โคไทยต้นทุนพุ่งมาเลย์เล่นเกมกักตัว 15 วัน

ติดเงื่อนไข - การส่งออกโคไทยไปมาเลเซียไม่สามารถแข่งขันกับโคของประเทศออสเตรเลียได้เพราะต้องถูกกักตัว 15 วัน ส่งผลให้ต้นทุนราคาโคไทยพุ่ง

มาเลเซียเล่นเกมกีดกัน “โค” ไทย ส่งเข้าไปขายต้องถูกกักตัว 15 วันก่อนเข้าโรงเชือด ขณะที่โคออสเตรเลียนำเข้าไม่ต้องถูกกักตัว ทำต้นทุนค่าเลี้ยงพุ่งสูงกว่าโคนำเข้าจากออสเตรเลีย 3-5 บาท/กก. จี้ 2 รัฐมนตรี “กระทรวงพาณิชย์-กระทรวงเกษตรฯ” เปิดโต๊ะเจรจาด่วน

นายวิรัตน์ รอดนวล ประธานวิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงวัวลังกาสุกะพัทลุง อ.กงหรา จ.พัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้การส่งออกโคไทยทางภาคใต้ไปยังประเทศมาเลเซียไม่สามารถแข่งขันกับโคของประเทศออสเตรเลียได้ เพราะทางประเทศมาเลเซียตั้งเงื่อนไขมีการนำโคเข้าไปยังประเทศมาเลเซียแล้ว โคไทยต้องถูกกักตัวอีก 15 วันก่อนเข้าสู่โรงเชือด โดยอ้างว่า เพื่อป้องกันโรคปากเท้าเปื่อยระบาดทั้งที่โคไทยมีการกักตัวตรวจสอบจากกรมปศุสัตว์ก่อนส่งออกไปขายอยู่แล้ว ในขณะที่โคจากประเทศออสเตรเลียไม่ต้องถูกกักตัวก่อนเข้าสู่โรงเชือดได้ ทั้งนี้ ระหว่างโคไทยถูกกักตัวในมาเลเซียจะต้องให้อาหาร ค่าบริหารจัดการเกือบ 1,000 บาท/ตัว หากปริมาณโคจำนวนหลายตัวจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก ราคาจึงเพิ่มขึ้น 3-5 บาท/กก. ส่งผลให้ต้นทุนราคาโคไทยเพิ่มสูงขึ้นกว่าราคาโคออสเตรเลีย ที่มีราคาต้นทุนการเลี้ยงต่ำกว่าโคไทยอยู่แล้ว

ดังนั้น เรื่องดังกล่าวนี้จึงอยากให้ทางรัฐบาลโดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ น่าจะมีนโยบายเจรจาเรื่องการค้าโคกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรของประเทศมาเลเซีย โดยให้มีการทำข้อตกลงร่วมกันก่อนการส่งออกให้ปศุสัตว์มาเลเซีย และปศุสัตว์ไทยร่วมกันตรวจสอบก่อนอนุมัติส่งออก จะได้ไม่ต้องกักตัวในประเทศมาเลเซียอีก 15 วัน เพื่อให้สามารถแข่งขันกับโคนำเข้าจากประเทศออสเตรเลียได้

“ปัจจุบันมาเลเซียสั่งนำเข้าโคจากออสเตรเลียประมาณ 3,000 ตัว/เดือน ที่น้ำหนักขนาดประมาณ 400-500 กก./ตัว ราคาประมาณ 90 บาท/กก. ภาพรวมมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท/เดือน สำหรับโคไทยที่ส่งออกไปมาเลเซียเหลือเพียง 100 กว่าตัว/เดือน” นายวิรัตน์กล่าว

นายวิรัตน์กล่าวต่อไปว่า ในอดีตโคไทยมีตลาดส่งออกหลักไปประเทศมาเลเซียถึง 80% ของปริมาณโคนำเข้าทั้งหมดของมาเลเซีย ดังนั้นในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมาโคไทยเปลี่ยนตลาดส่งออกไปยังประเทศจีน กัมพูชา เวียดนาม เพราะประเทศจีนเป็นตลาดใหม่และขนาดใหญ่เช่นกัน

สำหรับในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงวัวลังกาสุกะพัทลุงมีการเลี้ยงโคขุนประมาณ 500 ตัว ยังไม่มีการส่งออกโคเนื้อไปยังประเทศมาเลเซีย ยกเว้นส่งออกแต่โคกุรบาน โดยส่งออกประมาณ 300-400-500 ตัว/ปี ราคา 25,000-30,000 บาท/ตัว ส่วนโคเนื้อส่งออกไปยังจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมส่งออกเป็นเนื้อชำแหละประมาณ 10 ตัว/สัปดาห์ประมาณ 200 ตัว

สำหรับจังหวัดที่มีผู้เลี้ยงโครายใหญ่ตั้งแต่จำนวน 1,000-3,000 ตัวในพื้นที่กว้าง ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์ กาญจนบุรี ฯลฯ ส่วนที่เหลือจะเป็นฟาร์มโคขนาดกลางลงมา ส่วนการเลี้ยงโคในพื้นที่ภาคใต้เป็นการเลี้ยงในสวนผลไม้ สวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมัน เป็นต้น

ทางด้านนายกู้ชาติ ชายเกตุ ประชาสัมพันธ์และผู้ตรวจสอบสหกรณ์โคเนื้อพัทลุง จำกัด เปิดเผยว่า สหกรณ์โคเนื้อพัทลุง จำกัด มีสมาชิกประมาณ 850 ราย โดยสมาชิกเลี้ยงโคเนื้อและวัวพื้นบ้านรายละ 5 ตัว ภาพรวมประมาณกว่า 4,200 ตัว โดยเลี้ยงโคมีน้ำเชื้อ 4 สายพันธุ์ โดยนำโคพื้นบ้านผสมสายพันธุ์ชาโรเลส์ และสายพันธุ์บราห์มัน ทั้งนี้ สหกรณ์ยังมีโรงเชือด โรงบ่ม โรงแปรรูปที่ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง สำหรับโรงบ่มเนื้อได้ประมาณ 10 ตัวต่อลอต และมีโรงกักกันก่อนส่งออกต่างประเทศจำนวน 200 ตัวต่อลอต บริเวณวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพัทลุง อ.เมือง จ.พัทลุง

นายกู้ชาติกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาสหกรณ์โคเนื้อพัทลุง จำกัด ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับประเทศมาเลเซีย เพื่อส่งออกโคเนื้อกว่า 2,000 ตัว แต่ยังไม่สามารถส่งออกได้ เพราะในกลุ่มเครือข่ายและสหกรณ์โคเนื้อมีกำลังการผลิตยังไม่พอ