ยุทธศาสตร์ฟื้นเศรษฐกิจ “ภูเก็ต” 6 อุตสาหกรรมต่อยอดท่องเที่ยว

หาดป่าตอง ภูเก็ต
Patong Beach, Phuket : File Photo By tourismthailand

ถึงวันนี้ (9 ก.ค. 63) ประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มา 45 วันแล้ว รัฐบาลไทยได้คลายล็อกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด เพื่อให้ธุรกิจต่าง ๆ กลับมาเปิดบริการได้เกือบปกติ ยกเว้นการเปิดน่านฟ้าระหว่างประเทศให้ต่างชาติบินเข้ามา อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจ ในพื้นที่หลายจังหวัดยังไม่ฟื้น

แม้กระทั่ง “เกาะภูเก็ต” แหล่งท่องเที่ยวอันซีนระดับโลก ที่เคยอาศัยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละกว่า 10 ล้านคน นักท่องเที่ยวไทย 3.9 ล้านคนต่อปี สร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้ประเทศเป็นอันดับ 3 ปีละกว่า 4 แสนล้านบาท

ระดมสมองกู้วิกฤต “ภูเก็ต”

ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาคนภูเก็ตตลอดห่วงโซ่อุปทานล้วนสร้างอาชีพและโกยรายได้เข้ากระเป๋าจากเม็ดเงินของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลักกว่า 97% เมื่อโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก รัฐบาลหลายประเทศ รวมถึงไทยประกาศปิดประเทศห้ามเดินทางเข้า-ออก ยกเว้นกรณีมีเที่ยวบินพิเศษรับคนของตัวเองกลับบ้าน ทำให้ “วันนี้ทั้งเกาะภูเก็ตยังนิ่งสนิท” มีรายได้เป็น 0 บาท ธุรกิจตั้งแต่ระดับรากหญ้าถึงมหาเศรษฐีหมื่นล้านเจ้าของโรงแรมหรู 5 ดาว 6 ดาว มีปัญหาไม่แตกต่างกัน12 องค์กรภาคธุรกิจในภูเก็ต อาทิ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต หอการค้าจังหวัดภูเก็ต สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ ฯลฯ จึงระดมสมองหาทางสร้างรายได้จากธุรกิจอื่น ๆ เพื่อความยั่งยืนในอนาคต ภายใต้โจทย์ที่ยึดการต่อยอดจากธุรกิจท่องเที่ยว นำทรัพยากรที่มีอยู่ไปสร้างมูลค่าเพิ่ม

ชู 9 ยุทธศาสตร์ฟื้นเศรษฐกิจ

ได้นำเสนอ “ร่าง 6 ยุทธศาสตร์ฟื้นฟูเศรษฐกิจภูเก็ต” เป็นเครื่องยนต์ใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นอกเหนือจากการท่องเที่ยว เตรียมเสนอ นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดภูเก็ต หรือ กรอ.จังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 2/2563 เมื่อเร็ว ๆ นี้

“เชิญพร กาญจนสายะ” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด เปิดเผยว่า 6 ยุทธศาสตร์ฟื้นฟูเศรษฐกิจภูเก็ต แบ่งเป็นอุตสาหกรรม 6 กลุ่ม ประกอบด้วยอุตสาหกรรมมารีน่า อุตสาหกรรมการศึกษา อุตสาหกรรม Health and Wellness อุตสาหกรรมส่งออกปลาทูน่า อุตสาหกรรมท้องถิ่นภูเก็ต Phuket Gastronomy และอุตสาหกรรม Spot and Events

ปลดล็อกอุตฯมารีน่า

1.อุตสาหกรรมมารีน่า ถูกกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อยู่ในยุทธศาสตร์กลุ่มอันดามัน 6 จังหวัด และยุทธศาสตร์ของจังหวัดภูเก็ตมา 2-3 ปีแต่ไม่คืบหน้า ทั้งที่ภูเก็ตมีมารีน่าระดับโลกที่เป็นของเอกชนอยู่ 4 ท่า เป็นของ อบจ.จังหวัดอยู่ 1 ท่า คือท่าเรืออ่าวฉลอง มีอู่ต่อเรือ อู่ซ่อมเรือขนาดเล็กกระจายอยู่ แต่ทั้งหมดนี้ยังมีข้อจำกัด จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปลดล็อกกฎหมายที่มีข้อย้อนแย้งกันเอง ทำให้การเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมมารีน่าไปไม่ได้

“เรามีเรือยอชต์เข้ามาในภูเก็ตระดับซูเปอร์ยอชต์เกิน 30 เมตร จะมาจอดซ่อมสี แต่การนำยานพาหนะเข้ามาในน่านน้ำไทย มีอายุไม่เกิน 6 เดือน ต้องนำเรือออก, วีซ่าของบุคลากรที่ติดมากับเรือครบ 6 เดือน คนต้องออกไปจากประเทศไทย แต่เรือลำใหญ่ ๆ หากนำมาขึ้นคานกว่าจะซ่อมเสร็จต้องใช้เวลา 9-12 เดือน”

ห่วงโซ่อุตสาหกรรมมารีน่ามีมูลค่าน่าสนใจ เรือขนาดใหญ่ 1 ลำเข้ามาจอด มาท่องเที่ยวไปถึงชุมชน เชื่อมโยง 6 จังหวัดอันดามันที่มีเขตติดต่อทางทะเล คือ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง สตูล ระนอง จากการศึกษาเรือ 1 ลำจะซื้ออาหารขึ้นเรือ 1 ล้านบาท เติมน้ำมันครั้งละ 2 ล้านบาท จะส่งเสริมเงินให้กับภูเก็ตปีละ 21,600 ล้านบาท

ฮับการศึกษา-Health and Wellness

2.อุตสาหกรรมการศึกษา ปัจจุบันภูเก็ตมีโรงเรียนเอกชนนานาชาติ 21 แห่ง เจ้าของมีทั้งคนไทยและต่างชาติ แบ่งสัดส่วนเป็นนักเรียนต่างชาติ 50% ลูกครึ่งไทย-ต่างชาติ 30% และไทย 20%

ถ้า 1 ครอบครัวเลือกนำลูกมาเรียนภูเก็ตตั้งแต่ระดับประถมจนจบมัธยมปลาย เท่ากับมี 1 ครอบครัวย้ายมา ธุรกิจอสังหาฯภูเก็ตได้อานิสงส์ จะมีนักท่องเที่ยวที่อยู่ยาว 13 ปี สร้างรายได้ปีละ 45,600 ล้านบาท โดยให้ภาครัฐดึงโรงเรียนนานาชาติแบรนด์ดังระดับโลกเข้ามา และปลดล็อกกฎหมายที่เป็นอุปสรรค หรือให้ส่งเสริมการลงทุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้สิทธิประโยชน์ภาษี 6-8 ปี

3.อุตสาหกรรม Health and Wellness ตอนนี้โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตได้ยื่นโครงการ Medical Plaza นี้ไปที่กระทรวงสาธารณสุข ของบฯ 2,000 ล้านบาทดำเนินโครงการ โดยขอใช้ที่ดินกรมธนารักษ์ที่ “หัวเกาะ” 140 ไร่ กระทรวงสาธารณสุขจะให้เฟสแรก1,200 ล้านบาทก่อน โครงการมีครบทั้งดูแลสุขภาพด้านการแพทย์ แยกเฉพาะทาง รักษา ฟื้นฟู ดูแลผู้สูงอายุ ทรีตเมนท์ที่เป็น Wellness สปา สร้างรายได้หมื่นล้านบาทต่อปี

อุตสาหกรรมอาหาร-ทูน่า

4.อุตสาหกรรมอาหารท้องถิ่นภูเก็ต Phuket Gastronomy ยูเนสโกยกระดับให้ภูเก็ตเป็นเมืองระดับโลกด้าน Gastronomy มาเป็นปีที่ 4 เรามองว่าภูเก็ตมีปัญหาในเรื่องการผลิต เรานำเข้าวัตถุดิบอาหารทุกอย่าง เรามีแต่ภูมิปัญญาด้านอาหารและวัฒนธรรมอาหาร จะเชื่อมโยงและสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น สับปะรด GI ฟาร์มหอยเป๋าฮื้อคุณภาพดีมาก กุ้งมังกร 7 สีเป็นของภูเก็ต ฯลฯ

5.อุตสาหกรรมทูน่า เคยเป็นอุตสาหกรรมรุ่งเรืองมาก ภูเก็ต เคยขึ้นที่ท่าเทียบเรือน้ำลึก เพิ่งหายไป 5 ปีที่แล้ว เนื่องจาก IUU ซึ่งภูเก็ตมีอุตสาหกรรมแปรรูปทูน่าใหญ่อยู่ 5 โรง ตอนนี้เหลืออยู่ 2 โรง เพราะไม่มีเรือมาส่งวัตถุดิบปลาทูน่ามาจอดที่ท่าในอดีตอุตฯ ทูน่าเคยทำเงินให้ภูเก็ตจำนวนมาก แต่ไทยไม่มีเรือลากทูน่าเป็นของไต้หวันทั้งหมด เรือไต้หวัน 10 ลำ ผิดกฎหมายอียู 7 ลำ ทำให้เรือหายไปหมด

บูม “สปอร์ตแอนด์อีเวนต์”

6.อุตสาหกรรมสปอร์ตแอนด์อีเวนต์ ภูเก็ตมีธุรกิจอีเวนต์จำนวนมาก แต่บางครั้งยังติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมายต่าง ๆ ในการจัดงานพรีเวนดิ้งมาก ภาครัฐเพียงแต่ปลดล็อกกฎหมายแล้วสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่เหลือเอกชนจะดูแลเอง

เป้าหมายที่เราจะทำวอลุ่มที่หายไปกลับคืนมา คิดว่าถ้ารัฐบาลซื้อไอเดียทั้งหมด ปี 2565 เราสามารถทำเงินได้ 275,000 ล้านบาทโดยจังหวัดตั้งคณะอนุกรรมการ 6 ชุด มีตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนร่วมพิจารณา เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้เร็วที่สุด

ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 สภาพเศรษฐกิจอย่างปัจจุบัน คาดว่าหลัง ครม.อนุมัติตามแผนทุกอย่าง ภูเก็ตจะได้นักท่องเที่ยวกลับมา 30% ต่างชาติ 3 ล้านคน นักท่องเที่ยวไทย 1 ล้านคน รวม 4 ล้านคน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกลับมากว่า 2 แสนล้านบาท จากจำนวนคนหายไป 70% แต่รายได้กลับเข้ามา 50% เพราะเป็นการท่องเที่ยวทำมูลค่าเพิ่มขึ้นมา นักท่องเที่ยวมีคุณภาพ มีเงินมาจับจ่าย