รฟท.ประชาพิจารณ์รถไฟความเร็วสูงช่วงโคราช-หนองคาย ครั้งที่ 1

แฟ้มภาพ

การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดเวทีฟังเสียงประชาชน 4 จังหวัด ภาคอีสานศึกษาแนวเส้นทางโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคายระยะทางรวม 356 กิโลเมตร ประกอบด้วยสถานีรถไฟ 5 สถานี สถานีขนถ่ายสินค้า 1 แห่งในอนาคตเตรียมพัฒนาเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ เชื่อมต่อการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน สปป. ลาว และจีน

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 ณ ห้องสีมาแกรนด์บอลรูม โรงแรมสีมาธานีจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมาหนองคาย) เพื่อนำเสนอสาระสำคัญวัตถุประสงค์ ขอบเขตการดำเนินการแผนการดำเนินโครงการ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับของโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชนเข้าร่วมการประชุม

นายสุวัฒน์ กันภูมิ หัวหน้าแผนกบริหารงานทั่วไปการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท. อยู่ระหว่างดำเนินโครงการศึกษา และออกแบบรายละเอียดงานโยธารถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย มีเส้นทางครอบคลุม 4 จังหวัด คือ จ.นครราชสีมา จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี และ จ.หนองคาย เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทางที่มีความรวดเร็วและความปลอดภัยของประชาชน รวมทั้งเกิดการการพัฒนาเมืองตามแนวเส้นทางให้เป็นศูนย์กลางความเจริญทางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาค

นอกจากนั้น เส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมต่อการค้าการลงทุนของไทยกับ สปป. ลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศในขณะดำเนินการก่อสร้างโครงการ ยังสนับสนุนการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่โครงการดังกล่าว มีระยะทางประมาณ 356 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟจำนวน 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุตรธานี สถานีหนองคาย และมีสถานีขนถ่ายสินค้า 1 แห่ง บริเวณสถานีรถไฟนาทา จ.หนองคาย มีศูนย์ซ่อมบำรุงที่เชียงรากน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และศูนย์ซ่อมบำรุงเบาที่นาทา จ.หนองคาย พร้อมตัวหน่วยซ่อมบำรุงทาง 4 แห่ง ที่สถานีบ้านมะค่า จ.นครราชสีมา สถานีหนองเม็ก จ.ขอนแก่น สถานีโนนสะอาด จ.อุดรธานี และสถานีนาทา จ.หนองคาย โดยออกแบบขนาดรางเป็น 1.435 เมตร มีจุดตัดทางรถไฟ 241 แห่งระยะเวลาการเดินทางจากกรุงเทพมหานคร ถึงหนองคาย 3 ชั่วโมง 15 นาที ค่าเดินทางประมาณเที่ยวละ 1,170 บาท ขนาด 8 ตู้ต่อขบวน ความจุ 600 คนต่อขบวน

ส่วนรูปแบบแนวคิดการออกแบบสถานีมีแผนการดำเนินงานออกแบบให้มีการผสมผสาน แสดงถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นภาคอีสานและให้สอดคล้องกับสถานีรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา และสถานีรถไฟทางคู่ปัจจุบัน

ทั้งนี้การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย จะต้องออกแบบให้สอดคล้องกันโครงการระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ซึ่งออกแบบตามมาตรฐานระบบรถไฟความเร็วสูงของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งอาจทำให้รายละเอียดของโครงการระยะที่ 2 เปลี่ยนแปลงไปจากที่นำเสนอไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่สำนักงาน นโยบายและแผนการขนส่ง และจราจร (สนข.) ได้จัดทำไว้จึงจำเป็นต้องทบทวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไปพร้อมทบทวนมาตรการป้องกัน และแก้ไขสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจัดให้มีการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียตามกระบวนการมีส่วนร่วม

ทั้งนี้ รฟท.ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการการมีส่วนร่วม โดยได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นในทุกจังหวัดตามแนวเส้นทางโครงการโดยวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 จะจัดการประชุมที่ จ.ขอนแก่น วันที่ 15 กรกฎาคม 2553 จะจัดการประชุมที่ จ.อุดรธานี และวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 จะจัดการประชุมที่ จ.หนองคาย จากนั้นจะมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีก 1 ครั้ง เพื่อนำเสนอผลการศึกษาโครงการฯ ในขั้นตอนต่อไปให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ