้ประกอบการทำของดี ขายราคาถูก ยังไงก็ขายได้ หากทุกคนสามารถเปลี่ยนมุมมองอย่างนี้ เดี๋ยวประเทศไทยก็ฟื้น โควิดอยู่กับเราไม่นาน ไม่ถึง 1 ปีครึ่ง

คอนเซ็ปต์ตอนนี้อยากให้ทุกคนช่วยกัน ไม่ใช่เฉพาะผู้ประกอบการ ลูกจ้างต้องช่วย ทุกคนต้องช่วยให้ประเทศนี้ดีขึ้น ประเทศไทยไม่ได้เผชิญความเลวร้ายมาก แต่ทุกคนต้องช่วยตัวเองด้วย

ผมไม่เห็นด้วยกับการแจก ถ้ายังแจกของอย่างนี้อยู่ ลองเอาเงินทั้งหมดที่จะแจกมารวมกัน แล้วสร้างงาน มันผันได้อีกหลายรอบ 1 คนเลี้ยงได้ 1 ครอบครัว เงิน 5,000 บาท ตอนแรกเป็นเหมือนยาที่ต้องใส่ แต่ต่อไปจะแจกเงินไม่ได้แล้ว ประเทศจะไปไม่ได้รอด เหมือนเดินมาเจอคนแจกเงิน ก็เข้าแถวรอรับแจก ประเทศนี้จะเป็นแบบนี้ไม่ได้ ต้องสอนให้ทำคนงาน ผู้ประกอบการต้องคิด คนที่เก่งต้องคิดเรื่องสร้างงาน

 

พ่อเมืองอุดรผนึกนักธุรกิจ ฟื้น ศก.สร้างงาน-สร้างอาชีพ

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร” ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ผู้อยู่เบื้องหลังโครงการต่าง ๆ ในการช่วยฟื้นเศรษฐกิจเมืองอุดรว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เชิญนักธุรกิจรายใหญ่ในอุดรฯมาพูดคุยกันว่า หลังจากโควิด-19 ซาลง

สิ่งที่ถูกตั้งคำถามคือ ทุกเมือง ทุกประเทศ ต้องเจอภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ถ้าไม่มีการหารือกันอาจจะเกิดภาวะการเลิกจ้าง หยุดการลงทุน จะทำให้คนตกงาน ไม่มีงานทำ เลยมีความเป็นห่วงจึงได้เชิญนักธุรกิจรายใหญ่ ๆ มาคุยกันว่า จะทำอย่างไรถึงจะช่วยประชาชนในทุกมิติ จะเห็นว่าสิ่งที่นักธุรกิจเริ่มเดินหน้าโครงการ เช่น การช่วยลดรายจ่าย สร้างโอกาส ต่อไปคือการสร้างงาน เพื่อสร้างรายได้

อย่างแรกคือ เดินหน้าโครงการลงทุนโดยนักธุรกิจ นักลงทุนบางคน อาจจะบอกว่าลงทุนปีนี้ไม่ได้กำไร แต่เมื่อคุยกันด้วยเหตุและผล ทุกคนก็เข้าใจว่าปีนี้ไม่กำไรก็ต้องไม่กำไร แต่ต้องทำให้คนอุดรฯทั้ง 1.6 ล้านคนมีงานทำให้ได้มากที่สุด


ภาคเกษตรส่งเสริมให้ปลูกผัก ให้มีอาหารกินไม่อด เหลือก็แบ่งปัน แบ่งขาย ในภาคที่เป็นการจ้างงานประจำวัน ตอนนี้มีแรงงานฝีมือต่าง ๆ กลับจากต่างประเทศ กรุงเทพฯ ภูเก็ตเกือบ 40,000 คน ไม่รู้ว่าจะได้กลับไปทำงานในที่เดิมเมื่อไหร่ จังหวัดจึงชวนนักธุรกิจมาช่วยคิด มาทำการบ้าน วันนี้พร้อมรับ 200 คนในกลุ่มของธุรกิจก่อสร้างหมู่บ้าน มีตั้งแต่พนักงานประจำออฟฟิศ เสมียน บัญชี ช่างปูน ช่างเชื่อม ช่างเหล็ก และจะมีตามมาเรื่อย ๆ ในสาขาต่าง ๆ ตอนนี้ได้ให้หน่วยงานด้านแรงงานทั้ง 5 หน่วยงานในจังหวัด รวมทั้งนายอำเภอทั้ง 20 อำเภอ สำรวจว่า 40,000 คนที่กลับมามีแรงงานสาขาใดบ้างให้จำแนกมา เมื่อมีความต้องการการจ้างงานจะแมตชิ่งกันได้อย่างรวดเร็ว เชื่อว่าเศรษฐกิจอุดรฯเดินได้และไม่ตกต่ำเหมือนที่คาดกัน และเวลาที่ฟื้นเราจะฟื้นก่อนเมืองอื่น ๆ ที่ยังไม่เริ่มต้น แต่อุดรฯเริ่มคุยกันแล้วตรงนี้