“พิชญา พงษ์ชีพ” CEO เกาะกูดพาราไดซ์บีช รีสอร์ท ลุ้นเปิดน่านฟ้า-ต่างชาติบุ๊กกิ้ง Q4

สัมภาษณ์

จ.ตราด เป็น 1 ใน 9 จังหวัดที่ไม่พบเชื้อโควิด-19 แต่ผลกระทบจากธุรกิจท่องเที่ยวรุนแรงไม่ต่างกับจังหวัดอื่น ๆ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “พิชญา พงษ์ชีพ” กรรมการผู้จัดการ “เกาะกูดพาราไดซ์บีช รีสอร์ท” อ.เกาะกูด จ.ตราด และอุปนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จ.ตราด ซึ่งเป็นหลานปู่ “ลุงดำ น้ำหยด หรือจรวย พงษ์ชีพ” คนไทยตัวอย่างปี 2533 ที่คิดระบบน้ำหยดช่วยเกษตรกรจนโด่งดัง

ทายาทครอบครัวลุงดำได้ขยายธุรกิจโรงแรมที่เกาะช้างเป็นรุ่นแรก ๆ คือ “เกาะช้างพาราไดซ์” และปี 2562 เปิด “เกาะช้างพาราไดซ์ฮิล” เพิ่มอีกแห่ง ส่วน “เกาะกูดพาราไดซ์บีช รีสอร์ท” เปิดเมื่อปี 2560 โดยพิชญาจะมาบอกเล่าถึงผลกระทบ การปรับตัวในช่วงภาวะวิกฤตโควิด-19 สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวแบบ “new normal”

พิชญาเกริ่นให้ฟังถึงการก้าวเข้าสู่ธุรกิจนี้ว่า หลังเรียนจบปริญญาโทด้านการโรงแรมจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ ไปช่วยทำงานที่โรงแรม “เกาะช้างพาราไดซ์” เหมือนได้ไปฝึกงาน เมื่อคุณพ่อเริ่มไปก่อสร้าง “เกาะกูดพาราไดซ์บีช รีสอร์ท” ที่เกาะกูด จึงเลือกตัดสินใจเป็นผู้บริหารเอง แรก ๆ มีน้องชายที่จบการโรงแรมจากออสเตรเลียมาช่วย กว่าจะลงตัวมีผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการที่เป็นชาวต่างชาติบริหารในทุกวันนี้ไม่ง่ายเลยและสภาพเกาะกูดต่างกับเกาะช้างมาก โดยเฉพาะเรื่องของความสะดวกในการเดินทาง

เริ่มปีแรกจาก 29 ห้อง และปีที่ 2 เพิ่มเป็น 70 ห้อง มีการทำการตลาดกับประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย และลูกค้าแถบยุโรปให้การตอบรับดีมาก มียอดจองข้ามปี ส่วนใหญ่โรงแรมบนเกาะกูดจะปิดหน้าโลว์ซีซั่น แต่เกาะกูดพาราไดซ์บีช รีสอร์ท เปิดตลอดปี

แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ไม่คิดมาก่อนว่าสถานการณ์จะรุนแรงมาก ยิ่งระยะแรกภาครัฐไม่ได้เงินประกันสังคม เพราะจังหวัดไม่มีคำสั่งปิดโรงแรม แต่จังหวัดประกาศล็อกดาวน์ โรงแรมที่ไม่ปิดก็เสมือนปิดยิ่งแย่หนัก เครียดกันมากทุก ๆ โรงแรม เพราะค่าใช้จ่ายหลัก คือพนักงาน ช่วงปิดลดเงินเดือน เมื่อมติ ครม.อนุมัติเดือนพฤษภาคมจ่ายเงินประกันสังคม 62% จึงช่วยแก้ไขปัญหาไปได้ส่วนหนึ่ง แต่รายได้เป็นศูนย์ การแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งค่าไฟฟ้า พนักงาน 68 คน เป็นเรื่องที่ต้องขบคิด

รีโนเวตโรงแรมรับอนาคต

ปกติเกาะกูดช่วงฤดูฝนเดือนพฤษภาคม-กันยายน มีนักท่องเที่ยวมาน้อยมาก โรงแรมส่วนใหญ่ปิด ส่วนเกาะกูดพาราไดซ์บีช รีสอร์ท เปิดตลอดทั้งปี มีลูกค้า 5-10 ห้อง ช่วงวิกฤตโควิด-19 นักท่องเที่ยวมาน้อย อีก 2 เดือนจะเข้าช่วงโลว์ซีซั่น วางแผนจะรีโนเวตโรงแรม เป็นงานเอาต์ดอร์ที่แพลนไว้ ส่วนซ่อมงานภายในทยอยทำภายหลัง การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงทุกอย่างจะประชุมพูดคุยกับพนักงานทุกคนให้เข้าใจ รับรู้ว่าต้องทำอะไร อะไรที่เลือกได้จะให้พนักงานเลือก การลดเงินเดือนพนักงาน หรืออนุญาตให้พนักงานไปรับจ้างทำงานที่อื่นก่อน แผนการรัดเข็มขัด มาตรการประหยัดทุก ๆ ทางต้องร่วมมือกัน ที่ทำได้ถึง 30% พนักงานตอนนั้นเหลือ 28 คน จากทั้งหมด 69 คนต้องช่วยกันรับภาระหน้าที่เพิ่มขึ้นเพราะคนน้อยลง แต่เราลดชั่วโมงการทำงานและให้ทำงานตามสบายมากขึ้น

“ช่วงวิกฤตโควิด-19 ลูกค้าต่างประเทศพักอยู่ 2 ห้องที่ต้องดูแลเกือบ 2 เดือน กับการที่มีพนักงานที่ลดลงเกือบครึ่ง ต้องปรับการให้บริการและทำความเข้าใจและให้ความอุ่นใจกับลูกค้า ช่วงนั้นเครียดมากใช้เวลาอยู่ที่เกาะกูดยาวนานที่สุดในชีวิต 1 เดือน ปกติช่วงละไม่เกิน 15 วัน การตัดสินใจรีโนเวตสระว่ายน้ำก่อน เพราะคิดว่าถ้าช่วงฤดูฝนนักท่องเที่ยวลงทะเลไม่ได้จะมีสระน้ำบริการ เมื่อคุยกับพนักงาน ๆ โอเค MD ของโรงแรมเป็นชาวต่างประเทศเข้ามาช่วยบริหารจัดการใช้พนักงานของโรงแรมทั้งหมดเป็นความประทับใจกับน้ำใจของพนักงานมาก ๆ สิ่งที่ได้คือในความโชคร้ายมีโชคดี ท่ามกลางวิกฤตมีโอกาสเสมอ ถ้าพยายามเรามองให้เห็น”

ซอฟต์โลนต่อลมหายใจ

ช่วงแรกที่เกิดวิกฤตโควิดรัฐบาลไม่เข้าใจว่าผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวจะเดือดร้อนมาก โดยเฉพาะโรงแรม รีสอร์ตมีผลกระทบเป็นลูกโซ่เชื่อมโยงไปทุกสาขาอาชีพ ทุกระดับ ซึ่งสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จ.ตราด และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวอื่น ๆ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ เพื่อประคับประคองให้โรงแรมอยู่ได้ จากภาระหนักต้องมีเงินสดสำรองมาใช้จ่ายสมาคมโรงแรมและรีสอร์ต จ.ตราด ประเมินว่าส่วนใหญ่โรงแรมมี cash flow ไม่เกิน 2 เดือน โชคดีที่มติ ครม. ให้จ่ายเงินประกันสังคมได้ด้วยเหตุสุดวิสัย และมีมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ตามมา เงินกู้ซอฟต์โลนดอกเบี้ย 2% ระยะเวลา 2 ปี ช่วยให้ผู้ประกอบการมีทุนสำรองไปใช้ในภาวะที่จำเป็น สามารถประคับประคองกิจการไปได้และกลับมาฟื้นฟูได้หลังวิกฤตนี้ผ่านไป แต่การเข้าถึงซอฟต์โลนยังมีช่องว่างที่ผู้ประกอบการขนาดย่อมที่เดือดร้อนจริง ๆ ไม่สามารถยื่นขอสินเชื่อได้ด้วยข้อจำกัด หลักเกณฑ์ เงื่อนไขของธนาคาร

คาดตลาดฟื้นตัวไม่ต่ำกว่า 2 ปี

ช่วงที่จะเปิดโรงแรมรับนักท่องเที่ยวมีแต่ความลังเลใจ เพราะไม่มีคำตอบจากจังหวัดตราดว่าจะปลดล็อกเมื่อไหร่ ในเมื่อโรงแรมต้องมีแผนการดำเนินงาน ต้องเรียกพนักงานกลับมา ต้องมีการกักตัว 14 วัน เพื่อความมั่นใจกับนักท่องเที่ยวและกลุ่มพนักงานด้วยกัน โรงแรมบางแห่งจะปิดยาวไปเปิดช่วงไฮเดือนตุลาคม เพราะเห็นว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เป็นลูกค้าหลักยังเข้ามาไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่ 80% เปิดต้นเดือนกรกฎาคม เกาะกูดพาราไดซ์บีช รีสอร์ท ตัดสินใจเปิด 26 มิถุนายน เพราะคิดว่าเป็น pre-COVID ทดลองเตรียมความพร้อมก่อน แต่ด้วยกระแสคนไทยที่ต้องการออกมาเที่ยว เป็นช่วงการปิดเทอม มีโวเชอร์ของโรงแรม ลดราคาห้องพัก 30-35% ทำให้นักท่องเที่ยวเต็มทุกห้องพนักงานทุกคนดีใจมาก

ช่วงจังหวะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สนง.ตราด ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ช่วงล็อกดาวน์จังหวัด ช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรม จัดทำ “แพ็กเกจซื้อ 1 แถม 1” มีโรงแรมเข้าร่วม 50 แห่งพร้อมสนับสนุนค่าน้ำมัน 500 บาท เปิดจองห้องพัก 1 ก.ค.-15 ก.ย. และใช้สิทธิ์เข้าพักภายในธันวาคมนี้ รวมทั้งจัดอบรมมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยเพื่อนักท่องเที่ยว หรือ Amazing Thailand Safety & Health Administration (SHA) สร้างความมั่นใจและดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวมาใช้บริการ ถือว่าประสบความสำเร็จมาก ตอนนี้โรงแรมน่าจะขายกันหมดแล้ว เกาะกูดพาราไดซ์บีช รีสอร์ท ลดราคาห้อง 30-35% ช่วยให้ผู้ประกอบการมีกระแสเงินสดไปใช้หมุนเวียน ส่วนแพ็กเกจ “เราเที่ยวด้วยกัน” ของรัฐบาลออกมาค่อนข้างช้า โรงแรมต้องพยายามประคองตัวเองให้ได้กว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวจะกลับมาปกติน่าจะไม่ต่ำกว่า 2 ปี และไม่แน่ใจว่าจะกลับมาเหมือนเดิม 100% หรือไม่

พุ่งเป้าเที่ยว New Normal

ตราดเป็นจังหวัดสีขาวไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทันทีที่ปลดล็อกนักท่องเที่ยวไทยแห่มาเที่ยวเกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก ในช่วงวันหยุดเต็ม 100% ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่เป็นช่วงปิดเทอม และเต็มยาวถึงเดือนกรกฎาคมที่มีวันหยุดยาว แต่เดือนกันยายนไม่มีวันหยุดยาวยังน่าเป็นห่วง ส่วนตลาดต่างประเทศต้องรอให้เปิดน่านฟ้าก่อน แต่ยังไม่มีความแน่นอน ตอนนี้มีบุ๊กกิ้งลูกค้าต่างประเทศเข้ามาแล้วช่วงปลายปี ยอมรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศกำลังซื้อสูงกว่าคนไทย แต่ตอนนี้ตลาดไทยเที่ยวไทยเป็นเป้าหมายหลัก

หลังโควิด-19 กระแสการท่องเที่ยว “new normal” พฤติกรรมนักท่องเที่ยวไทยและรูปแบบเปลี่ยนไป กลุ่มครอบครัวเริ่มมามากขึ้น กลุ่มเพื่อนวัยทำงานจะรวมกันเดินทางมามาเองเป็นกลุ่มเล็ก ๆ การติดต่อจองห้องพักเดิมผ่านจากเอเย่นต์ออนไลน์ (OTAs) เปลี่ยนมาเป็น direct กับโรงแรมเอง เพราะต้องการซักถาม พูดคุยให้มีความรู้สึกมั่นใจ เรื่องมาตรฐานสุขอนามัย