มหาสารคามตรวจเข้มเร่งส่งคืนพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส

ผิดกฎหมาย - หลังมีประกาศแบนสารเคมีพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายกรมวิชาการเกษตรสั่งเกษตรกรคืนสินค้าให้ร้านที่ซื้อมาภายใน 90 วัน

มหาสารคามออกตรวจเข้มสต๊อก 2 วัตถุอันตราย “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” ด้านร้านค้ายันไม่มีค้างสต๊อก ประเมินแล้วต้องถูกยกเลิกแน่นอน ไม่สั่งเข้ามาขายเพิ่ม เผยคงไม่มีร้านค้าใดแอบขายใต้ดิน เหตุกฎหมายโทษหนักทั้งจำ-ปรับ

นายรัตนศักดิ์ พินิจเมือง เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมหาสารคาม เปิดเผยว่า หลังจากที่มีราชกิจจานุเบกษาประกาศแบนสารเคมีพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส ขึ้นบัญชีวัตถุอันตราย ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิ.ย. 63 ที่ผ่านมา ทางสารวัตรเกษตรได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและติดตาม พร้อมให้คำแนะนำแนวทางปฏิบัติและส่งมอบคืนวัตถุอันตราย 4 ชนิดในจังหวัดมหาสารคาม ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 กำหนดให้พาราควอตและสารคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ได้ลงพื้นที่ตรวจแล้วหลายแห่ง ในพื้นที่ อ.เมืองและ ต.ท่าสองคอน บ้านท่าสองคอน โดยมีร้านค้าที่มีใบอนุญาตประกอบการจำหน่ายสารเคมี 3 สาร จำนวน 142 ร้าน และจากการตรวจสต๊อกร้านค้าปรากฏว่าไม่พบสารต้องห้ามในสต๊อกแต่อย่างใด

นายรัตนศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ผู้ที่มีพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสไว้ในครอบครองก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของกรมวิชาการเกษตรคือ เกษตรกรส่งคืนให้ร้านที่ซื้อมา ภายใน 90 วัน (ไม่เกินวันที่ 29 สิงหาคม 2563) ร้านค้าส่งคืนให้ผู้ผลิตหรือนำเข้าและแจ้งปริมาณต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ภายใน 120 วัน (ไม่เกินวันที่ 28 กันยายน 2563) ผู้ผลิตและผู้นำเข้าแจ้งปริมาณต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรภายใน 270 วัน (ไม่เกินวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564) กำหนดวัน วิธีและสถานที่ ในการทำลาย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อควบคุมการทำลาย และจะต้องส่งคืนใน 90 วัน ไม่เกิน 29 ส.ค. 63 หากฝ่าฝืน จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนนายจิรนิติ วงษ์คำหาญ เจ้าของร้านค้าจำหน่ายสารเคมี ในเขต อ.เมือง จ.มหาสารคาม รายหนึ่งกล่าวว่า หลังจากมีกระแสการยกเลิกการใช้ 2 สารนี้มาอย่างต่อเนื่องทำให้ทางร้านค้าประเมินว่าคงมีการยกเลิกห้ามใช้แน่นอน กระทั่งล่าสุดมีการประกาศห้ามใช้ ทางร้านค้าจึงไม่มีการสั่งสินค้าเข้าร้านแต่อย่างใด ส่วนสินค้าเก่าที่ตกค้างไม่มีในสต๊อก สามารถตรวจสอบได้ ส่วนเกษตรกรที่เคยซื้อไปใช้ไม่เห็นมีการนำส่งคืนทางร้าน คาดว่าคงใช้หมดไปแล้ว และคงไม่มีร้านค้าใดแอบขายเพราะไม่คุ้ม กฎหมายมีบทลงโทษแรงมาก ทั้งจำคุก และปรับเป็นล้านบาท ร้านค้าส่วนใหญ่ขายสินค้าทางการเกษตรอื่น ๆ ไม่ได้ขายเฉพาะสารเคมี

ด้านนายคงฤทธิ์ บัวบุญ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดมหาสารคาม ให้ความเห็นกรณีนี้ว่า การยกเลิกการใช้ พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสคงกระทบเกษตรกรในพื้นที่มหาสารคามน้อยมาก เนื่องจากมหาสารคามมีนโยบายเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ ปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรอินทรีย์จำนวนมาก อาทิ ข้าวอินทรีย์ ผักปลอดสาร รวมถึงพืชไร่อย่างอ้อยอินทรีย์ เป็นต้น เกษตรกรที่ปลูกพืชไร่จะใช้สารพวกนี้จำนวนมาก แต่เมื่อมีการห้ามใช้เกษตรกรจะต้องปรับตัวสู่เกษตรอินทรีย์เต็มตัว เพราะไม่จำเป็นต้องใช้สารพวกนี้ เพียงใช้วิธีไถกลบหญ้า และคอยดูแลบ่อย ๆ ไม่จำเป็นต้องใช้สารฆ่าหญ้า รวมทั้งปัจจุบันในพื้นที่ยังมีการส่งเสริมให้เลี้ยงโค กระบือ หากตามไร่นามีการใช้สารฆ่าหญ้าจะกระทบกับการเลี้ยงโค กระบือ ดังนั้นเกษตรกรที่ยังไม่ทำเกษตรอินทรีย์ต้องปรับตัว เพราะปัจจุบันสินค้าอินทรีย์กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคสูงขึ้นเรื่อย ๆ