สงขลารุก “เครื่องแกงต้านไวรัส” บุกตลาดส่งออกชูจุดแข็งพิชิตโควิด

การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ยิ่งนานวันทำให้ธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจล้มหายไปด้วย หลายธุรกิจหาทางรอดด้วยการปรับตัวแบบพลิกโฉม โดยเฉพาะธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น การทำ “เครื่องแกงสำเร็จรูป” ซึ่งตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนยุคใหม่และสอดคล้องกับการใช้ชีวิตในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี

รุกทำ “เครื่องแกงต้านไวรัส”

“ขรรค์ชัย คังฟะโน” เจ้าของเครื่องแกงครูขรรค์ชัย และประธานกลุ่มคลัสเตอร์เครื่องแกงจังหวัดสงขลา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กลุ่มคลัสเตอร์เครื่องแกงจังหวัดสงขลามีสมาชิกอยู่ประมาณ 30 ราย ทั้งรายเล็ก รายใหญ่ และรายย่อย ยังไม่นับรวมสมาชิกที่กระจายตัวอยู่ใน 16 อำเภอของจังหวัดอีกจำนวนหนึ่ง แต่ละรายมีเงินหมุนเวียนเฉลี่ยตั้งแต่ 100,000-4 ล้านบาท/เดือน สามารถส่งขายไปทั่วประเทศ รวมถึงขายให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวในรูปแบบของฝาก โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม และสินค้าผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับมาตรฐานอาหารฮาลาล และเป็นผลิตภัณฑ์โอท็อประดับ 3-5 ดาว แต่ยังไม่มีตลาดส่งออกที่แน่นอน ดังนั้นในช่วงสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ทางกลุ่มจึงได้คิดค้น “เครื่องแกงต่อต้านไวรัส” ขึ้นมา เพื่อหวังจะเปิดตลาดส่งออกไปต่างประเทศ

ขณะนี้เครื่องแกงต้านไวรัสจะประกอบด้วยอาหารพืชผักสมุนไพร อยู่ในกระบวนการทดลองร่วมกับแพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน และแพทย์แผนปัจจุบัน โดยมีศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 11 จังหวัดสงขลา กระทรวงอุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เข้ามาช่วยสนับสนุน หากสามารถผลิตได้เป็นผลสำเร็จจะนำเสนอโครงการไปยังภาครัฐต่อไป และคาดว่าจะส่งออกไปยังต่างประเทศทันที

“พงศ์สวัสดิ์ ยอดสุรางค์” ประธานเครือข่ายโอท็อปไทย และประธานคณะกรรมการเครือข่ายโอท็อปจังหวัดสงขลา บอกว่า เครื่องแกงของจังหวัดสงขลา คือ สินค้าสำคัญที่มีสัดส่วนในสินค้าโอท็อปของจังหวัดมากถึง 50% เป็นธุรกิจที่มีการบูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงาน ทั้งจากสำนักงานเกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด และสำนักงานพัฒนาชุมชน ครบวงจรตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ กระบวนการผลิต ไปจนถึงการทำตลาด

ตลาดขยายตัว-ออร์เดอร์พุ่ง

“ลัดดาวรรณ จันทร์เมือง” ผู้จัดการบริษัท ไสวครัวใต้ จำกัด ผู้ผลิตและแปรรูปเครื่องแกง อ.นาหม่อม จ.สงขลา บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดธุรกิจเครื่องแกงมีการขยายตัวและเติบโตขึ้นทุกปี สำหรับบริษัท ไสวครัวใต้ จำกัด เป็นบริษัทผลิตเครื่องแกงมีตลาดหลักอยู่ที่ภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน เป็นเครื่องแกงเขียวหวาน ต้มยำกุ้ง แกงกะทิ และน้ำพริกกะปิ และในกลุ่มคนไทยที่อาศัยอยู่ประเทศเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ สกอตแลนด์ เป็นต้น เครื่องแกงที่ได้รับความนิยม คือ แกงคั่วกลิ้งและผัดเผ็ด ในแต่ละเดือนมียอดขายประมาณ 100 กก./เดือน ใน 1 กก.จะบรรจุซองได้ประมาณ 30-35 ซอง ขนาด 30 กรัม/ซอง ราคาอยู่ที่ 19 บาท/ซอง

“ภาพรวมบริษัท ไสวครัวใต้ ขายสินค้าผ่านออนไลน์เพียงช่องทางเดียว สร้างรายได้กว่า 500,000 บาท/ปี หากเป็นช่วงไฮซีซั่นยอดขายจะสูง และช่วงโลว์ซีซั่นยอดขายจะลดลง นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในฤดูกาลท่องเที่ยวด้วย ซึ่งการทำเครื่องแกงยังสามารถเชื่อมโยงกับธุรกิจทางการเกษตรได้อีก และทางบริษัทได้ทำข้อตกลงกับเกษตรกรในการจัดส่งวัตถุดิบ เช่น ตะไคร้ ขมิ้น ดีปลี กระเทียม หัวหอม เป็นต้น”

“อุษาวดี บุญดำ” ผู้ประสานงานเครือข่ายสินธุ์แพรทอง และศูนย์เรียนรู้เครือข่ายสินธุ์แพรทอง ผู้ผลิตเครื่องแกง อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดเครื่องแกงในจังหวัดพัทลุงขยายตัวเติบโตขึ้นทุกปี เฉลี่ยมีอยู่แทบทุกหมู่บ้านรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ราย บ้างรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เช่น กลุ่มศูนย์เรียนรู้เครือข่ายสินธุ์แพรทองที่รวมตัวกันอยู่ 3 ราย สามารถสร้างรายได้เบื้องต้น 100,000 บาท/เดือน ไปจนถึง 10 ล้านบาท/ปี เรียกได้ว่ามีเงินสะพัดในธุรกิจการผลิตเครื่องแกงจำนวนมาก

“ตลาดการผลิตเครื่องแกงยังมีทิศทางที่ดี เพราะทุกคน ทุกครัวเรือนต้องบริโภคอาหาร และปัจจุบันต่างหันมาใช้เครื่องแกงสำเร็จรูปในการปรุงอาหารมากขึ้น ตลาดเครื่องแกงรายใหญ่ในประเทศยังเป็นกรุงเทพฯ ภูเก็ต สงขลา ถัดมาก็เป็นฝั่งภาคอีสาน แม้ในช่วงโควิดระบาดจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก เพราะส่งขายทางออนไลน์ได้การขนส่งก็สะดวก”

พืชวัตถุดิบสร้างเงินตลอดปี

“สำราญ โต๊ะหลี” เกษตรกรชาวสวนยางพาราและทำสวนผสม จ.พัทลุง เปิดเผยว่า การปลูกพืชที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องแกงสามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะพืชหลักที่ใช้ทำเครื่องแกงอย่างดีปลี ตะไคร้ ขมิ้น ส่วนราคาขึ้นอยู่กับฤดูกาลและความต้องการของตลาด เช่น ตะไคร้ ค้าปลีกในตลาด 1 บาท/1 ต้น ดีปลี ราคาหน้าแล้งสูงขึ้นถึง 300 บาท/กก. ที่สำคัญการลงทุนปลูกในแต่ละอย่างใช้เงินจำนวนไม่มาก สามารถกู้เงินเพื่อมาลงทุนจากสหกรณ์การเกษตรอำเภอตะโหมดได้

ทางด้าน “ศุภชัย จันทร์แก้ว” ประธานสหกรณ์การเกษตรอำเภอตะโหมด จ.พัทลุง กล่าวว่า ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรอำเภอตะโหมดมีสมาชิกในพื้นที่กว่า 3,400 ครัวเรือน มีเงินทุนหมุนเวียนมากกว่า 1,000 ล้านบาท คุณภาพชีวิตของบรรดาสมาชิกของสหกรณ์เป็นที่น่าพอใจ สามารถปล่อยเงินกู้ให้สมาชิกในอัตราดอกเบี้ยต่ำได้ไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท ซึ่งนอกจากจะช่วยหนุนเกษตรกรในการทำเกษตรแล้ว ยังจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ปุ๋ย อาหารสัตว์ ข้าวสาร อุปกรณ์การเกษตร เครื่องจักรกลทางการเกษตร รถจักรยานยนต์ และรับทำ พ.ร.บ.ประเภทต่าง ๆ ฯลฯ โดยปีที่ผ่านมาสหกรณ์มีกำไรสุทธิหลังจากที่เฉลี่ยคืนให้กับสมาชิกมากกว่า 36 ล้านบาท


ดูเหมือนว่าตลาดเครื่องแกงของไทยยังคงไปต่อได้ในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพราะผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนวิธีการขายหันมาจับตลาดออนไลน์ได้ไม่ยากนัก แม้มีคู่แข่งหลายรายจนเกิดการแข่งขันค่อนข้างสูง แต่ขึ้นอยู่กับการปรับตัว และการพัฒนาเพื่อไปสู่ตลาดในต่างประเทศในอนาคต