เปิดด่าน “สิงขร” ติดปมปักปันเขตแดน รอเมียนมาลงนาม-เอกชนลุ้นจนเหนื่อยรับอานิสงส์

เปิด “สิงขร” เป็นด่านถาวรติดปัญหาปักปันเขตแดน เมียนมาไม่พร้อมลงนาม ด้านเอกชนภาคตะวันตก “ประจวบฯ-เพชรบุรี-สมุทรสาคร” ลุ้นรับอานิสงส์นำเข้าวัตถุดิบอาหารทะลจากเมืองมะริดมาแปรรูปส่งออก มั่นใจหากเปิดด่านได้ มูลค่าการค้าสินค้าเกษตร ก่อสร้าง อุปโภคบริโภค ประมง ท่องเที่ยว โตก้าวกระโดดแน่ ด้านทางการเมียนมาเร่งสร้างถนนสองเลน 180 กม. พัฒนาเมืองมะริด ตะนาวศรี

ด่านสิงขรตั้งอยู่ที่หมู่บ้านไร่เขวา อ.เมือง จ.ประขวบคีรีขันธ์ ตรงข้ามกับหมู่บ้านมูด่องของเมียนมา เป็นทางผ่านไปยังเมืองมะริด ระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร หากการเดินทางสะดวกจะใช้เวลาเพียง 3.5 ชั่วโมง ที่ผ่านมามีการผลักดันให้ยกระดับให้เป็นจุดผ่านแดนถาวรเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการค้า ขณะที่ในปี 2557 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เดินทางไปพบกับ พล.อ.เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีเมียนมา อย่างเป็นทางการ และได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจสถาปนาเมืองพี่เมืองน้อง ระหว่างจังหวัดประจวบคีรีขันธ์กับเมืองมะริด

ขณะเดียวกันในปี 2558-2559 กระทรวงมหาดไทยมีประกาศ เรื่อง การเปิดจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร และรัฐบาลไทยยังได้ผ่อนคลายข้อจํากัดด้านการค้าและการท่องเที่ยวในบริเวณจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขรอีกด้วย แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถเปิดเป็นด่านถาวรได้

เอกชนลุ้นเปิดด่านถาวรให้เร็ว

นายศุรอัฐ ณรงค์ฤทธิ์ ประธานหอการค้าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันด่านสิงขรสามารถนำเข้าและส่งออกสินค้าได้ตามปกติ แต่ไม่ได้สิทธิประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อย่างเต็มที่ เพราะยังไม่ได้ยกระดับขึ้นเป็นด่านถาวร เนื่องจากยังติดปัญหาสำคัญ คือ ด่านฝั่งเมียนมาตั้งอยู่ใกล้กับเขตแดนมากเกินไป จะต้องดำเนินการถอยร่นออกไปอีก แต่เจ้าหน้าที่ของเมียนมาต้องการตรวจสอบการแบ่งเขตแดนกันอีกครั้ง แม้จะมีการสำรวจเขตแดนกันเรียบร้อยแล้วก็ตาม

ขณะเดียวกัน ทางฝั่งไทยยังคงเป็นจุดผ่อนปรนพิเศษอยู่ โดยมีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าผ่านด่านสิงขร เฉลี่ยอยู่ที่ 200-300 ล้านบาท/ปี ถือว่ามีมูลค่าไม่มากนัก เพราะการเดินทางในฝั่งประเทศเมียนมาไม่สะดวก ซึ่งหลายหน่วยงานคาดการณ์ว่า หากเปิดด่านถาวรได้จะทำให้การนำเข้า-ส่งออกเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เมียนมาได้เริ่มปรับปรุงถนนแล้ว คาดว่าจะเสร็จภายในปี 2561 ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าประมงจากเมืองมะริดมายังฝั่งไทยสะดวกรวดเร็วมากขึ้น จากเดิมที่ต้องขนส่งอ้อมไปที่จังหวัดระนอง เพื่อลำเลียงเข้ามายังจังหวัดสมุทรสาครกว่า 80% นอกจากนั้นยังมีผู้ประกอบการหลายรายเริ่มนำเข้าสินค้าผ่านด่านสิงขรบ้างแล้ว เพราะเป็นการย่นระยะทางการขนส่งได้มาก

รอนำเข้าอาหารทะเลมะริด

นายศุรอัฐกล่าวถึงการเตรียมพร้อมของภาคเอกชนว่า ได้มีการหารือกับนักลงทุนจาก จ.สมุทรสาคร ให้มาเปิดโรงงานแปรรูปใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยไม่ต้องขนส่งไปยังโรงงานที่สมุทรสาคร เพื่อรองรับวัตถุดิบที่มาจากเมียนมา ขณะที่นักลงทุนในประจวบคีรีขันธ์ก็มีความพร้อม เช่น การแปรรูปผลไม้ มะพร้าว สับปะรด ว่านหางจระเข้ อุตสาหกรรมเหล็ก ส่วนการท่องเที่ยวก็สามารถเที่ยวได้ทั้งจังหวัด หากมีการเปิดด่านจะทำให้จีพีพี (GPP) ของจังหวัดเพิ่มมากขึ้นจนแตะแสนล้านแน่นอน

“ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่มีความพร้อม ภาคเอกชนเมียนมาเองก็มีการผลักดันอยู่เช่นเดียวกัน เพื่อให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ทั้งการเร่งปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว และการขนส่งอาหารทะเลเข้ามาประเทศไทยที่มีมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาทต่อปี” นายศุรอัฐกล่าว

ด้านนายธีรยุทธ พิทักษ์สิทธิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า การยกระดับด่านสิงขรให้เป็นด่านถาวรถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมาก เพราะปัจจุบันการบรรทุกสินค้าจากฝั่งไทยสามารถวิ่งไปถึงแค่เมืองมูด่อง ก็ต้องย้ายของขึ้นรถบรรทุกเล็ก หากเป็นด่านถาวรและการก่อสร้างถนนในฝั่งเมียนมาแล้วเสร็จ ก็จะทำให้วัตถุดิบอาหารทะเลจากเมืองมะริดสามารถวิ่งเข้ามายัง จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นแหล่งค้าขาย และนำไปแปรรูปที่ จ.สมุทรสงคราม สมุทรสาคร แล้วเข้าสู่กรุงเทพฯเพื่อกระจายสินค้าต่อไป

จุดผ่อนปรนพิเศษ – ปัจจุบันด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นเพียงจุดผ่อนปรนพิเศษ ยังไม่ได้ยกระดับเป็นด่านถาวร เพราะติดปัญหาเขตแดน ขณะที่ฝั่งเมียนมาได้เปิดจุดผ่าน แดนถาวรมา 2 ปีแล้ว ซึ่งมีการค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างกันบริเวณชายแดน มูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 200-300 ล้านบาท/ปี


เมียนมาไม่ยอมรับเขตแดน

แหล่งข่าวจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถยกระดับด่านสิงขรจากจุดผ่อนปรนพิเศษ ให้เป็นจุดผ่านแดนถาวรได้ เนื่องจากหลักกฎหมายสากลทั่วไป หากจะเป็นจุดผ่านแดนถาวรต้องไม่มีปัญหาเส้นเขตแดน ซึ่งมีแนวทางแก้ไข คือ 1.การปักปันเขตแดนให้ชัดเจน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานมาก 2.หากไม่ปักปันเขตแดน ต้องมีการสำรวจภูมิประเทศด้วยวิธีเก็บรายละเอียดภูมิประเทศร่วม ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติได้สำรวจร่วมกันเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่ปี 2556 แต่ขั้นตอนสุดท้ายต้องได้รับการลงนามร่วมกันของคณะกรรมการเขตแดนร่วม (Thai-Myanmar Joint Boundary Commissio-JBC) ไทย-เมียนมา ซึ่งทางฝ่ายไทยมีความพร้อมในการลงนาม ขณะที่อีกฝ่ายยังไม่พร้อม ทำให้ยังไม่สามารถเดินหน้ายกระดับเป็นจุดผ่านแดนถาวรได้

“ทางออกในขณะนี้คือรวบรวมข้อมูลด้านความมั่นคง และสถานการณ์ในพื้นที่ต้องมีความสงบเรียบร้อย ไม่มีปัญหา และกำลังมีการจัดเก็บข้อมูลการค้าชายแดน 5-6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งข้อมูลที่ได้มีนัยว่ามูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยจะนำทั้ง 2 เรื่องนี้เสนอต่อคณะอนุกรรมการพิจารณาการเปิดจุดผ่านแดน สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) อีกครั้งหนึ่งเร็ว ๆ นี้”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ปัจจุบันจังหวัดประจวบฯมีความพร้อมมาก อาทิ อาคาร CIQ งบประมาณ 249 ล้านบาท สร้างเสร็จแล้ว ถนนขนาด 4 เลน นอกจากนี้ยังเตรียมพร้อมเส้นทางโลจิสติกส์ทางราง คือ จากด่านสิงขรไปถนนเพชรเกษมเพียง 1.5 กิโลเมตร ก็ถึงสถานีรถไฟหนองหิน ซึ่งมีการสำรวจเพื่อเป็นเครือข่ายทางรางไว้แล้ว และทางน้ำก็มีทั้งท่าเรือน้ำลึกคลองวาฬ และท่าเรือบางสะพาน ขณะที่ฝั่งเมียนมาสร้างถนนลาดยาง 2 เลน 180 กิโลเมตร ไปถึงมะริด ขณะนี้เหลืออีกเพียง 60 กิโลเมตร

หากเป็นจุดผ่านแดนถาวร สินค้าไทยที่จะทะลักไปเมียนมาจะมีมูลค่ามาก ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคที่เมียนมาเชื่อมั่นไทยว่ามีคุณภาพดีที่สุด และวัสดุก่อสร้าง ที่ขณะนี้ฝั่งเมียนมาอยู่ระหว่างการสร้างบ้านแปงเมือง ซึ่งการเดินทางไปมะริด จาก จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะสะดวกกว่าที่อื่นมาก โดยใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงครึ่งไปถึงมะริด และเพียง 1 ชั่วโมงถึงตะนาวศรี ซึ่งกำลังมีการสร้างโรงแรม คอนโดมิเนียมกันอย่างคึกคัก ตอนนี้ยังใช้การขนส่งวัสดุก่อสร้างจากย่างกุ้งเข้ามาใช้เวลา 1 วัน ขณะที่ฝั่งไทยจะได้รับประโยชน์จากการนำเข้าสินค้าจากเมียนมา คือ สินค้าประมง ที่สามารถนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้อีกมหาศาล


ปัจจุบันเมียนมาได้เปิดจุดผ่านแดนถาวรมา 2 ปีแล้ว ขณะที่ฝั่งไทยยังเป็นจุดผ่อนปรนพิเศษ ซึ่งแม้จะสามารถใช้บัตรผ่านแดนเข้าออก หรือนำเข้า-ส่งออกได้ตามปกติ ระหว่าง 2 ชาติ แต่บุคคลชาติที่ 3 ไม่สามารถทำได้ ดังนั้นหากยกระดับด่านสิงขรเป็นจุดผ่านแดนถาวรจะสร้างความเชื่อมั่นใหักับนักลงทุนประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นอีกมาก นอกจากนี้ การท่องเที่ยวก็จะตามมา เนื่องจากฝั่งเมียนมาทั้งตะนาวศรี และมะริด ยังมีบรรยากาศของประเทศไทยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว