แจ้งเกิด “ภูเก็ตสมาร์ทซิตี้” เฟส1 ติดตั้งวงจรปิด-ไวไฟ-ริสต์แบนด์

ภูเก็ตสมาร์ทซิตี้ รัฐลงทุนไปแล้ว 400 ล้าน ประเดิมตั้งศูนย์ปฏิบัติการที่สำนักงาน ปภ.เขต 18 ติดกล้องวงจรปิดซีซีทีวีเชื่อมโยงสัญญาณภาพจากสถานีตำรวจ-อปท. 8 แห่ง ตรวจจับใบหน้าบุคคล ป้ายทะเบียนรถ วางโครงข่ายไวไฟ 1,000 จุดเสร็จภายในสิงหาคมนี้ พร้อมทำริสต์แบนด์ไอทีให้นักท่องเที่ยวใส่ขณะลงเรือเที่ยว เผยแจ้งเกิดสตาร์ตอัพรายใหม่ 25 ราย

นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ภูเก็ตมียุทธศาสตร์การพัฒนาปี 2561-2564 เป็นเมืองท่องเที่ยวนานาชาติ โดยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 13 ล้านคนต่อปี ทำรายได้ให้ประเทศกว่า 3 แสนล้านบาท นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากจีน และรัสเซีย อย่างไรก็ตาม การพัฒนาภูเก็ตจะต้องนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคง เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0 เพิ่มมาตรฐานเมือง ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการภูเก็ตสมาร์ทซิตี้

โดยขณะนี้ได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการที่สำนักงาน ปภ.เขต 18 มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดซีซีทีวี เชื่อมโยงสัญญาณภาพจากสถานีตำรวจภูธร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 8 แห่ง สามารถตรวจจับใบหน้าบุคคล ป้ายทะเบียนรถ และติดตั้งระบบฟรีไวไฟ 240 จุด ที่บริเวณซอยบางลาป่าตองและในพื้นที่สะพานหิน จากจำนวนทั้งหมดกว่า 1,000 จุดทั่วภูเก็ต

“ในอนาคตจะนำเทคโนโลยีเข้ามาดูแลเรื่องความปลอดภัย โดยใช้กล้องซีซีทีวีเชื่อมโยงกล้องทุกตัวกับสถานีตำรวจ และ อปท.สามารถแจ้งเตือนภัยด้วยระบบสมาร์ทโฟน นอกจากนั้นจะมีการติดตั้งแอปพลิเคชั่นให้ข้อมูลนักท่องเที่ยว และจัดทำริสต์แบนด์ไอทีให้นักท่องเที่ยวสวมใส่ขณะลงเรือท่องเที่ยว เพื่อช่วยติดตามตัวเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือสูญหาย” ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตกล่าว

มารีน่าฮับ – นอกจากตั้งธงพัฒนาจังหวัดภูเก็ตให้เป็นเมืองสมาร์ทซิตี้ในด้านต่าง ๆแล้ว ทางจังหวัดยังได้ตั้งเป้าหมายเป็นมารีน่าฮับอีกด้วย โดยมีนักท่องเที่ยวมาเยือนภูเก็ตมากถึงปีละ 13 ล้านคน ทำรายได้เข้าประเทศกว่า 3 แสนล้านบาท

ด้านนายประชา อัศวธีระ ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลภูเก็ต กล่าวว่า โครงการภูเก็ตสมาร์ทซิตี้จะเริ่มเห็นผลทั้งหมดในเฟสแรกภายในเดือนกันยายน 2560 สำหรับความคืบหน้าด้านความปลอดภัยสมาร์ทเซฟตี้ ขณะนี้ได้รวมระบบกล้องเข้ามาที่ศูนย์ ปภ.เขต 18 ภูเก็ตได้แล้ว 900 กล้อง จากจำนวน 1,200 กล้อง และยังมีส่วนต่อขยายอีก 300 กล้อง

ขณะที่ความปลอดภัยทางเรือได้เริ่มทดลองใช้ริสต์แบนด์สำหรับนักท่องเที่ยวที่ลงเรือ ตอนนี้อยู่ระหว่างเจรจาหาผู้ลงทุนให้สามารถทำได้ครอบคลุมจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลงเรือทั้งหมด ส่วนการวางโครงข่ายไวไฟจะสมบูรณ์ทั้งหมด 1,000 จุดภายในเดือนสิงหาคมนี้

สำหรับด้านสิ่งแวดล้อม ทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ได้วางระบบเซ็นเซอร์ตามแนวคลองบางใหญ่ 8 กิโลเมตร รวม 14 จุด เพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำ ระดับน้ำ ปริมาณฝนตก อุณหภูมิ คุณภาพอากาศ และใช้ข้อมูลเพื่อป้องกันภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำท่วมได้ด้วย

ส่วนด้านเศรษฐกิจก็มีการสร้างสตาร์ตอัพรายใหม่ขึ้นมาแล้ว ประมาณ 25 ราย มูลค่าการลงทุนราว 130 ล้านบาท ซึ่งจะเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในภูเก็ตมากขึ้น โดยดีป้าตั้งเป้าให้เป็นอุตสาหกรรมที่สองรองจากภาคการท่องเที่ยวของภูเก็ต

“มูลค่าการลงทุนสมาร์ทซิตี้ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านบาท เป็นการลงทุนจากภาครัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อต่อยอดดึงดูดการลงทุนจากสมาร์ทซิตี้มากขึ้น ซึ่งท้องถิ่นมีความสำคัญมากในการร่วมลงทุนพัฒนาเมืองภูเก็ต” นายประชากล่าว

ด้านนายก้าน ประชุมพรรณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง กล่าวว่า ภูเก็ตมีความเหมาะสมในการเป็นเมืองต้นแบบสมาร์ทซิตี้ มีขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่เกินไป และมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากถึง 70% กิจการส่วนใหญ่ก็เป็นของชาวต่างชาติซึ่งสามารถดึงชาวต่างชาติที่ชำนาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาจัดตั้งบริษัทหรือเปิดสาขาที่ภูเก็ต