พิโกไฟแนนซ์ยอดเม.ย.-พ.ค.วูบ80% อีสาน-ตะวันออกพลิกกลยุทธ์เพิ่มวงเงิน-ดอกเบี้ยต่ำ

ปรับโครงสร้าง - ผู้ประกอบการธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ช่วยเหลือลูกค้าด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น การพักชำระหนี้เงินต้นและจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาการกู้ยืมออกไป จนกว่าเข้าสู่ภาวะปกติ หลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ฉุดยอดขอสินเชื่อร่วงทั่วประเทศ

สมาคมพิโกไฟแนนซ์เผยยอดสินเชื่อเม.ย.วูบหนัก 40-80% สาเหตุหลัก “มาตรการล็อกดาวน์-บริษัทปิดกิจการ-เลื่อนเวลาเปิดเทอม” ขณะที่ยอดเอ็นพีแอลพุ่งถึง 24% ลูกค้าตกงาน-รายได้หด ด้าน “ทรีมันนี่” พิโกไฟแนนซ์ภาคตะวันออกชี้ยอดกู้ 4 จังหวัด “ปราจีนบุรี-ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง” เดือน พ.ค.ต่ำสุดในรอบปีลดฮวบถึง 80% ขณะที่ “บูราพาณิชย์” เผยยอดสินเชื่อ ขอนแก่น” ลดลงถึง 50% ทำผู้ประกอบการเร่งพลิกกลยุทธ์จูงใจเสนอวงเงินเพิ่มให้ 1 หมื่นบาทต่อราย และมีดอกเบี้ยต่ำกว่าสัญญาหลัก คาดหลังปลดล็อกเข้าสู่ภาวะปกติ โรงงานกลับมาคึกคัก

นายสมเกียรติ จตุราบัณฑิต นายกสมาคมพิโกไฟแนนซ์แห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยอดการขอกู้สินเชื่อจากพิโกไฟแนนซ์ทั่วประเทศในช่วงเดือนเมษายน 2563 ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการควบคุมการเดินทาง และการทำธุรกิจต่าง ๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ภาพรวมยอดสินเชื่อลดลงเฉลี่ย 40% ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มสูงขึ้นถึง 24% จากปกติ NPL เฉลี่ยอยู่ที่ 11.95% แต่เมื่อเข้าสู่เดือนพฤษภาคม 2563 เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการ ทำให้การยื่นขอสินเชื่อขยับขึ้นมาประมาณ 10% ผู้ขอสินเชื่อรายเก่ามาขอชำระหนี้ และขอกู้เพิ่ม ทำให้ยอด NPL ลดลงมาเหลือประมาณ 15% แต่ยังมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามมาตรการช่วยเหลืออยู่ สามารถขยายระยะเวลาในการชำระหนี้ได้นานขึ้นจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติได้แก่ 1.การพักชำระหนี้เงินต้นและจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย 2.พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 3.ขยายระยะเวลาการกู้ยืมออกไป 4.การลดอัตราดอกเบี้ย 5.อื่น ๆ เช่น มาตรการขอกู้ฉุกเฉินหรือนโยบายตามความสมัครใจของผู้ประกอบการ และมาตรการที่ได้รับผลตอบรับมากที่สุดจากคนส่วนใหญ่คือการขอพักชำระหนี้เงินต้นและจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย ส่วนกลุ่มผู้มีรายได้รายเดือนจะรับอานิสงส์จากการขยายระยะเวลากู้ยืมมากกว่า

ทั้งนี้ พื้นที่ขอกู้สินเชื่อพิโกมากที่สุดในประเทศไทยปัจจุบันคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ประมาณ 80% สูงสุดอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา ถัดมาเป็นจังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกร ซึ่งมาจากหนี้นอกระบบ โดยการขอกู้ของกลุ่มนี้จะใช้โฉนดที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ถัดมาคือ ภาคตะวันออก เป็นกลุ่มพนักงานโรงงานใช้สมุดบัญชีเงินฝากและบุคคลค้ำประกัน ถัดมา คือ ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันตก ตามลำดับ ยอดการปล่อยสินเชื่อหรือยอดเงินกู้สะสมปัจจุบันรวมทั้งประเทศอยู่ที่ 6,114.34 ล้านบาท รวมลูกหนี้ 229,000 กว่าราย คาดว่าสามารถลดการเกิดหนี้นอกระบบได้แล้ว 70-80% มีผู้ประกอบการที่ยื่นขออนุญาตปล่อยสินเชื่อ 1,189 ราย ได้รับใบอนุญาตและเปิดดำเนินการแล้ว 722 ราย

นายสมเกียรติกล่าวต่อไปว่า จากการที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้แก่ประชาชนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบให้เป็นรูปธรรมอย่างจริงจังเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คาดว่าจะทำให้ทิศทางธุรกิจพิโกไฟแนนซ์มีการเติบโตขึ้นในอนาคตไม่ต่ำกว่า 10%

“ขอนแก่น” ยอดกู้ลด 50%

นายบูรพงศ์ วรรักษ์ธารา กรรมการผู้จัดการ บริษัท บูราพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า ช่วงมีมาตรการควบคุมโควิด-19 ภาพรวมในจังหวัดขอนแก่นที่เห็นอยู่คือ ลูกค้าพิโกค่อนข้างน้อย เนื่องจากผู้คนไม่เดินทางมาขอสินเชื่อหรือเดินทางลำบาก อย่างบริษัท บูราพาณิชย์ มีกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ต้องการกู้เงินลดลงประมาณ 50% จากจำนวนเงินหลักล้านที่คาดว่าจะปล่อยกู้เหลือเพียง 4-5 แสนบาท ส่วนลูกค้าเก่าที่กู้อยู่แล้วมีการจ่ายดอกเบี้ยลดลง 20-30% ซึ่งในสมาคมมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ด้วยการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในสมาคมตามที่แต่ละคนสะดวก เช่น ลดอัตราดอกเบี้ย ยืดเวลาชำระหนี้ ส่งเฉพาะเงินต้นหรือดอกเบี้ย เป็นต้น

“สาเหตุที่ลูกค้าลดลงผมก็ไม่ทราบ แต่ลูกค้าอาจจะกลับไปกู้เงินนอกระบบกับนายทุนแถวบ้าน เพราะปกติคนจะเดินทางจากบ้านมาขอสินเชื่อด้วยตัวเอง แต่พอช่วงโควิดก็เริ่มน้อยลงครึ่งหนึ่ง อยู่ในช่วงติดหน้าฝนพอดีด้วย และน่าจะเป็นอย่างนี้ไปอีก 2-3 เดือน พอเริ่มมีการเปิดภาคเรียนผมก็ไม่แน่ใจว่าลูกค้าจะกลับมาหรือไม่หรือรอเงินเยียวยาจากภาครัฐ 5,000 บาท ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนไม่มาขอกู้ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกรประมาณ 50% ที่เหลือจะเป็นประชาชนทั่วไป สำหรับบริษัทผมกระตุ้นการขอสินเชื่อด้วยการเสนอวงเงินเพิ่มให้ 1 หมื่นบาทต่อราย และมีดอกเบี้ยต่ำกว่าสัญญาหลัก เป็นกลยุทธ์กระตุ้นลูกค้าในส่วนที่หายไป ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีพอสมควร แต่ตอนนี้กิจกรรมทางสังคมก็ยังไม่กลับมาคึกคักเหมือนเดิม ในจังหวัดขอนแก่นภาคเอกชนได้มีการพูดคุยกันอยู่ว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจการค้ากันอย่างไร”

4 จว.ตะวันออกยอดกู้วูบ 80%

ด้านนายไชยวัฒน์ อึ้งสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรีมันนี่ จำกัด ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์รายใหญ่ในภาคตะวันออก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับบริษัท ทรีมันนี่ ปล่อยสินเชื่ออยู่ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ซึ่งเป็นโซนอุตสาหกรรมก็เงียบมาก เพราะหลายบริษัทในพื้นที่ประกาศปิดกิจการชั่วคราว ลูกค้าของพิโกที่เป็นพนักงานบริษัทส่วนมากต้องหยุดงาน บางคนย้ายกลับถิ่นฐานบ้านเกิด รวมไปถึงมีประกาศเลื่อนการเปิดภาคเรียนออกไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ทำให้ผู้ปกครองชะลอการกู้ตามไปด้วย

“พนักงานที่หยุดไปบางคนยังได้รับเงินเดือน 75% บางคนก็ตกงาน มีติดต่อเข้ามาขอไม่ชำระหนี้บ้าง ซึ่งเราก็ยื่นโนติสไว้ก่อน เมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็ค่อยชำระ แต่คนไหนพร้อมจ่ายก็สามารถจ่ายมาได้ตลอด เพราะส่วนมากวงเงินในการกู้ของลูกค้าจะเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 10,000-50,000 บาท สัญญากู้ของผมจะมีระยะเวลาการชำระ 5 ปี จ่ายเมื่อไหร่ก็ได้ภายใน 5 ปี ที่สำคัญกลุ่มพนักงานโรงงานที่ถูกปิดกิจการ และสุ่มเสี่ยงจะย้ายถิ่นฐานเราก็ไม่ปล่อยกู้ เนื่องจากบริษัทใช้รายได้ของผู้กู้เป็นหลักประกัน ส่วนกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองที่กู้ไปให้บุตรหลานเรียน เงินยังไม่ใช้ก็ยังไม่กู้ เรียกได้ว่าเดือนพฤษภาคม 2563 เราปล่อยเงินกู้น้อยมากกว่าทุกปีและน้อยที่สุดในรอบปี ลดลงมากถึง 80%”

ปัจจุบันหลังจากรัฐบาลปลดล็อกมาตรการบางส่วนสถานการณ์ใกล้เข้าสู่ภาวะปกติ โรงงานกลับมาเปิดทำการ โซนอุตสาหกรรมจึงคึกคักและลูกค้าของพิโกโทร.เข้ามาสอบถามเรื่องการขอสินเชื่อแล้ว รวมไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครองเตรียมพร้อมเข้ามาขอกู้เงินต้อนรับเปิดเทอม แต่อย่างไรก็ตามต้องรอดูท่าทีของรัฐบาลต่อไป

รายงานจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังระบุว่า ตัวเลข ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมจำนวน 229,563 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 6,114.34 ล้านบาท มียอดสินเชื่อคงค้างสะสมรวมจำนวนทั้งสิ้น 95,324 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 2,480.76 ล้านบาท โดยมีค้างชำระ 1-3 เดือน และค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือนจำนวน 11,165 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 296.36 ล้านบาท