“โรบินสันอุดร” พลิกโฉมเป็น “เซ็นทรัล” รับศูนย์กลางการค้าลงทุน GMS

เล็งปรับโฉม - ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวลือสะพัดแถวจังหวัดอุดรธานีว่า กลุ่มเซ็นทรัลรีเทล หรือ CRC ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล และโรบินสัน เตรียมปรับโฉมห้างสรรพสินค้าโรบินสัน สาขาอุดรธานี เป็นเซ็นทรัลดีพาร์ตเมนต์สโตร์ในเร็ว ๆ นี้

กลุ่มเซ็นทรัลรีเทลเตรียมพลิกโฉม “โรบินสัน อุดรธานี” ยกระดับเป็น “ห้างเซ็นทรัล” เต็มพื้นที่เร็ว ๆ นี้ด้านหอการค้า-สภาอุตสาหกรรมอุดรฯ-บิ๊กบลูเอเจนซีลาว ฟันธงตรงกัน กลุ่มเซ็นทรัลมองการณ์ไกล อนาคตอุดรฯเป้าหมายเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าการลงทุนอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เชื่อมโยงเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ GMS ตอนบนถึงจีน ขนาดตลาดมหาศาล 7 ล้านคน พร้อมเป็นศูนย์กลางการบินของภาคอีสานเหนือ โดยเฉพาะคนลาวเข้ามาซื้อผลิตภัณฑ์จากห้างสรรพสินค้าทุกแห่งในวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ จำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่า กลุ่มเซ็นทรัลรีเทล หรือ CRC ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล และโรบินสัน เตรียมที่จะเปลี่ยนห้างสรรพสินค้าโรบินสัน สาขาอุดรธานี เป็นเซ็นทรัลดีพาร์ตเมนต์สโตร์ จึงได้สอบถามไปทางนายอนุชา เปรมเพชร ผู้จัดการทั่วไป ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา อุดรธานี ได้รับคำตอบว่าน่าจะแถลงข่าวเร็ว ๆ นี้ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง ขณะนี้อยู่ระหว่างรอกำหนดการ ยืนยันจากผู้บริหาร

ขณะที่แหล่งข่าวจากโรบินสันอีกรายยืนยันกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มีข่าวว่าจะเปลี่ยนจริง ๆ แต่ยังไม่มีแจ้งกำหนดการว่าจะเปลี่ยนเป็นทางการประมาณช่วงใด คิดว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับในอนาคตมากกว่าระยะสั้น ซึ่งปัญหาการระบาดของสถานการณ์โควิด-19 เพิ่งคลี่คลายลง

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กลุ่มเซ็นทรัลรีเทลได้เปลี่ยน “ห้างโรบินสัน เมกาบางนา” เป็น “ห้างเซ็นทรัล เมกาบางนา” เพื่อให้สามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าในย่านบางนา-ตราด กทม. ซึ่งเป็นประตูสู่ภาคตะวันออกได้ดียิ่งขึ้นโดยกำหนดเปิดให้บริการในวันที่ 2 กรกฎาคม 2563

หอการค้าอุดรชี้รับเมืองอนาคต

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในอนาคตจังหวัดอุดรธานี มีเป้าหมายจะเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าการลงทุนอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ดังนั้นถ้าห้างสรรพสินค้าโรบินสัน สาขาอุดรธานี มีนโยบายจะเปลี่ยนเป็นเซ็นทรัลดีพาร์ตเมนต์สโต ร์ถือเป็นการเตรียมตัวรองรับการอัพเกรดเมืองในอนาคตจะเป็นเรื่องที่สอดรับ เมื่อเปิดประเทศทุกอย่างจะมารองรับความหลากหลาย เพื่อไม่ให้ลูกค้าไปที่อื่น

ทั้งนี้ การอัพเกรดห้างสรรพสินค้าจะได้ทั้งลูกค้าภายในจังหวัด และลูกค้าจังหวัดข้างเคียง รวมถึงลูกค้าจาก สปป.ลาว ซึ่งคาดว่าเร็ว ๆ นี้คงจะมีการเปิดด่าน สปป.ลาว เพราะไม่พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มานานแล้ว แต่ในสถานการณ์โควิด-19 การเข้า-ออกบริเวณของชายแดนคงไม่ง่ายเหมือนในอดีต จะมีการคัดกรองที่เข้มงวด ในเบื้องต้นที่มีการพูดคุยกันเรื่องการท่องเที่ยวแบบจับคู่ท่องเที่ยวกับต่างชาติ (travel bubble) โดยจะนำคนที่มีกำลังซื้อ ยังไม่ใช้หนังสือข้ามแดน แต่จะใช้หนังสือเดินทาง (passport) ดังนั้น บุคคลที่จะเข้ามาจะเป็นกลุ่มคนมีกำลังซื้อ หรือมีความต้องการของตลาด เพราะยังไม่ได้เปิดทั่วไป

“ยกตัวอย่างจังหวัดสกลนครมีห้างโรบินสัน ถ้าโรบินสันอุดรฯเปลี่ยนเป็นเซ็นทรัลดีพาร์ตเมนต์สโตร์ คิดว่าลูกค้าจากสกลนครจะมาช็อปปิ้งที่เซ็นทรัลอุดรฯ เพราะสินค้ามีความหลากหลายและแตกต่างมากกว่า หากลูกค้าอยากซื้อสินค้าที่โรบินสันก็ซื้อที่สกลนคร แต่ถ้าอยากได้ความแตกต่างต้องมาที่อุดรฯ เป็นการขยายช่องทางและโอกาส ทั้งนี้ การแปลงโฉมโรบินสัน อุดรฯ เป็นเซ็นทรัลดีพาร์ตเมนต์สโตร์นั้น รูปแบบที่ออกมา คือ การพัฒนา เปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ซึ่งทุกรายเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง อนาคตรูปแบบการลงทุนจะเป็นเรื่องการคิดใหม่ให้สอดคล้องกับตลาดมากขึ้น แต่ตอนนี้ต้องยอมรับว่าตลาดทุกวันนี้ เป็นตลาดที่บริโภคภายใน ต่างประเทศยังปิดการเข้า-ออกอยู่ กำลังซื้อตอนนี้มาจากดีมานด์ภายในจังหวัด และพื้นที่ข้างเคียงยังไม่มีลูกค้าจาก สปป.ลาว” นายสวาทกล่าว

พุ่งเป้ากลุ่มลูกค้าไฮเอนด์

นายวีรพงษ์ เต็งรังสรรค์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่กลุ่มเซ็นทรัล มีนโยบายจะเปลี่ยนห้างโรบินสันเป็นเซ็นทรัลดีพาร์ตเมนต์สโตร์ยังถือเป็นเครือเซ็นทรัลอยู่ เรื่องยอดขายคงไม่ใช่ประเด็น แต่มองว่าอยากยกระดับแบรนด์ขึ้นมามากกว่า จะทำให้เซ็นทรัลมีกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์ขึ้นมาอีกระดับ เพราะโรบินสันเองไปลงทุนในเมืองอื่น ๆ ที่ขนาดเล็กกว่าอุดรฯ

“คนอุดรฯถือเป็นนักสะสม เป็นคนมีฐานะ บางครั้งเศรษฐกิจ หรือการจ้างงานจะชะลอไปบางส่วน แต่แรงกระตุ้นกำลังซื้อส่วนหนึ่งมาจากคนมีเงินทั้งพ่อค้า นักธุรกิจ ข้าราชการฯ และคนต่างชาติที่มาแต่งงานกับสาวอุดร (เขยฝรั่ง) จำนวนมาก ยังมีกำลังซื้อสามารถใช้เงินหมุนเวียนให้เกิดสภาพคล่องในจังหวัดได้แต่อาจจะยังไม่มากประมาณ 30% เพราะบางธุรกิจยังไปได้ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร หรือด้านการเกษตร หรือเกษตรแปรรูป แต่หากเปิดด่านชายแดนกำลังซื้อจากคน สปป.ลาวจะกลับมา เพราะในสปป.ลาวยังไม่มีสถานที่ช็อปปิ้ง หรือพักผ่อน เหมือนอุดรฯ”

“เศรษฐีสปป.ลาว” ช็อปแบรนด์เนมพุ่ง

นางสาวณฐอร มหิทธิกุล กรรมการผู้จัดการ บิ๊กบลูเอเจนซีลาว เอเยนซี่รายใหญ่ใน สปป.ลาว เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ถ้าโรบินสันอุดรฯจะเปลี่ยนเป็นเซ็นทรัลดีพาร์ตเมนต์ คิดว่ากำลังซื้อในอุดรฯส่วนใหญ่จะเป็นคนลาว ที่เหลือน่าจะเป็นคนจังหวัดใกล้เคียงและในอนาคตเมื่อเปิดด่านคิดว่าคน จาก สปป.ลาวจะเข้าไปช็อปปิ้งที่อุดรฯเหมือนเดิมเพราะสปป.ลาวติดอุดรฯ จะเห็นได้ว่าก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 คนลาวเข้ามาดื่มกาแฟที่อุดรฯ ไปศูนย์การค้ายูดีทาวน์ โดยเฉพาะถ้าเซ็นทรัลดีพาร์ตเมนต์มีแบรนด์เนมมาขายจำนวนมาก น่าจะตรงกับไลฟ์สไตล์เพื่อนบาน แต่อาจจะมีบางส่วนเริ่มคิดว่าซื้อของบริโภคในประเทศก็ได้ โดยปัจจุบันนิยมการช็อปออนไลน์ผ่านลาซาด้า-ช้อปปี้รวมถึงฝากหิ้ว เช่น เครื่องสำอาง เครื่องประทินผิว

ฮับการค้าลงทุนเชื่อม GMS

รายงานข่าวจังหวัดอุดรธานีระบุว่า แผนพัฒนาจังหวัดอุดรธานี 2561-2565 ฉบับทบทวน ประจำปีงบประมาณ 2563 ระบุว่า อุดรฯถือเป็นจังหวัดศูนย์กลางการคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจภาคอีสานตอนบน มีเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อกับจังหวัดหนองคาย ขอนแก่น สกลนคร หนองบัวลำภู ปี 2560 ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดอุดรธานี ณ ราคาประจำปีมีมูลค่า 139,116 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี2559 มีมูลค่า 134,969 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเท่ากับ 4,147 ล้านบาท หากคิดเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อหัว (GPP per capita) มีมูลค่าเท่ากับ 110,410 บาทต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 107,118 บาท ในปี 2559 หรือขยายตัวร้อยละ 3.1 ตามการขยายตัวของการผลิตนอกภาคเกษตร

ที่สำคัญ อุดรฯถือเป็นศูนย์กลางการคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจ เส้นทางยุทธศาสตร์ CLMV (กัมพูชา-สปป.ลาว-เมียนมา-เวียดนาม) จึงมีเป้าหมายการพัฒนาเป็นเมืองน่าอยู่ ศูนย์กลางการค้าการลงทุนอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยมีเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อกับจังหวัดหนองคาย ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว นครหลวงเวียงจันทน์ (ห่างจาก สปป.ลาว ประมาณ 60 กิโลเมตร) การมีที่ตั้งใกล้กับเมืองหลวงของ สปป.ลาวอย่างเวียงจันทน์

และการมีเส้นทางที่สามารถเชื่อมโยงไปยังกลุ่มประเทศ GMS ตอนบน ซึ่งมีขนาดของตลาด หรือ demand size มหาศาลมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนตอนใต้ ที่มีความทันสมัยและมีประชากรหนาแน่น อย่างเมืองหนานหนิง ที่อยู่ทางตอนเหนือของเวียดนาม นี่ขนาดพื้นที่ใหญ่กว่าอุดรธานีแค่ 2 เท่า แต่มีประชากรเกือบ 7 ล้านคน มากกว่าประชากรลาวทั้งประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านด่านชายแดนไปตามเส้นทาง R8 ทางบึงกาฬ และ R12 ทางนครพนม ไปยังจีนตอนใต้ได้ จะไม่ใช่เพียงเมืองหนานหนิง แต่ยังมีเมืองอื่น ๆ ที่มี market size ขนาดพอ ๆ กับหนานหนิงอีกหลายเมืองถ้าทำสำเร็จจะทำให้สินค้าบริการของจังหวัดอุดรธานีมีการเจริญเติบโตอย่างมั่นคง

“ค้าปลีก” สร้างรายได้หลัก

โครงสร้างทางด้านเศรษฐกิจของจังหวัดอุดรธานี เป็นเมืองแห่งการค้า การลงทุน รายได้หลักอันดับหนึ่งมาจากการค้าปลีก อันดับสองมาจากสินค้าเกษตร มีทำเลที่ตั้งเหมาะในเรื่องของการค้าชายแดนที่ส่งออกสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากมีศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า ผักและผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ ในการรองรับผู้ซื้อจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นลาว เวียดนาม การค้าของจังหวัดอุดรธานีในช่วงปี 2560 จะเห็นว่ารายได้หลักมาจากการค้าส่ง ค้าปลีก ซึ่งเป็นผลให้มีนักลงทุนได้ขยายกิจการเพิ่มมากขึ้น ทั้งศูนย์การค้า ห้างจำหน่ายวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ได้เกิดขึ้นจำนวนมาก การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ระหว่างการก่อสร้าง หากดูการจดทะเบียนในปี 2560 จะเห็นว่ามีการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท และห้างสรรพสินค้า ในจำนวน 810 ราย และมีห้าง/บริษัทที่เลิกกิจการไปจำนวน 45 ราย

ในขณะเดียวกันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่ มีความเติบโตเป็นอันดับ 3 ของภาค ซึ่งรองจากจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดขอนแก่นเท่านั้นเอง และในอนาคตจังหวัดอุดรธานีได้รับประกาศให้เป็นเมือง sport city ศูนย์กลางการคมนาคมทางการบินของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีผู้เดินทางเข้าออกปีละประมาณ 2 ล้านกว่าคน ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการค้าจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะจาก สปป.ลาว ได้เข้ามาซื้อผลิตภัณฑ์ภายในจังหวัดอุดรธานี ห้างสรรพสินค้าทุกแห่งในวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยว และเข้าพักอาศัยเป็นจำนวนมาก

จังหวัดอุดรธานีได้มีการพัฒนาและส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการรายย่อย ในการพัฒนาตนเองและส่งเสริมอาชีพโดยเฉพาะสตาร์ตอัพ หรือการใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยในการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด การค้ายุคใหม่ของจังหวัดอุดรธานีได้ตั้งเป้าหมายในเรื่องของการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจให้เป็นเมือง smart province ซึ่งเป็นเมืองที่ smart โดยเน้นให้มีการค้าทางด้าน e-Commerce

อนึ่ง บริเวณที่ตั้งห้างเซ็นทรัลพลาซา อุดรธานี เดิมเคยเป็น “ห้างเจริญศรีคอมเพล็กซ์” ของตระกูลทีฆธนานนท์ แต่ในปี 2552 ได้ขายกิจการให้กับกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ของตระกูลจิราธิวัฒน์ และเปิดบริการมาถึงปัจจุบัน