วีทีแหนมเนืองทุ่ม 100 ล้าน ซื้อโนว์ฮาวปลูกผักญี่ปุ่น

คอนโดผัก - บริษัท วีที แหนมเนือง จำกัด ได้ปลูกผักปลอดเชื้อระบบปิด โดยนำเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นมาใช้ บนอาคารวีที คอมมูนิตี้ จ.อุดรธานี

“วีที แหนมเนือง” เมืองอุดรฯ ทุ่มเงินกว่า 100 ล้านบาท ซื้อโนว์ฮาว plant factory สวนผักปลอดเชื้อแบบคอนโดระบบปิดจากญี่ปุ่น สนองคนรักสุขภาพ ลดเสี่ยงโควิด-19 คาดลูกค้าได้ลิ้มลองเดือนกันยายน 63

นายทอง กุลธัญวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท วีที แหนมเนือง จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจแหนมเนืองรายใหญ่ จังหวัดอุดรธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทางบริษัทได้ลงนามในสัญญาความร่วมมือกับบริษัทในประเทศญี่ปุ่น โดยใช้เงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาทในการซื้อโนว์ฮาวปลูกผักปลอดเชื้อแบบคอนโดในระบบปิด เรียกว่า plant factory เป็นการปลูกผักปลอดสารพิษ ปลอดเชื้อโรค ไม่มีแมลงศัตรูพืช มีการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ใช้แสงจากหลอด LED แทนแสงแดด ผู้เข้าไปในคอนโดปลูกผักต้องผ่านเครื่องฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ ก่อน เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต ไม่ต้องล้างน้ำ สามารถรับประทานได้ทันที ผักมีความแข็งแรง โดยไม่ต้องแช่เย็นก็อยู่ได้เป็นสัปดาห์ และมีคุณค่าทางอาหารสูง ทั้งนี้ปัจจุบันทางบริษัทได้เริ่มปลูกผักปลอดเชื้อบนชั้น 3 ของอาคารวีที คอมมูนิตี้ ถนนอุดรฯ-ขอนแก่น

“เดิมเราปลูกผักบนดินโดยใช้เครือข่ายของวีที แหนมเนือง ผักปลอดสารพิษ แต่ยังเป็นระบบเปิด คือ คนปลูกสัมผัสกับผักโดยตรง ผักก็ปลูกบนดินแต่เมื่อมีการระบาดของโรคโควิด-19 ถือเป็นการปรับตัวอีกก้าวด้วยการปลูกผักแบบ plant factory จะทำให้ในอนาคตลูกค้าจะมี 2 ทางเลือก คือ จะเลือกรับประทานผักแบบเดิมก็ได้ หรือผักคอนโดก็ได้ ซึ่งเบื้องต้นลูกค้าจะเพิ่มเงินประมาณ 20 บาท ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่ได้ยินว่ามีคนทำแบบนี้ เนื่องจากใช้เงินลงทุนสูง อาจไม่คุ้มทุน แต่วีที แหนมเนืองต้องใช้ผักสดในปริมาณที่มาก มีลูกค้าทั่วประเทศ และต้องการให้ลูกค้าได้ประโยชน์สูงสุดจากการรับประทาน”

นายทองกล่าวต่อไปว่า สำหรับ plant factory ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 100 ล้านบาท ประกอบด้วยโนว์ฮาว การปรับปรุง และติดตั้งระบบ ที่บริเวณชั้น 3 ของอาคารวีที คอมมูนิตี้ ให้เป็นสวนผักคอนโดระบบปิด โดยแบ่งเป็น 4 ห้อง แต่ละห้องจะมีแปลงผัก 8 ชั้น รวม 32 ชั้น เน้นไปที่ผักสลัด ที่รับประทานกับแหนมเนือง นอกจากนั้นจะมีผักแพรว สะระแหน่ ผักชะมวง และสตรอว์เบอรี่ ช่วงแรกจะทดลองก่อน 1 ห้อง หรือ 8 ชั้นผลผลิตที่ได้ประมาณ 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัมต่อวัน ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์กว่าจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ทั้งนี้ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในเรื่องการเดินทางระหว่างประเทศ ตามแผนที่ตกลงกันไว้ทางญี่ปุ่นจะเข้ามาติดตั้งระบบในเดือนกรกฎาคม 2563 ใช้เวลาติดตั้ง 1 เดือน เริ่มปลูกได้ คาดว่าจะได้รับประทานผักลอตแรก ประมาณเดือนกันยายน 2563

“แนวคิดนี้ได้รับคำแนะนำจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และคณะที่ปรึกษาของบริษัท แนะนำให้รู้จักเทคโนโลยีนี้ จนกระทั่งได้ลงนามสัญญาเป็นเวลา 3 ปีกับประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้นบริษัทจะสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ได้ ก็จะเป็นประโยชน์ในวงการวิทยาศาสตร์ในอนาคต”


นายทองกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันวีที แหนมเนือง ได้ปรับตัวรับมือไวรัสโควิด-19 ด้วยการขายแบบ drive thru เป็นหลัก ลูกค้าได้รับความสะดวกโดยไม่ต้องลงจากรถ รวมทั้งแบบแพ็กกล่องสำหรับเดินทาง ซึ่งผักคอนโดจะสร้างความเชื่อมั่น และมั่นใจให้กับลูกค้ามากขึ้น ว่าจะได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค ปลอดเชื้อโรค