YEC โคราชหนุนทางรอดธุรกิจหลังโควิด ทุ่มปรับ Airplane park สู่ศูนย์เรียนรู้เกษตร

ผ่านช่วงปลดล็อกมาตรการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้มข้น หลายพื้นที่ในต่างจังหวัดเริ่มคึกคัก ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวต่างเริ่มเปิดรับคนเดินทางสถานการณ์ทั่วไปดูเหมือนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นได้สร้างความเสียหายไว้ไม่น้อย ดังตัวอย่างของจังหวัดนครราชสีมาหัวเมืองหลักซึ่งเป็นประตูสู่ภาคอีสานเรียกได้ว่า ยังอยู่ในวิกฤตหนักพอสมควร


Transform ทางรอดธุรกิจ

“จิรพิสิษฐ์ รุจร์เจริญ” ประธาน YEC9 นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 เริ่มจากเหตุยิงกราดก่อนถูกซ้ำด้วยโควิด-19 หลายธุรกิจอย่าง co-living space รวมถึงร้านอาหาร โรงแรม มีภาพการชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัดเจน รวมถึงโรงงานภายในจังหวัด เนื่องจากบางธุรกิจโดนสั่งปิดทำให้ไม่มีรายได้ หรือมีแต่ไม่สูงมากนัก หลายธุรกิจยอดขายลดฮวบลง 70-80% และในมุมมองของนักธุรกิจรุ่นใหม่สิ่งที่สามารถทำได้ตอนนี้คือการปรับตัวองค์กรของตัวเองให้ดีขึ้นจากเดิม

“สำหรับผมได้พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้กับสมาชิก YEC โคราชแล้ว ว่าเราควรมีการเปลี่ยนแปลง (transformation) องค์กรของตัวเองให้ดีขึ้นจากเดิม ในสถานการณ์อย่างนี้เราสามารถแตกไลน์สินค้าหรือบริการอื่น ๆ ได้หรือไม่ หรือทำอะไรใหม่ที่ไม่เคยทำคงต้องลองทำ เมื่อทำแล้วไปได้อาจกลายเป็นโปรดักต์ใหม่ของธุรกิจเราไปเลย ต้องดูสภาพธุรกิจของตัวเองว่าจะสามารถปรับได้หรือไม่

ก่อนหน้านี้หลายคนคงเคยได้ยินมาตลอดเรื่องการ transformation แต่ยังไม่ได้ตระหนักถึงการปรับตัวเท่าไหร่ จนวิกฤตครั้งนี้ทำให้เราต้องเปลี่ยนองค์กรให้เร็วขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญมาก ๆ เราคงต้องวางกลยุทธ์ระยะสั้นมากขึ้น เช่น 3 เดือน 6 เดือน หรืออาจเป็นรายเดือนด้วยซ้ำ ว่าจะไปทิศทางไหน ฉะนั้นก่อนที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจภาพรวม เราต้องรีบฟื้นฟูกิจการภายในธุรกิจของตัวเองก่อน เมื่อเห็นภาพองค์กรชัดขึ้น ธุรกิจเริ่มแข็งแรงขึ้น ภาพรวมในเศรษฐกิจจะชัดขึ้นตามไป”

โดยการทำงานของกลุ่ม YEC จังหวัดนครราชสีมาจะมีการประสานงานทั้งกับภาครัฐและเอกชนส่งเสริมกิจกรรมหรือแนวทางเพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการเรียนรู้การเพิ่มทักษะใหม่ที่จำเป็น (reskill) และการเสริมทักษะใหม่ (upskill) ให้จังหวัดแข็งแรงพอที่จะผ่านพ้นวิกฤติต่าง ๆ ไปได้

แต่คงต้องใช้เวลาสักระยะ เพราะตอนนี้ประเมินตัวเลขหรือมองประมาณการทางเศรษฐกิจไม่ได้เลย และต้องดูภาพรวมหลายอย่างประกอบกัน โดยเฉพาะนโยบายส่วนกลางจากภาครัฐ โครงการสนับสนุนท่องเที่ยว หรือฟื้นฟู เพื่อนำเงินมาหมุนเวียนในระบบให้มากที่สุด ซึ่งมีผลต่อการทำธุรกิจของผู้ประกอบการมาก ฉะนั้นโอกาสฟื้นตัวจะเร็วหรือช้าอยู่ที่นโยบายของภาครัฐก็เป็นปัจจัยสำคัญ

“ในมุมมองผม การฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจของโคราชอาจจะใช้เวลาพักใหญ่ อาจจะมีธุรกิจเกิดใหม่หรืออาจมีธุรกิจที่ไม่เคยมีมาก่อนด้วย และในฐานะประธาน YEC รุ่น 9 อยากจะพัฒนาทั้งธุรกิจสตาร์ตอัพในพื้นที่และการเสริมสกิลต่าง ๆ ให้กลุ่มธุรกิจตั้งแต่ SMEs ถ้าเราเริ่มแข็งแรง เราจึงจะไปช่วยคนอื่นต่อได้ และเมื่อระดับฐานรากเริ่มแข็งแรง มีการจับจ่ายใช้สอย มีเงินเริ่มหมุนเวียนตั้งแต่ร้านค้าข้างทางไปจนถึงโรงแรมขนาดใหญ่ เกิดการซื้อขาย การจ้างงาน เศรษฐกิจภาพรวมของจังหวัดก็จะดีขึ้น เพราะคนโคราชค่อนข้างมีศักยภาพ

ส่วนธุรกิจเก่าที่ไม่ปรับตัวอาจจะล้มหายไปในวิกฤตครั้งนี้ อย่างธุรกิจของผมที่ทำเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (health tech) พอเกิดวิกฤตผมให้ความสำคัญกับข้อมูล (data) มากขึ้น เพราะมันสามารถบอกได้ว่าลูกค้ามาจากช่องทางไหน จะปรับเปลี่ยนองค์กรไปอย่างไร ออนไลน์หรือออฟไลน์ ลูกค้าเราอยู่ช่องทางไหน แล้วเราจะให้ลูกค้าเจอได้อย่างไร พอจับทางถูกปรากฏว่าผลประกอบการดีขึ้นเป็น 2 เท่าตัวครับ”

ชู Airplane Park ศูนย์เรียนรู้

นอกจากนี้ “จิรพิสิษฐ์” บอกว่า ยังมีโครงการพัฒนาโคราชหลังช่วงโควิดอีกหนึ่งแห่งที่น่าจะช่วยฟื้นกระแสของการทำธุรกิจให้กลับมาได้บ้างคือโครงการ “Airplane Park Korat” ที่ผมร่วมกับพาร์ตเนอร์ซึ่งเป็นนักธุรกิจท้องถิ่นผลักดันให้เกิดเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่สำหรับโคราช บนเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณสวนริมใหม่ ทางเข้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ประตู 1 เชื่อมประตู 2 โดยบริเวณดังกล่าวได้รวมการลงทุนทั้งอาหารสุขภาพ แปลงเกษตรอินทรีย์ บ่อเลี้ยงปลา ศูนย์การเรียนรู้ ห้องประชุม ดำเนินการไปแล้วกว่า 70%

เป็นการผลักดันธุรกิจตั้งแต่ระดับฐานรากขึ้นไป เช่น ส่งเสริมสินค้าเกษตรชุมชน สินค้าโอท็อป (OTOP) ในเร็ว ๆ นี้กำลังหารือร่วมกับเกษตรจังหวัดเพื่อวางแผนทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ในอนาคต ชูจุดเด่นเรื่องเกษตรปรับปรุงพัฒนาระบบ smart farming ไปจนถึงคอมมิวนิตี้มอลล์ (community mall) มีฟิตเนส ร้านอาหารสุขภาพ โรงแรมขนาดเล็ก เป็นต้น ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนของผู้ประกอบการธุรกิจภายในจังหวัดซึ่งอยู่ระหว่างพูดคุยกัน

“พื้นที่ตรงนี้มีศักยภาพมาก ผมจึงอยากจะพัฒนา ตอนนี้มีนักลงทุนเริ่มสนใจเข้ามาพูดคุยบ้างแล้ว เรียกได้ว่าตอบโจทย์คนทุกเพศทุกวัยเพื่อให้เป็นแลนด์มาร์กของคนโคราชจริง ๆ โดยมีเครื่องบินโบอิ้ง 747 ซึ่งปลดประจำการมานานกว่า 10 ปี เป็นตัวชูเอกลักษณ์เด่นชัด สามารถเปิดเป็นห้องประชุมได้ ให้ผู้คนขึ้นชมได้ โดยมีเครื่องฝึกบินจำลอง (flight simulator) เสมือนจริงให้ทดลองขับ เพื่อต่อยอดถึงอาชีพกัปตันในอนาคตด้วย เรียกได้ว่าเป็นคอมมิวนิตี้มอลล์ที่ครบจริง ๆ”


ปัจจุบัน Airplane Park Korat มีผู้เข้าชมหมุนเวียนตลอดนับพันคนต่อเดือน หากในอนาคตอีก 3 ปี พื้นที่ถูกพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ 100% คาดว่าจะมีผู้เข้าชมหรือประชาชนเข้ามาเยือนเพิ่มขึ้นประมาณ 30-40%