เส้นทางไดโนเสาร์ เลียบน้ำโขง จุดท่องเที่ยวมหาสารคาม-อีสานใต้

อุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียง | ขอนแก่น
อุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียง ขอนแก่น | ภาพ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สัมภาษณ์พิเศษ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดมหาสารคาม ได้มีการประชุมสมาชิกเพื่อลงมติเลือกนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดมหาสารคามคนใหม่ แทนคนเดิมที่หมดวาระลง ผลการลงมติปรากฏว่า “ดร.ณรงศักดิ์ คูบุญญอารักษ์” ข้าราชการบำนาญอดีตผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬามาแล้วหลายจังหวัด ถือเป็นหนึ่งในผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการการท่องเที่ยวได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกเป็นเอกฉันท์เข้านั่งตำแหน่งนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดมหาสารคามคนใหม่ ในภาวะหลังโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย แต่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ถึงนโยบาย และแนวทางในการกระตุ้น ส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อดึงเม็ดเงินเข้าสู่ท้องถิ่น

ดร.ณรงศักดิ์ คูบุญญอารักษ์ เล่าว่า การท่องเที่ยวของประเทศไทยแบ่งเป็น 3 ลักษณะ ประกอบด้วย คนไทยไปเที่ยวเมืองนอก นักท่องเที่ยวเมืองนอกเข้ามาเที่ยวในไทย และคนไทยเที่ยวในประเทศ แต่ภายหลังเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เกิดพฤติกรรมใหม่ ๆ หรือชีวิตวิถีใหม่ (new normal) ธุรกิจการท่องเที่ยวต้องปรับตัวใหม่ เพราะการท่องเที่ยวในสถานการณ์การเกิดโรคระบาดจะทำอย่างไรให้ธุรกิจนี้ไม่หยุดนิ่งเดินหน้าไปได้ ทางรัฐบาลจึงมีโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบจับคู่ท่องเที่ยวกับต่างชาติ (travel bubble) โดยภาครัฐคาดหวังเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเข้ามากระจายลงสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร สปา สินค้าโอท็อปเป็นต้น แต่ต้องมีมาตรฐานทางด้านสุขอนามัยเพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจ

นอกจากนั้น การส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วงนี้ควรเน้นการท่องเที่ยวแบบไทยเที่ยวไทย อาจเป็นการเที่ยวในกลุ่มจังหวัด จะเหมาะกับสถานการณ์มากกว่า เพราะการแพร่ระบาดของโรคในประเทศดีขึ้น ทำให้อารมณ์ของประชาชนคลายความวิตกลง ทำให้อยากเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ตนมองว่าสองไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 การท่องเที่ยวในประเทศจะบูมเพราะกำลังซื้อของประชาชนมีสูงทั้งจากมาตรการแจกเงินเที่ยวรวมทั้งเม็ดเงินจากหลาย ๆ โครงการของภาครัฐที่จ่ายออกมาถึงมือประชาชนโดยตรง

สำหรับการท่องเที่ยวของจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีสภาพภูมิศาสตร์ตั้งอยู่ใจกลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) จนได้รับสมญานามว่าสะดืออีสาน เมื่อวิเคราะห์ดูพบว่า มีศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยวสูง เพราะสอดคล้องกับทุกเส้นทางการท่องเที่ยวในภาคอีสานที่การท่องเที่ยวทำไว้ ประกอบด้วย 4 เส้นทางหลัก

1.เส้นทางการท่องเที่ยวไดโนเสาร์

2.เส้นทางธรรมะ

3.เส้นทางเลียบแม่น้ำโขง

4.เส้นทางอารยธรรมอีสานใต้

เส้นทางการท่องเที่ยวไดโนเสาร์อยู่ใน จ.ขอนแก่น และ จ.กาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดในกลุ่ม ร้อยแก่นสารสินธุ์ ก่อนไปเที่ยวแหล่งไดโนเสาร์มหาสารคามในฐานะเมืองการศึกษา ต้องใช้ศักยภาพความเป็นเมืองการศึกษา ให้บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นหนึ่งในศูนย์วิจัยศึกษาด้านบรรพชีวินวิทยาหลักของประเทศ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับซากสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์สัมพันธ์กับธรณีวิทยาและสิ่งแวดล้อม เราต้องดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาที่นี่ก่อนเดินทางไปแหล่งไดโนเสาร์

ส่วนการท่องเที่ยวเส้นทางธรรมะ มหาสารคามโดดเด่นไม่ว่าจะเป็นพระบรมธาตุนาดูน วัดป่าวังน้ำเย็น ที่ถาวรวัตถุสร้างจากไม้ซุง หลวงพ่อพระยืนวัดหนองหูลิง ภาพฮูปแต้มวัดป่าเรไร และวัดโพธาราม เป็นต้น แหล่งท่องเที่ยวเส้นทางธรรมะเหล่านี้ในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์หรือหยุดช่วงเทศกาลจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก ช่วงก่อนเชื้อโควิด-19 ระบาด แต่ช่วงนี้เริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากแล้วหลังภาครัฐมีการผ่อนคลายมาตรการ

และเส้นทางการท่องเที่ยวเลียบแม่น้ำโขง เราได้ประโยชน์ถึงมหาสารคามจะไม่ติดกับแม่น้ำโขงแต่ได้อานิสงส์ เพราะโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง แผนงานพัฒนาเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) ซึ่งเป็นเส้นทางการเชื่อมโยงพื้นที่จากด้านตะวันออกมายังด้านตะวันตกผ่านทั้งหมด 4 ประเทศ คือ เวียดนาม สปป.ลาว ไทย และเมียนมา

โดยเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจนี้ ถือเป็นเส้นทางที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก และถนนเส้นทางนี้ผ่าน อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม ชาวต่างประเทศที่เดินทางผ่านมา อาจแวะรับประทานอาหาร หรือซื้อของฝากที่ อ.เชียงยืน

ส่วนเส้นทางการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ หรืออารยธรรมขอม ในหลายพื้นที่ของมหาสารคาม มีโบราณสถานที่เคยเป็นแหล่งอารยธรรมของขอม อาทิ กู่สันตรัตน์ กู่บ้านเขวา กู่น้อย กู่บ้านแดง เป็นต้น เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจเข้ามาเที่ยวชมมากเช่นกัน จะเห็นว่ามหาสารคามมีความพร้อมสูงมากในการรองรับนักท่องเที่ยวรวมทั้งสถานที่พักมีโรงแรมระดับ 5 ดาว ร้านอาหาร สินค้าโอท็อป และสาธารณูปโภค เราก็มีพร้อมพอสมควรนี่คือจุดแข็งของเรา

แต่จุดอ่อนของมหาสารคาม ที่ผ่าน ๆ มาคือ ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติมีน้อย ในอนาคตทางสมาคมมีโครงการผลักดันเพิ่มตัวเลขนักท่องเที่ยวส่วนนี้ให้ได้ จะหารือกับทางส่วนราชการ นอกจากนั้น เมื่อเราเป็นเมืองการศึกษาต้องใช้ศักยภาพองค์ความรู้ที่มีเป็นจังหวัดศึกษาดูงานด้านการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวด้วยดิจิทัล และในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด มหาสารคามต้องฉวยโอกาสโดยอาสาให้เข้ามาเที่ยวบ้านเรา กระตุ้นผู้ประกอบการในท้องถิ่นให้ตื่นตัว สร้างความพร้อมในทุก ๆ ด้านรองรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะมาตรฐานการป้องกันโรคจึงต้องสูง เคร่งครัดตามมาตรการของทางภาครัฐที่กำหนดไว้เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวในฐานะจังหวัดปลอดโรคเที่ยวได้อย่างสบายใจ ซึ่งที่ผ่านมามหาสารคาม มีคนเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เพียง 1 ราย และไม่ใช่คนในพื้นที่เป็นคนมาจากต่างถิ่น นี่คือจุดแข็งที่สามารถเชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาบ้านเราได้