นครสวรรค์ชง “สถานีปากน้ำโพ” รถรางคู่

สภาเทศบาลนครนครสวรรค์ร้อง กนผ.ทบทวนย้ายที่ตั้ง “สถานีรถไฟนครสวรรค์” โครงการรถไฟรางคู่ 2 เส้นทางใหม่ไปที่ “สถานีรถไฟปากน้ำโพ” เป็นสถานีปลายทางแทน เพราะห่างจากตัวเมืองไม่ถึง 1 กม. วาดแผนทำ smart bus รับคนเข้าเมืองได้ หวังผลักดันนครสวรรค์เป็น “เมืองศูนย์รวมโลจิสติกส์ระบบราง”

นายสมศักดิ์ อรุณสุรัตน์ ประธานสภาเทศบาลนครนครสวรรค์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทางคณะกรรมการกฎบัตรนครสวรรค์กำลังอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทที่ปรึกษาของกองนโยบายและแผนวิจัย (กนผ.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เรียกร้องให้มีการทบทวนบริเวณที่ตั้งสถานีรถไฟนครสวรรค์ของโครงการรถไฟทางคู่ 2 เส้นทางใหม่ ทั้งโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางนครสวรรค์-แม่สอด และโครงการสถานีรถไฟทางคู่สายใหม่ นครสวรรค์-บ้านไผ่ ไปใช้ที่สถานีรถไฟปากน้ำโพเป็นสถานีปลายทางแทน เพราะมีการขนส่งทั้งสินค้าและผู้โดยสารกว่า 70%

“จากการที่ กนผ.ได้ทำการศึกษาเส้นทางสถานีรถไฟใหม่ โดยวางแผนให้สถานีรถไฟทั้ง 2 โครงการ รวมอยู่ที่สถานีรถไฟนครสวรรค์นั้น เรามองว่ายังไม่เหมาะสม เพราะห่างจากตัวเมืองประมาณ 14 กิโลเมตร แต่สถานีที่เหมาะสม คือ สถานีรถไฟปากน้ำโพ เพราะห่างจากตัวเมืองไม่ถึง 1 กิโลเมตร ซึ่งเราสามารถทำ smart bus ระบบราง รับคนจากสถานีรถไฟปากน้ำโพเข้าตัวเมืองได้อีก ตอนกลางคืนก็ปลอดภัย และข้อสำคัญมันเข้าเกณฑ์การพัฒนาเมืองแบบ smart city คือไม่สูญเสียพลังงานในการเดินทาง

ถ้าบริเวณนี้สามารถพัฒนาให้ประสบผลสำเร็จ ต่อไปจังหวัดนครสวรรค์อาจจะไม่ใช่เป็นเพียงเมืองทางผ่าน เพราะมีต้นทุนแต่เดิมเป็นเมืองค้าขาย”

นายสมศักดิ์กล่าวต่อไปว่า นครสวรรค์เป็นเมืองที่ในยุทธศาสตร์ชาติไม่ได้กำหนดให้เป็นเมืองหลัก หรือเมืองรอง เวลารัฐบาลมีการจัดสรรงบประมาณจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี กำแพงเพชร ดังนั้นทางสภาเทศบาลนครนครสวรรค์จึงต้องการผลักดันการพัฒนาเมืองให้มีศักยภาพ ด้านเมืองแห่งศิลปะ ด้านการลงทุน และโอกาสที่จะเป็นศูนย์รวมโลจิสติกส์ระบบราง

ปัจจุบันนครสวรรค์เป็นเมืองที่ถูกปล่อยทิ้งร้างเพราะไม่มีการฟื้นฟูเมือง คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ ถ้าหากไม่มีการพัฒนาฟื้นฟูเมือง นครสวรรค์จะเป็นหลุมดำอยู่แบบนี้ แต่เมื่อได้เรียนรู้กระบวนการกฎบัตร คือทุกจังหวัดต้องพึ่งพากันเอง ไม่ต้องรอรัฐบาล เช่น ภาคเอกชนสามารถลงทุนพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างโรงแรม ห้องประชุม และนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของเมืองให้เกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ นครสวรรค์ยังเป็นเมืองศิลปะ มีศิลปินแห่งชาติจำนวนมากอาศัยอยู่ในจังหวัด สิ่งที่ต้องสร้างต่อไป คือ ผู้เสพศิลปะจะมีการวางประติมากรรมต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงทั่วเมือง เพื่อให้คนได้เสพศิลปะผ่านการสัญจรไปมา

ด้านการลงทุนล่าสุดกลุ่มเครือเซ็นทรัลจะเข้ามาสร้างโรงแรมและเปิดห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มของโรงพยาบาลเอกชนสนใจมาเปิด ตอนนี้ในจังหวัดมีโรงพยาบาลเอกชน 5 แห่ง และโรงพยาบาลรัฐบาล 5 แห่ง เนื่องจากที่ผ่านมา นครสวรรค์ไม่ได้รับการพัฒนา ถูกหยุดนิ่งมานาน ทำให้อากาศของเมืองนครสวรรค์ยังบริสุทธิ์ จึงมีนักธุรกิจสนใจมาลงทุน

ปัจจุบันที่ดินราคาตกมาหมดแล้วจากเศรษฐกิจ ซึ่งแต่เดิมราคาแพงสูงสุดน่าจะเท่ากับพื้นที่สีลม ตอนนี้พื้นที่ถูกพัฒนาจะอยู่แถบชานเมือง ส่วนด้านโครงการบ้านอสังหาริมทรัพย์ ปัจจุบัน oversupply แต่ยังมีโครงการที่ยังทำกันมาอย่างต่อเนื่อง คือ โครงการบ้านมั่นคง ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เป็นบ้านผู้มีรายได้น้อย ซึ่งทางเทศบาลร่วมมือกับ พอช.ทำมาโดยตลอด ถือเป็นภารกิจหลักที่ต้องดำเนินงานต่อ

“สำหรับเศรษฐกิจโดยรวมตอนนี้ก็แย่มาก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจต่าง ๆ เป็นวงกว้าง ปัจจุบันทางจังหวัดได้มีการผลักดันให้พ่อค้า แม่ค้า และผู้ประกอบการมีการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันภายในจังหวัด มูลค่าเม็ดเงินจะหมุนเวียนในจังหวัด”

เช่น กลุ่ม smart farm เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตสินค้าปลอดสารพิษ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ ส่วนสถานประกอบการหรือผู้ประกอบการสามารถซื้อสินค้าจากเกษตรกรได้โดยตรงและมีความปลอดภัย

“โดยเฉพาะนอกเขตเมือง ประชาชนส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในขณะเดียวกันมีอาชีพบริการด้านพาณิชยกรรม ซึ่งในอนาคตอาจจะถูก disruption ทั้งการขนส่งพัสดุสินค้า การสั่งอาหารในระบบออนไลน์ เมื่อมองเศรษฐกิจในตอนนี้ ประชาชนที่ประกอบอาชีพ เช่น ร้านอาหาร หากไม่มีการปรับตัวก็จะอยู่ลำบาก เพราะตอนนี้ระบบอีคอมเมิร์ซกำลังเข้ามามีบทบาท มูลค่าเม็ดเงินก็จะหมุนเวียนในจังหวัด”

“เราอยากจะพัฒนาเมืองให้ทันกับที่ลูกหลานอยากกลับบ้านมาค้าขายที่บ้าน มาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเมือง กลับมาทำเกษตรปลอดภัย ซึ่งต่อไปจะเป็นอาชีพหลัก ให้มาหาองค์ความรู้จากกลุ่มพี่ ๆ”

อนึ่ง โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางนครสวรรค์-แม่สอด ระยะทาง 256 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 29 แห่ง งบประมาณการก่อสร้าง 93,836.67 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีโครงการสถานีรถไฟทางคู่สายใหม่ นครสวรรค์-บ้านไผ่ มีระยะทาง 291 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 15 แห่ง รวมงบประมาณการก่อสร้างทั้งหมด 47,712 ล้านบาท