“สมบูรณ์ ตรีพรเจริญ” ชี้พิษโควิดปิด 300 โรงงาน-แบงก์เมิน SME กู้

สัมภาษณ์

ชลบุรีหนึ่งในจังหวัดเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) วันนี้เมื่อเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สถานการณ์ต่าง ๆ ในภาคอุตสาหกรรมภายในจังหวัดเปลี่ยนไปอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “สมบูรณ์ ตรีพรเจริญ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กซ์เท็นซิฟว์ รีเสิร์ซ โพลีเมอร์ส จำกัด หรือ ERP ซึ่งได้รับเลือกตั้งขึ้นมารับตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีคนใหม่ แทน “ดร.สาโรจน์ วสุวานิช” ที่หมดวาระไป ถึงนโยบายและภารกิจหลักที่ต้องเร่งผลักดัน

Q : นโยบายขับเคลื่อนอุตฯชลบุรี

ปัจจุบันสภาอุตสาหกรรมชลบุรีมีสมาชิกประมาณ 200 ราย ผมมีนโยบายในการสานต่อแผนยุทธศาสตร์ของ ดร.สาโรจน์ วสุวานิช อดีตประธานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีคนก่อนที่ได้วางแนวทางไว้ มีการทำเป็นโมเดลที่ดีมาก มีการทำสำรวจวิจัยเฉพาะพื้นที่ จ.ชลบุรี รวมทั้งอีอีซี ผมจะนำมาอัพเดตให้เป็นปัจจุบัน โดยนำปัจจัยสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม ที่บริบทเปลี่ยนไป การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ทำเป็นยุทธศาสตร์ 4 ปี ในการขับเคลื่อนในชลบุรี รวมถึงพื้นที่ EEC ให้เป็นไปตามเป้าหมาย ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1.การพัฒนาสมรรถนะองค์กร 2.เชื่อมโยงอุตสาหกรรมจังหวัดสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีสู่อุตสาหกรรมฐานความรู้

3.การส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและพัฒนาอุตสาหกรรม4.การเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก 5.การส่งเสริมสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียวและอุตสาหกรรมเพื่อสังคม และ 6.การส่งเสริมสถานประกอบการสู่องค์กรสุขภาวะและองค์กรแห่งความเท่าเทียม

Q : เศรษฐกิจชลบุรีตอนนี้

ถือว่าหนักที่สุดตั้งแต่ทำธุรกิจมา โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการประสบปัญหาเศรษฐกิจต่อเนื่องมาตั้งแต่สงครามการค้าสหรัฐ-จีน พอโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดเป็นการซ้ำเติมมาอีก คลื่นใหญ่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกได้รับผลกระทบไปทั่วแทบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เนื่องจากเอสเอ็มอีส่วนใหญ่เป็นซัพพลายเชน สินค้าอุตสาหกรมมีทั้งนำเข้า-ส่งออก กิจกรรมการค้าแทบจะหยุดหมดจากการปิดเมือง ปิดประเทศ ปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้งยังไม่หนักเท่านี้ ยุคนั้นคนที่ได้รับผลกระทบคือคนที่ไปกู้เงินจากต่างประเทศ แต่วิกฤตโควิด-19 วันนี้ธุรกิจหลัก กิจกรรมการค้าขายแทบหยุด รายได้น้อยลง เช่น ธุรกิจยานยนต์ ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาแทบหยุดเลย รายได้ไม่มี แต่รายจ่ายคงที่ ซึ่งไม่รู้ไตรมาส 4 จะฟื้นหรือไม่ หวังให้มีการผลิตใหม่ เพราะที่ผ่านมามีคำสั่งซื้อล่วงหน้ามาทำให้มีการสต๊อกไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว ถือว่าลำบากกว่าปี 2540 ตอนปี 2540 กลุ่มยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยังผลิตไปขายไป กิจกรรมทางการค้ายังมีการเคลื่อนไหว คนยังมีกินมีใช้ แต่ขายน้อยลง แต่ตอนนี้แทบจะหยุดเลย

Q : โรงงานในชลบุรีปิดหลายแห่ง

ในช่วงเดือนมีนาคม 2563 ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีได้ทำการสำรวจสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดชลบุรี และพื้นที่ EEC จากผู้ตอบแบบสำรวจทั้งโรงงานขนาดใหญที่มีพนักงานเกินกว่า 1,000 คนขึ้นไป มียอดขายเกินกว่า 5,000 ล้านบาท โรงงานขนาดกลาง ที่มีพนักงานเกินกว่า 500 คน มียอดขายเกินกว่า 500 ล้านบาท และโรงงานขนาดเล็กที่มีพนักงานต่ำกว่า 100 คน มียอดขายต่ำกว่า 100 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 81 โรงงาน แบ่งเป็นโรงงานที่ตั้งภายนอกนิคมอุตสาหกรรม 55 โรงงาน และโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม 26 โรงงาน จากผู้ประกอบการ 7 ประเภทธุรกิจ ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรม, บริการ, สินค้าอุปโภคบริโภค, อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง, เทคโนโลยี, เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร, ทรัพยากร (พลังงาน-สาธารณูปโภค-เหมืองแร่) พบว่า โรงงานส่วนใหญ่มีผลกระทบด้านยอดขายมากที่สุดเกินกว่า 30-50% ส่วนผลกระทบด้านการผลิตส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบเพียง 10-30%

การแพร่ระบาดของโควิด ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังพอมีเงินสำรอง มีการวางแผนกันอยู่แล้ว บางบริษัทเห็นว่าปัญหาจะลากยาวเป็นปี ก็ปิดกิจการชั่วคราวไปใช้กฎหมายมาตรา 75 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หรือใช้มาตรา 33 ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้พนักงานผู้ประกันตนมีสิทธิรับเงินกรณีว่างงาน 62% ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน ข้อมูลจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชลบุรี แจ้งเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 มีสถานประกอบการแจ้งใช้มาตรา 75 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ทั้งสิ้น 335 บริษัท มีจำนวนลูกจ้างได้รับผลกระทบ 99,938 คน

Q : สภาอุตฯชลช่วยสมาชิกอย่างไร

แต่ละจังหวัดจะมีการรวบรวมปัญหาทั้งหมดส่งให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ไปประสานงานกับภาครัฐในการผลักดันมาตรการต่าง ๆ ที่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐช่วยเหลือ ซึ่งจะมีการประชุมประจำเดือนผ่าน video conference ในการรับฟังปัญหาต่าง ๆ กันอยู่ตลอด หลายจังหวัด รวมถึงชลบุรีมีปัญหาตรงกัน คือ สมาชิกที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ไม่สามารถเข้าถึงมาตรการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เนื่องจากมีเงื่อนไขอุปสรรคต่าง ๆ ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า SMEs เองมีปัญหาในเรื่องระบบ 2 บัญชี ทำให้เข้าถึงแบงก์ต่าง ๆ ยาก ซึ่งเราก็เข้าใจว่า แบงก์ต่าง ๆ มีเงื่อนไขในการป้องกันไม่ให้เกิดหนี้เสีย หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) แต่ว่ารัฐช่วยได้ โดยเฉพาะเรื่องการค้ำประกัน เนื่องจากผู้ประกอบการรายเล็ก สายป่านไม่ยาว ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันมากมาย บางทีไม่มีเลย จึงอยากให้ทางภาครัฐมีนโยบายให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อในส่วนตรงนี้ไม่ต้องระยะยาวแค่สัก 2 ปี ให้รอดปลอดภัยจากวิกฤตช่วงนี้ ผมคิดว่าผู้ประกอบการ SMEs เหล่านี้อยู่ได้

Q : บางคนมองวิกฤตนี้จะลากยาว

เท่าที่คาดการณ์กัน 6 เดือนถึง 2 ปี ระหว่างนี้ผู้ประกอบการแต่ละคนต้องทำแผนบริหารความเสี่ยง เช่น ลดต้นทุนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้อยู่รอดก่อน ถ้ามีเงินสด ต้องสำรองเงินสดไว้ 3-6 เดือน หรือ 1-2 ปี เพียงพอกับการรับมือระหว่างนั้น ต้องทำพร้อม ๆ กัน คือ ต้องกระจายความเสี่ยง แทนที่เราจะอยู่ในธุรกิจเดิม เช่น กลุ่มธุรกิจยานยนต์พอถูกกระทบแล้ว มองเตรียมมองอนาคตว่า ต่อไปยานยนต์จะเป็นระบบไฟฟ้า หรือไฮบริด ต้องหาตลาดใหม่ ๆ นอกจากนี้ ต้องกระจายความเสี่ยง ต้องหาทางเสริมต่อยอดจากธุรกิจหลักที่ทำ หรือต้องแตกไลน์ไปสู่ธุรกิจใหม่ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าไตรมาส 4 เศรษฐกิจน่าจะเริ่มฟื้นกลับมา

Q : EEC จะเกิดอย่างไรหลังโควิด

พอเกิดโควิด-19 ระบาด หลายโครงการอาจล่าช้าไป รัฐบาลไทยหวัง EEC เป็นตัวขับเคลื่อนใหญ่ เรามีแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ทุกอย่างคงเดินต่อไป ตอนนี้ผ่านมา 6 ปีแล้ว ประเทศไทยคงไม่ย่ำอยู่กับที่เหมือนที่ผ่าน ๆ มา แต่บริบทต่าง ๆ อาจเปลี่ยนไป ประเทศไทยถ้ารัฐบาลมีการดำเนินนโยบายต่อเนื่องเป็นเรื่องที่ดี

Q : ปีนี้ภาคตะวันออกมีวิกฤตขาดน้ำ

ที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดชลบุรีมีการร้องเรียนเรื่องภัยแล้งก่อนโรคไวรัสโควิด-19 ระบาดในประเทศไทยแล้ว โดยจังหวัดชลบุรีมีการดึงน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง มาช่วย ขนาดตอนนี้ยังไม่มี EEC ภาคอุตสาหกรรมเป็นห่วงเรื่องปัญหาการขาดแคลนน้ำ จึงอยากขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเร่งรัดโครงการต่าง ๆ ให้เร็ว ที่ผ่านมาขั้นตอนของรัฐบาลล่าช้า โดยเฉพาะการผลักดันสร้างเขื่อนที่จังหวัดจันทบุรี