“สานพลังประชารัฐ” เชียงใหม่ ตั้งธง Eco City ฟื้นเศรษฐกิจฐานราก

การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่ผ่านมา รัฐบาลมุ่งขับเคลื่อนผ่านกลไกโครงการ “สานพลังประชารัฐ” หลังสถานการณ์โควิด-19 การสานพลังประชารัฐของจังหวัดเชียงใหม่เร่งเดินหน้า โดยเฉพาะภาคการเกษตร ที่ตั้งธงทำเกษตรอินทรีย์ มุ่งสู่ Eco City จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคงและยั่งยืน

นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า รายได้หลักของจังหวัดเชียงใหม่ สัดส่วน 70% มาจากภาคการท่องเที่ยวและบริการ อีก 20% เป็นรายได้จากภาคอุตสาหกรรม และ 10% มาจากภาคการเกษตร ซึ่งเหลืออีกเพียง 3 เดือนจะหมดงบประมาณปี 2563 โครงการสานพลังประชารัฐของจังหวัดเชียงใหม่จะต้องเดินหน้าให้มีความต่อเนื่อง แต่จะทำโครงการอะไรต้องเร่งคิด เพื่อฟื้นเศรษฐกิจฐานรากให้ได้โดยเร็ว เช่น การรณรงค์เรื่องผ้าไทย ซึ่งเชียงใหม่มีกลุ่มผู้ผลิตผ้าพื้นเมืองอยู่จำนวนมาก โดยแผนงานเร่งด่วนในการขับเคลื่อนภายใต้ 3 กลุ่มงานได้แก่ เกษตร เกษตรแปรรูป และท่องเที่ยวชุมชน เชื่อมโยงกับบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีเชียงใหม่ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัดได้แก่ กลุ่มอาหารปลอดภัย 11 กลุ่ม และกลุ่มเกษตรอินทรีย์ 10 กลุ่ม เช่น ลำไยอินทรีย์ ข้าวอินทรีย์ กระเทียมอินทรีย์ เป็นต้น

ดันเกษตรอินทรีย์-Eco City

นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ คณะทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐจังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด (คสป.) กล่าวว่า ภาคเกษตรของเชียงใหม่ถือเป็นธุรกิจดาวรุ่งและมีศักยภาพสูง ภาพรวมรายได้ภาคเกษตร 45,000 ล้านบาท/ปี โดยมีพื้นที่เกษตร 812,566 ไร่ แบ่งเป็น ปลูกข้าว 515,786 ไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 148,978 ไร่ลิ้นจี่ 56,451 ไร่ มะม่วง 55,361 ไร่ ลำไย 31,424 ไร่ และกระเทียม 25,104 ไร่ เป็นต้น ในระยะยาวเชียงใหม่จำเป็นต้องสร้างเกษตรนิเวศและระบบอาหารที่ยั่งยืน ชูความเป็นเกษตรอินทรีย์ มุ่งสู่เมือง Eco City เป็นการยกระดับฐานการผลิตและเพิ่มมูลค่า จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดทั่วโลกในอนาคต

ณรงค์ ตนานุวัฒน์

ทั้งนี้ ในภาคเกษตรมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น 5 ด้าน คือ 1.สังคมผู้สูงอายุ 2.การย้ายถิ่นสู่เมือง 3.การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี 4.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 5.การกีดกันทางการค้า ซึ่งเกิดผลกระทบในหลายด้าน อาทิ ด้านความต้องการอาหารที่มีมาตรฐาน ปลอดภัยและอาหารเพื่อสุขภาพ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การบริหารจัดการฟาร์ม และการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น ด้านการตลาด มีความต้องการสินค้าคุณภาพสูงการกีดกันทางการค้า และกฎระเบียบโลก สถานการณ์โควิด-19 ถือเป็นตัวเร่งในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตรต้องเร่งปรับโครงสร้าง คือ มีกระบวนการผลิตแบบใหม่ ผลิตอาหารเฉพาะ เช่น functional food/vitamin ซึ่งภาคการผลิตต้องปรับสู่ modern farm, smart farmer และสหกรณ์ต้องเข้มแข็งผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานระหว่างประเทศ ตรงตามความต้องการของลูกค้า และการรักษาสิ่งแวดล้อม

นายณรงค์กล่าวต่อไปว่า นอกจากลำไยที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก กาแฟ อโวคาโด และโกโก้ เป็นพืชดาวเด่นที่ต้องเร่งส่งเสริมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เช่น อโวคาโดขายได้ทั้งผลสด และแปรรูปเป็นน้ำมันอโวคาโด ตลาดมีความต้องการสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ไต้หวัน มาเลเซีย เกาหลีใต้ เป็นต้น

ADVERTISMENT

“เชียงใหม่มี model avocado โดยมีเด็กรุ่นใหม่ปลูกอโวคาโดบนพื้นที่ 10 ไร่ใน อ.กัลยาณิวัฒนา นำผลผลิตมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เพื่อส่งออก สร้างรายได้หลักล้านบาทต่อปี มี key success คือ ปลูกพืชมูลค่าสูง แปรรูปเพิ่มมูลค่า และสร้างเครือข่ายสนับสนุนชาวบ้านให้ปลูกอโวคาโด”

ประชารัฐฯซื้อลำไย-ชูผ้าแม่แจ่ม

นายณรงค์ คองประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีเชียงใหม่ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทจะเร่งเดินหน้า 3 แผนงานหลัก คือ 1.ด้านการเกษตรมุ่งช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกลำไย มะม่วง และกระเทียม ที่ประสบปัญหาด้านราคาและการตลาด โดยเฉพาะลำไยที่กำลังออกผลผลิตในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ได้เตรียมงบประมาณไว้ 2 ล้านบาท เพื่อรับซื้อลำไยจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเขตพื้นที่ อ.จอมทอง และ อ.แม่วาง คาดว่าจะสามารถรับซื้อผลผลิตลำไยได้ราว 300-400 กิโลกรัมต่อครอบครัว ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

ADVERTISMENT
ณรงค์ คองประเสริฐ

โดยบริษัทจะบริหารจัดการผลผลิตและทำตลาดลำไยเอง เน้นการทำตลาดออนไลน์เป็นหลัก กระจายผลผลิตไปยังผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งบริษัทมีเน็ตเวิร์กกลุ่มนักธุรกิจในกรุงเทพฯค่อนข้างกว้างและเข้มแข็ง ขณะเดียวกันได้ติดต่อกลุ่มธุรกิจค้าปลีกค้าส่งที่พร้อมรับซื้อผลผลิตปีนี้ด้วย ส่วนแผนงานที่ 2 คือ จะนำผ้าทอ-ผ้าตีนจกแม่แจ่ม ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมที่ประณีต สวยงาม และเป็นเอกลักษณ์ของ อ.แม่แจ่ม บุกขายตลาดออนไลน์ โดยยกระดับเพิ่มมูลค่าสู่ตลาดบนและแผนงานที่ 3 คือ ด้านการท่องเที่ยว จะทำโครงการร่วมกับ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ

ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมะ ศาสนาและวัฒนธรรม เพื่อเชื่อมโยงกับหมู่บ้านท่องเที่ยวเปิดเส้นทางท่องเที่ยวจาริกแสวงบุญ “ตามรอยหลวงปู่มั่น” ในเส้นทางวัดเจดีย์หลวง อำเภอพร้าว และอำเภอเชียงดาว ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563

ทั้งนี้ บริษัท ประชารัฐฯเชียงใหม่ มีทุนจดทะเบียน 4 ล้านบาท ช่วงระยะ 3 ปีของการดำเนินงานมีโครงการต่าง ๆ ที่มีเป้าหมายมุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ทั้งการส่งเสริมเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ในหลายอำเภอ ขณะเดียวกัน ผลงานที่ผ่านมา คือ การผลักดันให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ต.ขัวมุง อ.สารภี ประกอบด้วย เกษตรกร 137 ครัวเรือน จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนภายใต้ชื่อ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปลงใหญ่ตำบลขัวมุง” ให้สามารถทำการซื้อขายผลผลิตด้วยตัวเองครบวงจรได้เป็นครั้งแรก

โดยบริษัทเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงนำผลผลิตส่งจำหน่ายให้กับพันธมิตรรายแรกคือ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด (ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต) โดยวิสาหกิจชุมชนเป็นผู้กำหนดราคาเอง

สำหรับผลผลิตลำไยในปี 2563 ทางวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปลงใหญ่จะดำเนินการบริหารจัดการซื้อขายเองให้กับท็อปส์ฯ และตลาดอื่น ๆ นับเป็นแนวทางการค้าขายโดยตรงกับผู้ซื้อ โดยไม่ผ่านคนกลาง ซึ่งเป็นเป้าหมายของบริษัทประชารัฐรักสามัคคี คือ สร้างรายได้ให้ชุมชน ประชาชนมีความสุข และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

นายณรงค์กล่าวด้วยว่า การปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาล คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัท เนื่องจากดำเนินงานในรูปนิติบุคคล บริหารงานแบบเอกชน ตลอดระยะเวลา 3 ปี ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนฐานรากในเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการขับเคลื่อนอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากทรัพยากรทั้งด้านเงินทุนและบุคลากรมีไม่มากนัก ซึ่งที่ผ่านมาขาดความต่อเนื่องในการสนับสนุนจากภาครัฐ เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาล จึงทำให้นโยบายเปลี่ยนและไม่มีความต่อเนื่อง แต่หากรัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง อาจจะด้านงบประมาณหรือการตลาด จะทำให้การทำงานเดินไปได้เร็วขึ้น”

นโยบายสานพลังประชารัฐของจังหวัดเชียงใหม่ ยังคงเร่งสปีดขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพื่อเป้าหมายให้ชุมชนมีรายได้และมีเศรษฐกิจที่ดีและยั่งยืน นับเป็นงานที่ท้าทายไม่น้อย ภายใต้สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่ยังไม่อาจวางใจ

ประชาชาติธุรกิจ นำเสนอซีรีส์ “รวมพลังสู้ โควิด-19” ภายใต้เนื้อหาที่มาจากประชาชน นักคิด นักเขียน ผู้รู้ นักธุรกิจ สตาร์ตอัพ ผู้ประกอบการทุกระดับ ที่นำเสนอแนวคิด ความรู้ และทางออกจากปัญหาไปด้วยกัน