“จรูญศักดิ์ ศรีโภชน์สมบูรณ์” หอการค้าอยุธยา ห่วงตกงาน 1.7 แสนคน

สัมภาษณ์

พระนครศรีอยุธยา เมืองกรุงเก่า ถือเป็นจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดมีมูลค่าสูงติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศ หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจของจังหวัดกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “จรูญศักดิ์ ศรีโภชน์สมบูรณ์” ประธานหอการค้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถึงความกังวลเกี่ยวกับมาตรการเยียวยา รวมถึงแผนการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัด

เสี่ยงตกงาน 170,000 คน

“จรูญศักดิ์” บอกว่า มีความกังวลในเรื่องมาตรการเยียวยาของภาครัฐที่สิ้นสุดลงไปเมื่อเดือนมิถุนายน และโรงงานที่มีการปิดกิจการชั่วคราว เพราะตอนนี้ตัวเลขพนักงานตกงานชั่วคราวที่ยื่นขอรับสิทธิประกันสังคมในจังหวัด มีประมาณ 150,000-170,000 คน ซึ่งโดยปกติในระบบประกันสังคมมีผู้ประกันตนอยู่ประมาณ 370,000 คน เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ ที่หยุดไลน์การผลิตไปหรือหยุดกิจการชั่วคราวประมาณ 2-3 เดือน ซึ่งโรงงานส่วนใหญ่เป็นโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ และถ้าเปิดโรงงานมาแล้วไม่มีออร์เดอร์จะส่งผลกระทบกับการผลิต สิ่งที่กลัวคือการปลดพนักงาน หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมาจะพบว่ามีผู้ประกันตนหายไปจากระบบประมาณ 30-40%

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสถาบันการเงินที่มีการพักชำระหนี้ 6 เดือน และเมื่อครบ 6 เดือนแล้วแต่เศรษฐกิจยังมีการชะลอตัวอยู่ ทางหอการค้ากับสภาอุตสาหกรรมจึงหารือกันว่าจะช่วยเหลืออย่างไร คาดว่าจะมีการประชุมเร็ว ๆ นี้ อยากให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องของแต่ละโรงงานด้วย

จรูญศักดิ์ ศรีโภชน์สมบูรณ์ ประธานหอการค้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ผุดไอเดียฟื้นเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันทางหอการค้าได้หารือกับทางสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว สภาอุตสาหกรรม และชมรมธนาคาร คิดโปรเจ็กต์จัดงานเอ็กซ์โปขึ้น โดยให้ผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามามีส่วนร่วม ภายในงานจะมีการแบ่งเป็นโซน เช่น โซนส่งเสริมสินค้า OTOP โซนท่องเที่ยวอุตสาหกรรม เป็นต้น คาดว่าจะสามารถกระตุ้นให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าและกระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยตรง ตอนนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อให้มีหน่วยงานที่เข้ามารับผิดชอบงบประมาณที่จะนำมาดำเนินโครงการ อาจจะมีทั้งส่วนของหน่วยงานพาณิชย์จังหวัด พัฒนาชุมชน และท่องเที่ยวและกีฬา เป็นต้น และจะมีการพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ต่อไป

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเขียนเสนอถึงรัฐบาล 300 กว่าโครงการ คิดเป็นงบประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อขอใช้เงิน 4 แสนล้านที่จะนำมาทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ส่วนใหญ่เป็นโครงการเดิมที่นำเสนอไปแล้วแต่ไม่ผ่าน เช่น สร้างถนน ทำสะพาน เป็นต้น และคาดว่าน่าจะผ่านแค่บางส่วน

“อย่างไรก็ตาม หากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ผลจริง ๆ อยากเสนอให้ทำโครงการงบประมาณ 5-10 ล้านบาท จะสามารถกระตุ้นได้เร็วกว่า เช่น ทางการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเสนอโครงการประมาณ 10 โครงการ เป็นการจัดกิจกรรมเดือนเว้นเดือน รวมถึงการจัดงานวิ่ง อาทิ โครงการ “อยุธยา ไนท์รันนิ่ง” งานวิ่งกลางคืนเพื่อส่งเสริมทั้งเรื่องของสุขภาพและการท่องเที่ยวกลางคืน สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการโรงแรมและหอพักได้ ซึ่งเราก็มองว่าหากมีกิจกรรมนี้ประชาชนที่มาร่วมงานส่วนใหญ่ต้องพักค้างคืน และทราบมาว่าโครงการดังกล่าว ทางการท่องเที่ยวและกีฬา มีความสนใจอยากนำโครงการนี้ไปดำเนินการต่อ โดยทางหอการค้าได้พูดคุยกับทางการท่องเที่ยวและกีฬาให้ยื่นโครงการดังกล่าวไปในงบประมาณ 4 แสนล้านด้วย ตอนนี้หอการค้าพร้อมช่วยเหลือทางจังหวัดเต็มที่ รวมถึงได้มีการเตรียมรูปแบบและเส้นทางการจัดกิจกรรมไว้หมดแล้ว”

เตรียมชง “อารมณ์ดี มีความสุข”

“จรูญศักดิ์” เล่าว่า หอการค้าจังหวัดมีการประชุมภายในรวมถึงประชุมกับทางหอการค้าไทย มีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องมาตรการประมาณ 5-6 ข้อที่ต้องพยายามกลั่นกรองและอยากเสนอให้รัฐบาลปรับตัว ทั้งด้านการท่องเที่ยว ที่ต้องปรับเงื่อนไขหรือข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายตามแนวคิดของภาคเอกชน โดยปัจจุบันหอการค้าไทยมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เช่น เรื่องการยกเว้นภาษี มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีการซ่อมแซมโรงแรม และการจัดอบรม อีกทั้งยังมีโปรเจ็กต์สร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการรักษาและดูแลสุขภาพของเอเชีย โดยพัฒนาพื้นที่ royal coast แนวทางการขับเคลื่อน wellness tourism มีชื่อโครงการว่า “อารมณ์ดี มีความสุข”

ประกอบไปด้วย 1.กินดี คือ อาหารคุณภาพ สะอาด อาหารมีประโยชน์ 2.อยู่ดี คือ โรงแรมหรือโฮมสเตย์ที่ได้มาตรฐาน wellness & green 3.ออกกำลังกายดี เช่น การเล่นกีฬา ดำน้ำ ปีนเขา ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัด โดยจะมีจังหวัดนำร่อง คือ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร คาดว่าอีก 2-3 เดือน น่าจะเอาโปรเจ็กต์นี้กระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งทางภาครัฐขานรับก็ต้องให้ทาง ททท.เข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อกระจายการประชาสัมพันธ์

คลายล็อกท่องเที่ยวเริ่มคึกคัก

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีรายได้เศรษฐกิจผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GDP) อยู่ที่อันดับ 4-5 ของประเทศไทย แบ่งออกเป็นด้านภาคอุตสาหกรรม 88% ด้านการค้าและการลงทุน 5% ด้านท่องเที่ยว 5% ซึ่งหลังจากมีการคลายล็อกมาตรการต่าง ๆ สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวก็ดีขึ้น โดยเฉพาะช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ต่ำกว่า 50% สำหรับมาตรการเที่ยวปันสุขของรัฐบาลคาดว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ส่วนหนึ่ง เพราะจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเดินทางได้สะดวก เป็นตัวเลือกที่คนจะเดินทางมาท่องเที่ยวและจัดสัมมนา และก่อนหน้านี้มาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ก็มีสะพัดประมาณ 1,000 ล้านบาท อยู่อันดับที่ 5 ของประเทศ ถือว่าได้ผลตอบรับที่ดีมาก


“ในปี 2561 จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีนักท่องเที่ยวเข้ามา 6 ล้านกว่าคน ปี 2562 ประมาณ 8.7 ล้านคน และคาดว่าปี 2563 จะขยับขึ้นมาอีก พอเจอการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส-19 คาดว่าตัวเลขน่าจะลดลงเยอะ แต่ตอนนี้การท่องเที่ยวในจังหวัดเริ่มกลับมาคึกคัก สังเกตได้ว่ารถเริ่มติด อาจจะเป็นเพราะว่าอยุธยาอยู่ให้กับกรุงเทพฯ สามารถมาเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับได้ ขณะที่ภาพของการพักค้างคืนยังมีน้อยมาก คาดว่าหากสถานการณ์คลี่คลายลง ทางการท่องเที่ยวและกีฬาก็ได้เตรียมมาตรการเพื่อรองรับแล้วในช่วงเดือนตุลาคมนี้ เป็นช่วงวันชาติจีน และถ้ารัฐบาลเปิดประเทศน่าจะมีนักท่องเที่ยวจากประเทศต่าง ๆ เข้ามาท่องเที่ยวมากพอสมควร”