“เกาะหมาก” โมเดลต้นแบบ GSTC อพท.3 ชูเป้าปี’65 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก

“เกาะหมาก” จ.ตราด อยู่ในเขตพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยงขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ปี 2555-2561 ประสบความสำเร็จพัฒนาให้เกาะหมากเป็นต้นแบบของแหล่งท่องเที่ยวที่มีการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ (low carbon destination)

เน้นย้ำการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ที่ผ่านมาเกาะหมาก 80-90% เป็นนักท่องเที่ยวโซนยุโรป เยอรมนี และกลุ่มสแกนดิเนเวีย ทำรายได้ปีละกว่า 1,000 ล้านบาท จากรายได้รวมจังหวัดมูลค่า 19,989 ล้านบาท (ปี 2562 : ข้อมูล กทท.) และ ในปี 2563-2565 อพท.มีแผนจะพัฒนาพื้นที่พิเศษทั้ง 6 พื้นที่ไปสู่เกณฑ์มาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council : GSTC) “เกาะหมาก” พื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยงเป็น 1 ใน 6 ที่อยู่ในเป้าหมาย “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “สุธารักษ์ สุนทรวิภาต” รองผู้จัดการพื้นที่พิเศษ 3 (อพท.3) ถึงการเตรียมพร้อมเขาสู่มาตรฐาน GSTC

ชู GSTC รุก “เกาะหมาก”

“สุธารักษ์ สุนทรวิภาต” รองผู้จัดการพื้นที่พิเศษ 3 (อพท.3) กล่าวว่า อพท.ได้เตรียมแผนการพัฒนามาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global SustainableTourism Council : GSTC) โดยเลือก “เกาะหมาก” ในเขตพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยงเป็นพื้นที่ต้นแบบ วางแผนพัฒนาระยะเวลา 3 ปี (2563-2565) และได้ประเมินตามเกณฑ์มาตรฐาน GSTC ตามองค์ประกอบ 4 ด้าน คือ ด้านการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจ สังคม และด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งระดับการพัฒนาตามเกณฑ์มาตรฐาน มีตั้งแต่สีแดง ชมพู เหลือง เขียว เป้าหมายคือต้องพัฒนาให้เป็นสีเขียวทุกด้าน สำหรับด้านสิ่งแวดล้อมเกาะหมากเป็นแหล่งท่องเที่ยวโลว์คาร์บอน แต่กลับพบปัญหาขยะอยู่ระดับสีแดงที่ต้องเร่งแก้ไข อพท.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อวางแผนหารูปแบบการจัดการขยะที่เหมาะสมสอดคล้องกับพื้นที่

สุธารักษ์ สุนทรวิภาต

จากการลงพื้นที่เกาะหมากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้สุ่มตัวอย่างการคัดแยกองค์ประกอบขยะมูลฝอย 4 ประเภท คือ ขยะรีไซเคิล ขยะอินทรีย์ ขยะทั่วไป ขยะมีพิษ พบว่าขยะอินทรีย์มีสัดส่วนมากที่สุด คือ จากภาคครัวเรือน(ร้านค้า) 47% และภาคท่องเที่ยว (โรงแรม รีสอร์ต) 59% รวมทั้งปัญหาขยะรีไซเคิลประเภทขวดแก้วที่มีปริมาณมาก แต่มีปัญหาค่าขนส่งสูงมาก ต้องฝังกลบไว้ก่อน ส่วนขยะถุงพลาสติกที่มีปริมาณน้อยและปนมากับขยะอินทรีย์ ไม่คุ้มค่าจะใช้เครื่องจักรรีไซเคิลทำน้ำมันไบโอดีเซล ปัญหาดังกล่าวนี้ได้นำสู่เวทีประชาคมทั้ง 2 กลุ่ม พุ่งเป้าไปที่ความรู้ โนว์ฮาวให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการคัดแยกขยะโดยเฉพาะขยะอินทรีย์ การจัดการขยะ การตระหนักถึงการแก้ปัญหาร่วมกัน รวมทั้งรับฟังปัญหาและหาอาสาสมัครภาคประชาชนเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนการจัดการขยะที่มีทั้งบนบกและจากทะเล เพื่อองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมากจัดทำแผนขับเคลื่อนอย่างชัดเจน

อบต.-อำเภอ-จังหวัดขับเคลื่อน

การจัดการขยะที่เกาะหมาก เป็นเรื่องของ อบต.เกาะหมากโดยตรง แต่ด้วยเป็นยูนิตเล็ก ๆ กลับมีปัญหาหลายอย่าง คือ พื้นที่ตั้งเป็นเกาะห่างไกลเดินทางลำบาก ประชากรน้อยเพียง 500 คนเศษ แต่ประชากรแฝงส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวกว่า 1,000 คนงบประมาณค่าบริหารจัดการขยะมีจำกัดเพียง 3 ล้านบาท ใช้ค่าจัดเก็บขยะ 1.6 ล้านบาท จึงเป็นภาระหนักของ อบต.เกาะหมาก ซึ่งต้องบริหารจัดการขยะ จัดทำแผนการจัดการขยะ น้ำเสีย และชุมชนเกาะหมากเองมีปัญหา ความร่วมมือระหว่างลูกจ้าง-นายจ้าง รวมทั้งตำแหน่งผู้นำท้องถิ่น (นายก อบต.) ว่างอยู่ จึงเป็นภาระของปลัด อบต. ดังนั้นการสร้างความมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนและการสนับสนุนจากหน่วยงานระดับจังหวัด อำเภอ และ อบต.เกาะหมาก ช่วยกันขับเคลื่อนจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ

เพื่อเร่งดำเนินการตามเกณฑ์มาตรฐาน GSTC ทั้ง 4 ด้าน อพท.3 ได้เสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตราดแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจังหวัดตราด ตามเกณฑ์มาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council : GSTC) โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ประกอบด้วย หน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล ช่วยกันขับเคลื่อนร่วมกัน โดยมีการวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะ อพท.หน่วยงานเดียวคงไม่สามารถดำเนินการได้ ส่วนทาง อบต.เกาะหมากเองมีแผนที่จะรณรงค์กำจัดขยะอยู่แล้ว รวมทั้งมีโครงการสร้างโรงกำจัดขยะ ซึ่งเครื่องจักรที่ใช้ควรให้เหมาะสมกับการนำมาใช้บนพื้นที่เกาะหมาก โดยเฉพาะการดูแล ซ่อม บำรุงรักษาต้องไม่ซับซ้อนหรือใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาก ให้คนในพื้นที่ดูแลซ่อม บำรุงให้ใช้งานได้ ข้อมูลต่าง ๆ นี้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงทำแผนการบริหารจัดการขยะบนเกาะหมากเสนอ อพท. ให้สอดรับกันทั้งปัจจุบันและอนาคต

เมื่อเริ่มขับเคลื่อนอย่างจริงจังปี 2563 และปี 2564 มีเวลาปรับแก้ไข จะดำเนินงานได้ตามแผน 3 ปี คาดว่าปี 2565 สามารถดำเนินการสู่เป้าหมายของมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก GSTC พร้อม ๆ กันทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านระบบบริหารจัดการ ที่มีคณะกรรมการระดับจังหวัดกำหนดแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน สนับสนุน โดยมี อบต.ขับเคลื่อนปฏิบัติงานในพื้นที่ ด้านเศรษฐกิจ สังคม จะทำการศึกษาข้อมูลและจัดทำแผนการสร้างงาน สร้างรายได้ ส่งเสริมอาชีพให้ชุมชน ส่วนด้านวัฒนธรรม ด้วยเกาะหมากเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ แม้ว่ายังไม่ชัดเจน จะมีการศึกษาข้อมูลทางด้านวัฒนธรรม สร้างจุดเรียนรู้ หรือพิพิธภัณฑ์เพื่อถ่ายทอดให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่ง อพท.3 จะขับเคลื่อนพัฒนาทั้ง 4 ด้านไปพร้อม ๆ กัน คาดว่าจะสำเร็จในปี 2565

ตั้งเป้า ITB…Top 100 ของโลก

ปี 2565 เป้าหมายเกาะหมากต้นแบบมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก GSTC ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย กระบวนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนและมีระยะเวลาพอ จากนั้น อพท.จะนำเสนอในงาน International Tourism Borse Berlin หรืองาน ITB เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เป็นแหล่งท่องเที่ยว top 100 ของโลก ซึ่งเป็นงานมหกรรมส่งเสริมการขายทางการท่องเที่ยวที่ใหญ่และสำคัญระดับโลก ตลาดนักท่องเที่ยวยุโรปให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมทั้งตลาดท่องเที่ยวอื่น ๆ นักท่องเที่ยวคุณภาพจะเดินทางมาท่องเที่ยวเกาะหมาก และในแผนพัฒนาเกาะหมากนี้ได้มีการศึกษาจำนวนนักท่องเที่ยวที่เหมาะสมของเกาะหมากด้วย อพท.จะไม่เน้นเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวเพื่อรายได้ แต่เป้าหมายคือนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพในจำนวนที่เหมาะสม เพื่อรักษาสมดุลของเศรษฐกิจกับสังคมและสิ่งแวดล้อม การปั้นโมเดลต้นแบบที่เกาะหมากตามแผนพัฒนา 3 ปี (2563-2565) ปี 2563-2564 อพท.จะใช้งบประมาณ ประมาณ 10 ล้านบาทเศษ…