ภูเก็ตชง 103 โครงการเกษตร-เที่ยว ดันงบฯกว่า2พันล้านฟื้นฟูเศรษฐกิจจังหวัด

ขณะที่สถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายเบาบางลง ไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศไทย ทำให้รัฐบาลอนุญาตให้หลายจังหวัดเปิดการเดินทางข้ามจังหวัดทางบก ทางน้ำ เปิดน่านฟ้าสำหรับเส้นทางบินภายในประเทศ แต่ “ภูเก็ต” จังหวัดท่องเที่ยวหลักที่มีรายได้ถึง 4 แสนล้านบาทต่อปี เพิ่งได้รับการเปิดสัญจรทางบก ทางน้ำ แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดบริการสนามบินภูเก็ต เนื่องจากเพิ่งผ่านไป 15-16 วันที่ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ติดต่อกัน ดังนั้นภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ตจึงเฝ้ารอกันอย่างใจจดจ่อ และลุ้นว่าวันที่ 16 มิถุนายน 2563 จะได้รับการอนุญาตให้เปิดน่านฟ้าได้หรือไม่

เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตถือว่ามีรายได้หลักจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวตลอดซัพพลายเชน โดยเฉพาะการพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดังนั้นกว่า 4 เดือนที่ผ่านมา (ก.พ.-พ.ค. 63) การระบาดของโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตประมาณ 120,000 ล้านบาท

และคาดว่าในระยะเวลาที่เหลือในปี 2563 จะเกิดความสูญเสียเชิงเศรษฐกิจให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตไม่น้อยกว่า 160,000 ล้านบาท บนสมมุติฐานเชิงปริมาณว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตทั้งปีที่ 5 ล้านคน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวคนไทยไม่เกิน 1.5 ล้านคน และนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 3.5 ล้านคน

แม้วันนี้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะดีขึ้นมาก แต่อนาคตอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตถือว่ายังอยู่ในช่วงวิกฤต เนื่องจากประเทศที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักยังมีการระบาดของโควิด-19 หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการอยู่รอดในช่วงเดือนมิถุนายน-ธันวาคม 2563 จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลและภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการกำหนดมาตรการทุกมิติในการสนับสนุนให้ทุกฝ่ายก้าวผ่านความยากลำบาก และวิกฤตการณ์นี้ไปให้ได้

ดังนั้นเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 11 องค์กรภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย หอการค้าจังหวัดภูเก็ต สภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต สมาคมโรงแรมป่าตอง สมาคมโรงแรมหาดกะตะกะรน บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด สมาคมสปาเพื่อสุขภาพภูเก็ต และสมาคมมัคคุเทศก์อันดามัน จึงได้เข้ายื่นหนังสือให้ นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อขอเสนอมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมจากมาตรการเยียวยาที่รัฐบาลได้ช่วยเหลือมาแล้ว

โดย นายภูมิกิตต์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า 11 องค์กรภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ตได้เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อยื่นหนังสือขอมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แบ่งเป็น 4 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตรการสนับสนุนให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ประกอบด้วย 5 ข้อเสนอ ได้แก่ 1) ขอให้เปิดท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดภูเก็ต สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป 2) ให้แต่ละกระทรวงจัดกิจกรรมประชุมและสัมมนา กระทรวงละ 1 เดือนที่ภูเก็ต ในรอบ 12 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป 3) ค่าใช้จ่ายในการประชุม สัมมนา สามารถนำไปเป็นค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่าของค่าใช้จ่ายหากเลือกใช้บริษัทนำเที่ยว โรงแรมที่จดทะเบียนถูกกฎหมายในภูเก็ต 4.ค่าเดินทาง ที่พัก อาหาร ขอคืนภาษีมูลค่าได้ 5) ประสานกับ ปตท.จัดแคมเปญคูปองน้ำมัน มูลค่า 1,000 บาท/คัน ให้ผู้เดินทางมาด้วยรถยนต์ที่ต้องชำระค่าที่พัก 2 คืนที่จังหวัดภูเก็ต

มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ ประกอบด้วย 1) เสนอให้รัฐบาลจัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเป็นการเฉพาะให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในจังหวัดเป็นวงเงิน 15,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2% ภายใน 24 เดือน โดยบรรษัทประกันสินเชื่อขนาดย่อมค้ำประกัน 2) ขอขยายเวลาการยื่นภาษีนิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดือนสิงหาคมไปธันวาคม 2563 และเสนอให้ปรับลดอัตราภาษีคงเหลือที่ 10% และ 3) ขอขยายการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้างออกไปเป็นเวลา 2 ปี (2563-2564) พร้อมกันนี้ได้เสนอมาตรการคัดกรอง “ภูเก็ตโมเดล” ซึ่งเป็นการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าจังหวัดภูเก็ต ทั้ง 3 ทางคือ ทางอากาศ ทางบก และทางน้ำ ตามความสามารถในการรับรองของระบบสาธารณสุขจังหวัดด้วย

ทั้งนี้ ภาพรวมทางเศรษฐกิจจากตัวเลขนักท่องเที่ยวเข้าจังหวัดภูเก็ต ซึ่งจากการวิเคราะห์ขององค์กรภาคเอกชนในจังหวัดประมาณการว่า จากจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าจังหวัดวันละ 25,000 คน จะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจรวมกัน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงเดือนธันวาคม 2563 ประมาณ 180, 000 ล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 5 ล้านคน จึงขอให้ทำข้อตกลงการเดินทางระหว่างประเทศที่เรียกว่า travel bubble กับประเทศที่มีการควบคุมการระบาดโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีประเทศต้นทาง ได้แก่ 1.ประเทศจีน คือ ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, เฉิงตู, กว่างโจว และเขตเศรษฐกิจพิเศษเซียะเหมิน 2.ประเทศเวียดนาม คือ เมืองโฮจิมินห์ 3.ประเทศไต้หวัน คือ เมืองไทเป 4.ประเทศเกาหลีใต้ คือ เมืองปูซาน และ 5.ประเทศมาเลเซีย คือ เมืองปีนัง ซึ่งปัจจุบันได้มีบางประเทศร่วมกันตกลง โดยไม่ต้องกักตัว 14 วันแล้ว เช่น Tran-Tasman Travel Bubble ระหว่างประเทศออสเตรเลีย และประเทศนิวซีแลนด์, Baltic Bubble ระหว่างประเทศเอสโตเนียประเทศลัตเวีย และประเทศลิทัวเนีย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม โครงการทั้งหมดทางจังหวัดคงรับไว้พิจารณา ขณะเดียวกันตอนนี้ทางจังหวัดภูเก็ตอยู่ระหว่างตั้งคณะทำงานขึ้นมากลั่นกรองแผนงานโครงการภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ วงเงิน 4 แสนล้านบาท ที่ให้แต่ละจังหวัดนำเสนอขึ้นไป ซึ่งนายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า คณะทำงานได้มีการประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง เพื่อพิจารณากลั่นกรองแผนงาน/โครงการที่ส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เสนอโครงการ

โดยมีโครงการที่ผ่านการพิจารณาจำนวนทั้งสิ้น 103 โครงการ วงเงินงบประมาณ 2,925,349,937 บาท ยกตัวอย่าง มีการเสนอแผนงานโครงการด้านการเกษตรกรรมตามแนวทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสานและพัฒนาผลิตภัณฑ์และส่งเสริมการตลาด แผนงาน/โครงการด้านการท่องเที่ยวชุมชน/ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และแผนงานโครงการด้านแหล่งน้ำชุมชนและโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน ทั้งนี้ ที่ประชุมจะมีการประชุมกันอีกระยะหนึ่งเพื่อกลั่นกรองโครงการต่าง ๆ ว่าสามารถดำเนินการตามแผนงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ต่อไป